
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระมหานคร
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ไปทรงศึกษาวิทยาความรู้ ณ ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุ ๙ ชันษา
สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประทับที่พระราชวังสราญรมย์
และต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
(วังปารุสกวันในปัจจุบัน)
ในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช เจ้านาย
ข้าราชการ ได้นำโอรสและบุตรหลานที่ยังเยาว์
มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี
ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้และทรง เรียกเด็กเหล่านั้นว่าพวก
“หม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการ”
ทรงรับเป็นพระราชธุระอบรมมหาดเล็กข้าในกรมเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง
มหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงไว้ อาทิเช่น ม.จ. ชัชวลิต เกษมสันต์ ม.ล.
เฟื้อ (เจ้าพระยารามราฆพ) ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ(พระยาอนิรุศเทวา) นายเชย มัฆวิบูลย์
(พระยาสุนทรพิพิธ) นายโถ สุจริตกุล(พระยาอุดมราชภักดี) เป็นต้น
วันหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โปรดให้บุตรข้าราชการคนหนึ่ง
ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนวัดมหาธาตุอ่านหนังสือถวายให้ทรงสดับ
นักเรียนผู้นั้นอ่านไม่ออก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในพระราชวังสราญรมย์ ให้พระยาสุรินทรราชา (นกยูง
วิเศษกุล) ราชเลขานุการในพระองค์เป็นอาจารย์ใหญ่
ให้เด็กในพระราชอุปการะวิชาที่สอนมีทั้งวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ
และวิชาพิเศษเช่น กฎหมาย การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์สากล
นอกจากเรียนหนังสือแล้วยังโปรดให้นักเรียนหัดแถวทหาร จำลองการซ้อมรบ
และหัดการเล่นโขน ทรงสอนด้วยพระองค์เองในบางครั้ง
โรงเรียนในพระราชวังดำเนินตลอดมาตราบจนได้เสด็จเสวยสิริราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖
แห่งพระราชวงศ์จักรี ทรงตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจอันดับแรกที่สมเด็จพระมหากษัตริย์ทรงกระทำ
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓
ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไปเพียงเดือนเศษ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
อธิบดีกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๙
เพื่อรับกระแสพระราชดำริและเรียนพระราชปฏิบัติเรื่อง
การวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติในชั้นต้นได้โปรดให้ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริพระราชทานแก่มหาดเล็กข้าหลวงเดิม
ในโรงเรียนที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ให้จัดตั้งขึ้นใหม่แทนโรงเรียนในพระราชวังสราญรมย์
เพื่อจะได้แนวทางสำหรับจะทรงมีพระราชวินิจฉัยเรื่องการจัดการศึกษาของชาติต่อไป
ด้วยมีพระราชดำริว่า
“ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ที่จะเป็น
ปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริง
ก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเปนรากเหง้าเค้ามูลจึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น”
ภายหลังจากได้เฝ้าฯ แล้ววันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ร.ศ.
๑๒๙ พระยาไพศาลศิลปสาตร์
จึงได้ดำเนินการจัดการตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมขึ้นตามพระบรมราชโองการ
โดยใช้ตึกโรงเรียนราชกุมารเก่า ในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้งโรงเรียนชั่วคราว
เพื่อให้ทันวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙
ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งแรกในรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง”
ทรงรับโรงเรียนให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์
มีสถานะเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ฝากการบังคับบัญชาไว้กับสภาจางวางมหาดเล็ก
ซึ่งมีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการทั้งปวงในกรมมหาดเล็กต่างพระเนตรพระกรรณ
ส่วนวิธีการตลอดจนแนวทางในการฝึกอบรมนักเรียนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กรรมการจัดการโรงเรียนรับพระราชดำริมาปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในโรงเรียนนี้ทั้งสิ้น
พระยาไพศาสศิลปสาตร์
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทำการเปิดการสอนการเรียนเป็นวันแรกขึ้นวันพฤหัสบดีที่
๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่ตึกเรียนโรงเรียนราชกุมาร มีพระรัตนวราจารย์
เป็นผู้ปกครอง และย้ายครูประกาศนียบัตรของกระทรวงธรรมการ ๓
คนมาสังกัดกรมมหาดเล็ก และให้เป็นครูสอนหนังสือคือ
๑. นายสอน ศรเกตุ
๒. นายสนั่น สิงหแพทย์
๓. นายทองอยู่
และได้ย้ายมหาดเล็กข้าหลวงเดิมซึ่งเรียนอยู่ในโรงเรียนพระราชวังสราญรมย์
จำนวน ๓๖ คน พร้อมกับได้เปิดรับสมัครนักเรียนใหม่การดำเนินงานของโรงเรียน
สภาจางวางกรมมหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแล
ต้องถวายรายงานการดำเนินการของโรงเรียนเป็นประจำทุกเดือนอย่างละเอียด เช่น
จำนวนครู นักเรียน ความประพฤตินักเรียน กิจกรรม และการใช้จ่ายเงิน
เพื่อให้ทรงทราบความเป็นไป
และเพื่อจะได้มีพระราชกระแสในการดำเนินงานให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน
๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนนอนของโรงเรียน โดยได้นำไปฝากไว้กับ แบงก์สยามกัมมาจล
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
นอกจากจะเป็นสถานที่ทรงทดลองการจัดการศึกษาแก่ชาติ
ในลักษณะเดียวกันกับการทรงตั้งดุสิตธานีสำหรับทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว
ยังเป็นพระราชดำริอย่างใหม่ในการสร้างโรงเรียนแทนวัด
ด้วยทรงเล็งเห็นว่าหากทรงสถาปนา “พระอาราม” ขึ้นใหม่นั้น
จะเกินความจำเป็นในส่วนทางบำรุงพระพุทธศาสนา
สิ่งที่จำเป็นในขณะนั้นคือการให้การศึกษาแก่ราษฎร
อันจะนำพาความเจริญมาสู่ชาติในอนาคต
โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงเป็นสถานที่ที่ทรงทดลองการพระราชดำริต่างๆ
ด้านการศึกษา เช่นเมื่อมีพระราชดำริตั้งกิจการลูกเสือ
หรือทรงกำหนดครุยวิทยฐานะขึ้น
ก็โปรดให้ใช้กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นแห่งแรก

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์
ตั้งแต่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
และทรงเพียรพยายามมาตลอดรัชกาลก็คือการให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชาติ
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น
นับเป็นครั้งแรกในประวัติการศึกษาไทยที่ได้มีกฎหมายค้ำประกันความมั่นคงในการจัดการศึกษาในระดับนี้มี
สาระสำคัญคือบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปี
บริบูรณ์เรียนหนังสือในโรงเรียนจนกระทั่งอายุ ๑๔ ปีบริบูรณ์
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตตลอดระยะเวลา
๑๕ ปี โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ผลิตบุคลากรที่เป็นประโยชน์แก่ชาติ
สมดังพระราชปณิธานขององค์พระผู้พระราชทานกำเนิดมากมายหลายท่าน
รวมแล้วมีนักเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งสิ้น ๕๕๒ คน
นักเรียนเลขประจำตัวสุดท้ายได้แก่ นายชิ้นพร สิงหเสนี
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
และทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภ์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
แต่ด้วยภายหลังภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยฝืดเคือง
รัฐบาลจึงต้องพยายามลดงบประมาณประเภทรายจ่ายลง
รวมทั้งพระราชทรัพย์รายปีที่ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถูกตัดทอนลงด้วยสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ดำเนินกิจการโรงเรียนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นส่วนใหญ่เมื่อต้องตัดทอนรายจ่ายของส่วนพระองค์และของรัฐบาล
จึงได้มีการพิจารณาถึงการดำเนินการของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงด้วยในชั้นต้น
มีพระบรมราชโองการให้โอนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย
ไปสังกัดอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ
และกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ได้กราบบังคมทูลให้รวมโรงเรียนทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยให้รัฐบาลอุดหนุน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ
ดำริโครงการสำหรับที่จะจัดการศึกษาให้โอนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และราชวิทยาลัยมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยให้มีทุนของโรงเรียนเอง และมีกรรมการเป็นผู้จัดการโรงเรียน
และพระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า วชิราวุธวิทยาลัย
ตามประกาศวางรูปการและพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน
พ.ศ. ๒๔๖๙
|