โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๕. พระบรมราชานุสาวรีย์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เริ่มมาจากการที่คณะนักเรียนเก่ามหาตเล็กหลวงและอดีตข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนามคณะละครไทยเขษมได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้พร้อมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง "ชิงนาง" และ "ปล่อยแก่" ณ โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เพื่อจัดหารายได้สมทบการก่อสร้างหอนาฬิกาโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นประเดิม

 

          เมื่อการก่อสร้างหอนาฬิกาแล้วเสร็จ คณะผู้จงรักภักดีก็ได้ดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ที่เนินหอนาฬิกาภายในวชิราวุธวิทยาลัย จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน ๑,๐๐๐ บาท

 

          แต่ในระหว่างที่สภากรรมกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยกำลังจัดการเรี่ยไรเงินเพื่อจัสร้างพระบรมราชานุสวารีย์นั้น คณะรัฐมนตรีในสมัยที่นายพันเอก หลวงพิบูลวงคราม (แปลก ขีตะสังคะ - จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า การที่จะประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ในวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ปิด ย่อมจะไม่สะดวกแก่พสกนิกรผู้จงรักภักดีที่จะถวายราชสักการะ อีกทั้งคณะรัฐมนตรียังพิจารณาเห็นว่า

 

          "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากที่ได้ทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกิจปกติเยี่ยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมในกาลก่อนแล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถ และทรงเห็นการณ์ไกลในการบริหารราชการแผ่นดินให้ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกประเทศสำเร็จไปด้วยดียิ่ง ซึ่งไม่มีบุคคลใดในสมัยนั้นดีทัดเทียมพระองค์ท่าน นับว่าทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งประเทศไทย แม้จะกล่าวเพียงพระราชกิจบางตอนที่ได้ทรงปฏิบัตินับเนื่องในรัฏฐประศาสโนบายครั้งกระนั้น ที่อำนวยผลตามหลังมาจนกระทั่งทุกวันนี้ก็มีอยู่มากด้วยกัน อาทิ เช่นการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พระราชบัญญัติขนานนามสกุล ตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตั้งกองลูกเสือ เปิดหอสมุดแห่งชาติ ตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแทนการสร้างวัดตามขัตติยราชประเพณี เปิดจุฬาลงกรณพยาบาล เปิดสถานเสาวภา การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมกาชาดระหว่างประเทศของสภากาชาดไทย เปิดการประปา เปิดการไฟฟ้าหลวงสามเสน เปิดอากาศไปรษณีย์ เปิดวิทยุโทรเลขและโทรศัพท์ กำหนดเวลาให้ตรงกับสากลอุทกศาสตร์นิยม ตั้งคลังออมสิน อุดหนุนการธนาคารไทย เชื่อมทางรถไฟสายใต้กับสหรัฐมะลายู สร้างสะพานพระราม ๖ เพื่อเชื่อมและโยงทางรถไฟสายใต้กับสถานีกรุงเทพฯ เปิดเขื่อนและการทดน้ำตำบลท่าหลวง เริ่มการสหกรณ์และการสถิติพยากรณ์

 

          ในส่วนที่เกี่ยวกับพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกลนั้นเล่า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจเหมาะสมความต้องการของสมัย ยังให้ประเทศไทยดำรงความเป็นปกติสุข และอิสสรภาพตามควรแก่ฐานะในสมัยนั้น อาทิ เช่นในการประกาศความเป็นกลางของประเทศไทยในสถานะมหาสงครามแห่งโลก และในที่สุดได้ทรงนำประเทศเข้ามหาสงคราม ซึ่งทั้งนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาอันล้าสมัยกับนานาประเทศ และได้มาซึ่งอิสสรภาพยิ่งกว่าสนธิสัญญาในสมัยก่อนๆ เป็นบางส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำต่อเนื่องจากสนธิสัญญาในสมัยนั้นก็ได้เริ่มกระทำในชั้นต้นมาตั้งแต่ปลายรัชชสมัยของพระองค์ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ นับตั้งแต่การสุดสิ้นมหาสงครามตั้งแต่รัชชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา อนึ่ง เพื่อความไม่ประมาท ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งใช้บังคับอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประวัตินับเนื่องในการประกาศเกียรติ์ของประเทศไทยให้แพร่หลายในนานาประเทศเป็นอันมาก อาทิ เช่นในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกสมโภช ซึ่งเป็นการออกงานครั้งใหญ่ของชาติ และครั้งแรกในทวีปอาเซีย ที่มีเจ้านายและผู้แทนรัฐบาลนานาชาติ ได้เข้ามาร่วมมหาสันนิบาต พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประเทศไทย และในทวีปอาเซียที่ได้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษของทหารบกอังกฤษ และในรัชชสมัยแห่งพระองค์ท่านก็เป็นครั้งแรกที่ได้มีนักบินต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมประเทศไทย และแสดงความพอใจในความเจริญก้าวหน้าของการบินไทย มีแขกเมืองต่างประเทศผู้มีเกียรติ์เข้ามาเชื่อมทางสัมพันธไมตรี มีการประชุมสันนิบาตกาชาดระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงเทพพระมหานคร และพระองค์ท่านเอง ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟสายใต้ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหรัฐมะลายู

 

          แต่พระราชกรณียกิจที่เป็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และที่จะเป็นอนุสสาวรีย์ถาวรเชิดชูพระเกียรติคุณพระองค์ท่านก็คือ การปลุกชาติ เพื่อให้คนไทยตื่นตัวในความรักชาติ และบำเพ็ญกรณียกิจ อันพึงมีพึงกระทำต่อชาติ ซึ่งในการนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือร้อยแก้ว คำประพันธ์ และบทละคร ทั้งในภาษาไทยและภาษาต่าง ประเทศ ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางปลุกชาติเป็นส่วนใหญ่ พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านเป็นแบบฉบับในทางอักษรศาสตร์ และเป็นที่นิยมแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้"  []

 

          แต่เนื่องจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า หากจะประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ณ วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ปิด พสกนิกรผู้จงรักภักดีก็จะขาดโอกาสที่จะได้กราบถวายบังคม ประกอบกับในเวลานั้น

 

          "เทศบาลนครกรุงเทพกำลังจะบูรณะสวนลุมพินี ซึ่งได้สร้างขึ้นในการฉลองรัชชกาลของพระองค์ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนคร ซึ่งถ้าได้พระบรมรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ที่สวนลุมพินีในขณะนี้แล้ว ก็ย่อมเหมาะแก่กาลเทศะอย่างยิ่ง โดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติให้ดำเนินการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม"

 

          จากนั้นรัฐบาลได้รับโอนโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของคณะผู้จงรักภักดีไปดำเนินการต่อ โดยมอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นหล่อพระบรมรูปทรงเครื่องเต็มยศจอมพล จอมทัพบกสยาม ประดิษฐานไว้ที่พระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินี

 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อแรกประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี

 

 

          แต่เมื่ออัญเชิญพระบรมรูปขนาด ๒ เท่าครึ่งพระองค์ขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานพระบรมราชานุสรณ์ที่สวนลุมพินีแล้ว จึงได้ตระหนักกันว่า แท่นฐานพระบรมราชานุสรณ์นั้นมีขนาดไม่เหมาะสมกับพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่ดูไม่สมพระเกียรติยศ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรเสริมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ให้สูงขึ้น เพื่อให้พระบรมรูปที่ประดิษฐานเหนือแท่นฐานนั้นดูสง่างาม
เนื่องจากการสร้างเสริมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นจำต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากที่ได้เรี่ยไรไว้เดิม คณะนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยนำโดยนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หลวงเมธีนฤปกร (สดวก บุนนาค) จึงได้คิดจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นตามแบบอย่างงานฤดูหนาวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อเสริมท่านฐานที่ประดิษฐานพระบรมรูปแล้ว

 

 

          เมื่อจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย โดยมีหลวงเมธีนฤปกร เป็นนายกสมาคมตนแรกแล้ว สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้จัดให้มีงานวชิราวุธานุสรณ์ที่สวนลุมพินีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยรายได้จากการตรั้งนั้นได้ใช้เป็นทุนในการสร้างเสริมแท่นฐานประดิษฐานพระบรมรูปจนแล้วเสร็จ

 

          ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลมีคำสั่งให้ยุบเลิกสมาคมบรรดาที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านั้นเสียทั้งสิ้น สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจึงถูกยุบเลิกไปในคราวนั้นด้วย จน พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พลเอก ประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกสมาคมฯ
เมื่อจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นพร้อมกับการรื้อฟื้นการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว คณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ ณ วชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง

 

          ครั้นคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้ทราบเจตนารมณ์ของคณะนักเรียนเก่าฯ แล้ว ได้มีมติให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธ เมื่อคราวทรงนำสยามประเทศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย - ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งผลของการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งนั้นทำให้ประเทศสยามได้รับอิสรภาพทางการศาลและการเรียกเก็บภาษีที่ถูกผูกมัดด้วยสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลาหลายสิบปีได้สำเร็จ โดยได้กำหนดให้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สนามหญ้าหน้าหอประชุม
ในการปั้นหล่อพระบรมรูปคราวนี้ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนิก สมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประติมากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพทยลาภพฤฒิยากร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเททองหล่อพระบรมรูปขนาดเท่าพระองค์ ที่มณฑลพิธีพระราชอุทยานสราญรมย์ ในคราวเสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดงานวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสมาคมฯ ก็ได้มอบหมายให้นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย เจือรวรี ชมเสวี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแท่นฐานประดิษฐานพระบรมรูปที่หน้าหอประชุม

 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อแรกประดิษฐานที่หน้าหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีประดิษฐานพระบรมรูป ณ พระบรมราชานุรณ์หน้าหอประชุมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าหอประชุมในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

 

 

 


[ ]  "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สร้างพระบรมรูปเป็นอนุสสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว", ราชกิจจานุเบกษา ๕๖ (๑๕ มกราคม ๒๔๘๒), หน้า ๒๘๙๘ - ๒๙๐๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |