ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเรื่องที่ทรงขัดแย้งกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติไว้ในตอนที่ว่าด้วย
ฉันต้องเข้าเนื้อ ว่า
เมื่อเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขอให้
แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเปนคยละแพนก,
เพราะพอหลุดปากยอมไปเช่นนั้นแล้วอะไรๆ
กระทรวงพระคลังก็คอยแต่ปัดเอามาเปน ส่วนพระองค์
เสียแทบทั้งนั้น,
เว้นแต่ถ้าอะไรเปนของที่คลังต้องการ,
เช่นที่ดินและตึกเรือนโรงเปนต้น,
คลังก็เอาเสียเฉยๆ
โดยไม่ยอมคิดค่าป่วยการให้แก่ฉันเลยจนนิดเดียว
หรือจนชั้นจะขอบใจก็ไม่มี. [๑]
 |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๕
- ๒๔๕๘
เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร พ.ศ. ๒๔๖๖
- ๒๔๖๘
|
ในเรื่องการแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากการใช้จ่ายเงินแผ่นดินนั้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องสร้างตลาดสำหรับเมืองว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จ้างผู้เชี่ยวชาญการคลังชาวอังกฤษชื่อ มิตเชล
อินเนส (Mitchel Innest)
เข้ามาเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
มิสเตอร์มิตเชลอินเนสมาถึงเมืองไทยแล้ว
ได้ศึกษาระเบียบการคลังของชาติ
และได้เขียนบันทึกความเห็นถวายพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่า
ลักษณะ การเงิน
ของเมืองไทยอย่างเช่นเป็นอยู่ในเวลานั้น
ถ้าว่าตามคติโบราณก็นับว่าดีอยู่
เพราะพิกัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรก็ไม่เรี่ยวแรงถึงเดือดร้อน
ได้เงินแผ่นดินมาเท่าใดก็ใช้จ่ายในวงเงินที่มี
ต่อเงินเหลือจ่ายจึงจะทำการจรทำนุบำรุงบ้านเมือง
เมืองไทยจึงไม่มีหนี้สินอยู่เมืองเดียวเท่านั้นในบรรดาประเทศที่มีวัฒนธรรม
แต่วิธีการเงินเช่นที่เมืองไทยใช้อยู่นี้
จะบำรุงบ้านเมืองให้เจริญเร็วทันเวลาเหมือนอย่างประเทศอื่นไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่นการสร้างทางรถไฟ
ถ้าใช้เงินเหลือจ่ายทำทางรถไฟต่อออกปีละน้อยๆ
เช่นทำอยู่
การสร้างทางรถไฟในเมืองไทยแม้เพียงสายแรกที่ได้กะไว้ว่าจะทำแต่กรุงเทพฯ
ไปเมืองนครราชสีมากว่าจะสำเร็จก็ช้านานหลายสิบปี
ประโยชน์ต่างๆ
ที่จะได้จากรถไฟให้บ้านเมืองมีความเจริญก็เกิดช้าไปด้วยกันหมด
ถ้าทำรถไฟให้สำเร็จเร็วขึ้น
บ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรืองเร็วขึ้นตามกัน
แต่เช่นนั้นจำจะต้องใช้วิธีกู้เงินมหาชน
(Public Loan)
ตามอย่างประเทศอื่นมาเป็นทุนทำรถไฟ
การสร้างสิ่งอื่นซึ่งจะได้ดอกผลพอใช้ดอกเบี้ยและต้นเงินไม่ขาดทุน
ก็ควรใช้วิธีกู้เงินทำทุนอย่างเดียวกัน
ขอให้รัฐบาลพิจารณาดูว่า
ใช้วิธีเดิมรักษาชื่อเมืองไทยว่าไม่มีหนี้สินต่อไปดี
หรือจะยอมเป็นหนี้กู้เงินมหาชนมาทำการบำรุงบ้านเมืองให้เจริญเร็วทันตาโลกไหนจะดีกว่ากัน
กรมหมื่นมหิศรฯ [๒]
นำบันทึกนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี
เห็นพร้อมกันว่าถ้ากู้เงินมาทำการที่เกิดดอกผลก็ไม่ควรรังเกียจ
แต่การที่ไม่เกิดดอกผล
เช่นซื้อเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นต้นมิให้กู้เงินมาใช้ [๓] |
ครั้นที่ประชุมเสนาบดีตกลงพร้อมกันให้กู้เงินจากตลาดเงินในต่างประเทศมาใช้ในการขยายเส้นทางรถไฟแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติออกประกาศโฆษณางบประมาณแผ่นดินแก่มหาชนเช่นในนานาประเทศ
แต่ในส่วนที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดินมาแต่เดิมว่า
พระเจ้าแผ่นดินอาจจะเอาเงินแผ่นดินไปใช้ใน
(พระคลังข้างที่) สำหรับพระองค์เองได้ร้อยละ ๑๕
ของรายได้ [๔]
นั้น มีพระราชดำริว่า
เงินแผ่นดินที่แบ่งให้พระเจ้าแผ่นดินใช้สอยส่วนพระองค์
ต้องมีจำกัดจำนวนบอกไว้ให้ปรากฏในงบประมาณ
จะว่าแต่เท่านั้นๆ เปอร์เซ็นต์หาควรไม่
ให้กระทรวงพระคลังแก้ไปให้ตรงตามแบบฝรั่งด้วย
ส่วนจำนวนเงินที่จะถวายให้ทรงใช้สอยปีละเท่าใด
ก็ให้กระทรวงพระคลังพิจารณาดูตามเห็นสมควร
ถวายเท่าใดก็จะยอมรับเท่านั้นโดยไม่รังเกียจ
สุดแต่ให้สำเร็จประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นประมาณ [๕]
ที่ประชุมเสนาบดีจึงได้พิจารณา
กำหนดเงินพระคลังข้างที่สำหรับทรงใช้สอยเป็นส่วนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวปีละ
๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท
[๖]
แต่เมื่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดเงินจำนวนดังกล่าวถวายมาได้เพียงสองหรือสามปี
ก็มีพระราชปรารภด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า
ทรงอัตคัดด้วยเงินพระคลังข้างที่ไม่พอจะใช้
ครั้นจะปรับทุกข์กับกระทรวงพระคลังก็ได้ลั่นพระโอษฐ์แล้วว่าจะยอมรับเพียงปีละหกล้าน
จะเป็นพูดไม่แน่นอน
ตรัสปรึกษาฉันว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะได้เงินพอใช้
[๗]
 |
พระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม
วสุธาร)
อธิบดีกรมพระคลังข้างที่
|
พระเจ้าน้องยาเธอฯ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีรับสั่งให้หาพระยาศุภกรณ์บรรณสาร
(นุ่ม วสุธาร) รองอธิบดีกรมพระคลังข้างที่
[๘] มาชี้แจงให้ทรงทราบความโดยตลอดว่า
ในงบประมาณเดิมที่กำหนดเงินพระคลังข้างที่ว่า
๑๕ เปอร์เซนต์ของรายได้เงินแผ่นดินนั้น
ไม่ได้รับจริงอย่างนั้น
เป็นแต่เอาจำนวนเงินตามบัญชีที่ปรากฏว่าใช้สอยในราชสำนักปีละเท่าใดคิดถัวกันตั้งเป็นเกณฑ์
กำหนดเป็นอัตราจ่ายเงินพระคลังข้างที่ปีละเท่านั้น
แต่ปีใดเงินไม่พอใช้ก็เรียกเพิ่มเติมได้ไม่มีจำกัด
ก็แต่เงินพระคลังข้างที่นั้นมิใช่แต่สำหรับพระองค์พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอย
ยังต้องเอาไปใช้ในการอื่นอีกหลายอย่าง
เป็นต้นว่าเงินงวดประจำปีที่พระราชทานเจ้านายเช่นตัวฉัน
และเบี้ยหวัดเงินเดือนราชบริพารฝ่ายใน
ตลอดจนรับแขกเมืองก็ใช้เงินพระคลังข้างที่...
ครั้นทำงบประมาณแบบใหม่จำกัดกำหนดเงินพระคลังข้างที่ปีละหกล้านบาท
ถ้าดูแต่ยอดจำนวนเงินก็เห็นมากกว่าที่กระทรวงพระคลังเคยจ่ายประจำปีมาแต่ก่อน
แต่ที่จริง
พระเจ้าอยู่หัวได้เงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าเช่นเคยมาแต่ก่อน
เพราะกระทรวงพระคลังตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งกระทรวงพระคลังเคยจ่ายในบรรดาการซึ่งเนื่องกับราชสำนัก
เช่นเงินเดือนข้าราชการ
ค่าใช้สอยในการเสด็จประพาส
การก่อสร้างซ่อมแซมรักษาพระราชวังต่างๆ
แม้ที่สุดจนการเลี้ยงช้างเผือก
รวมทุกอย่างมาให้พระคลังข้างที่จ่ายในเงินหกล้านนั้น
ผลของงบประมาณใหม่จึงกลายเป็นลดเงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าแต่ก่อน
เพราะถูกพ่วงรายจ่ายเพิ่มเข้ามาก [๙] |
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงตอบรับที่จะแยกการใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากการแผ่นดินตามคำกราบบังคมทมูลชองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว
ราชการในพระองค์จึงแยกขาดจากราชการแผ่นดิน
เช่นเดียวกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นส่วนราชการในพระราชสำนัก
บรรดาอาจารย์และครูแม้จะโอนมาจากกระทรวงธรรมการ
เมื่อมารับราชการประจำในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็โปรดเกล้าฯ
ให้โอนย้ายจากข้าราชการกระทรวงธรรมการมาเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก
รับพระราชทานเงินเดือนจากพระราชทรัพย์ทางกรมมหาดเล็ก
ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาโรงเรียนพรานหลวงขึ้นในกรมมหรสพเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๕๗ และโปรดเกล้าฯ
ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
รวมทั้งโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งใน
พ.ศ. ๒๔๕๙ ก็โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ ครู
และข้าราชการในโรงเรียนทั้งสามนี้เป็นข้าราชการในพระราชสำนักสังกัดกรมมหาดเล็กเช่นเดียวกับอาจารย์
ครู และข้าราชการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และโรงเรียนพรานหลวงจึงมีฐานะเป็นส่วนราชการสังกัดกรมมหาดเล็ก
แต่เพราะกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขอให้ทรงแยกราชการในพระองค์ออกจากราชการแผ่นดิน
ราชการในพระองค์ในเวลานั้นจึงมีสถานะเหมือนเป็นเอกชนรายหนึ่ง
ฉะนั้นเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจากนายพลเอก
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (จอมพล
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการมณฑลพายัพพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
(สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า
โรงเรียนของอเมริกันมิชชันนารีที่เปิดสอนในมณฑลพายัพนั้น
ไม่มีการสอนหนังสือไทยในโรงเรียนคงจัดสอนวิชาต่างๆ
ด้วยอักษรพื้นเมืองและภาษาอังกฤษเป็นพื้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ส่งรายงานการตรวจรายงานนั้นไปให้กระทรวงธรรมการพิจารณา
แล้วต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑
ให้กระทรวงธรรมการมีอำนาจตรวจตราและควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนราษฎร์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาจักร
 |
เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ
พึ่งบุญ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
กับอาจารย์ ครู
และข้าราชการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
|
(จากซ้าย) |
๑. มร.ซี เอ. เอส.
สิเวล อาจารย์ชาวต่างประเทศ
๓. พระยาบรมบาทบำรุง
(พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
๔. พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)
เจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
๕.
เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ)
ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
๖.
พระยาไชยนันทน์นิพัทธพงษ์ (เชย ไชยนันทน์)
อาจารย์วิชามหาดเล็ก
๙. หม่อมพยอม
ในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ
แม่บ้านคณะเด็กเล็ก |
|
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว
ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้โรงเรียนราษฎร์ที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ในเวลานั้นยื่นความจำนงที่จะดำรงโรงเรียนราษฎร์ต่อไป
ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ
ให้จางวางเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ
พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ)
ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ยื่นคำขอดำรงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนพรานหลวง
เป็นโรงเรียนราษฎรณ์สังกัดมณฑลกรุงเทพฯ
และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นโรงเรียนราษฎร์ในมณฑลพายัพ