บทความปัจจุบัน
|
บทความย้อนหลัง
:
ตอนที่
๑ - ๒๐ |
๒๑ - ๔๐
|
๔๑ - ๖๐
|
๖๑ -
๘๐
|
๘๑ -
๑๐๐
|
๑๐๑ -
๑๒๐
| ๑๒๑
-
๑๔๐
| |
|
๑๔๑ -
๑๕๙
| |
|
ก่อนหน้า |
๒๑ |
๒๒
| ๒๓
| ๒๔
| ๒๕
| ๒๖
| ๒๗
| ๒๘
| ๒๙
| ๓๐
| ถัดไป | |
|
๒๒. ประเพณีและพิธีไหว้ครู (๓) |
|
 |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฉลองพระองค์แฟนซี เป็น พระรามผนวช
คือนุ่งห่มอย่างฤษี แต่มีใส่เกราะเงิน
และถือธนู
ในการเลี้ยงแต่ง แฟนซี
ที่พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน)
ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา
วันเสาร์ที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ |
|
|
|
และบัดนั้นเองเสียงมาจากเจ้าคุณครูว่า
"ช้า ช้า มหาบพิตร ทรงหยุดไว้ก่อน"
ทุกคนพากันถอนหายใจด้วยความโล่งอกจนได้ยินถนัด
ล้นเกล้าฯ
ประทับยืนนิ่งด้วยพระพักตร์และพระอิริยาบถดุษณีย์
เสียงจากเจ้าคุณครูต่อไป
พร้อมด้วยเดินเข้าไปเฝ้าด้วยท่าทางอย่างมหาฤาษีแบบละคร
พลางปากก็ถวายพระพรวิงวอนต่อไปว่า
"ดูกรมหาบพิตร
ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ มันผู้นี้
(ชี้มือไปที่หลวงยง)
มีความผิดขั้นอุกฤษฐ์โทษ
แต่มันเป็นศิษย์อาตมา
ที่ทำไปก็ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา
อาตมาขอพระราชทานอภัยเสียเถิด
ขอพระราชทานชีวิตไว้เพื่อจักได้เป็นมิ่งขวัญอันศุภมงคลแก่พระราชพิธีสืบไป
ขอถวายพระพร" ครั้นแล้วล้นเกล้าฯ
จึงมีพระราชดำรัสตอบว่า "พระคุณเจ้า
ผู้บรมครู
รูปขอถวายชีวิตมันผู้นี้แด่พระคุณ
เพื่อบูชาคุณ ณ กาลบัดนี้"
ทรงผินพระพักตร์ไปทางหลวงยง
"มึงจงคิดถึงคุณครูตราบเท่าชีวิตของมึง
ราชมัณฑ์ปล่อยตัวเป็นอิสสระไปได้
และให้มันรำเพลงถวายครู"
แล้วก็พระราชทานพระบรมราโชวาทตามสมควร
พนักงานสนมพลเรือนแก้มัด
หลวงยงลงนั่งถวายบังคม
แล้วร้องไห้ด้วยความยินดี
แล้วคลานเข้าไปกราบที่เท้าเจ้าคุณครู
เจ้าคุณครูปลอบโยนให้โอวาท
แล้วสั่งให้รำเพลงช้า
เมื่อพนักงานได้ประคบประหงมนวดทาแข้งขาด้วยน้ำมันพอสมควรแล้ว
หลวงยงก็ออกรำ และรำได้อย่างสุดฝีมือ
สมชื่อว่า "ยงเยี่ยงครู" ฉะนั้น
ต่อจากนั้นก็ทำพิธีไหว้ครูและครอบต่อไป
ในที่สุดโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวังเมือง
[๑]
เจ้ากรมช้างต้นออกรำโพนช้างด้วยเชือกบาศก์และรำของ้าว
อันเป็นพิธีของพราหมณ์พฤฒิบาศก์ส่วนหนึ่ง
และโปรดให้ตัวโขนละครที่สำคัญได้ครอบด้วยเชือกบาศก์สำหรับคล้องช้างนั้นด้วย
อันจัดว่าเป็นการครอบที่สูงสุดของการทำพิธีครอบโขนละคร
ซึ่งว่ากันว่า
คุ้มเกรงรักษามิให้เกิดเสนียดจัญไรแก่ผู้เป็นนักรำอย่างสูงสุด
[๒] |
|
|
นับจากนั้นมาก็ไม่ปรากฏว่า ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูนาฏดุริยางคศิลปินในพระราชสำนักอีกเลยตราบจนสิ้นรัชกาล
นอกจากพิธีไหว้ครูโขนละครดังได้กล่าวแล้ว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ
อยุธยา)
กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจัดการตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่โรงเรียนราชกุมารเก่า
ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
นั้น
ก่อนจะเริ่มการเล่าเรียนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ได้จัดให้นักเรียนไหว้ครูเป็นครั้งแรก
ดังมีความปรากฏในหนังสือที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาเมื่อวันที่
๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ความตอนหนึ่งว่า |
|
"จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่
๒๘ ธันวาคม
ให้เปิดการสอนที่โรงเรียนราชกุมาร
ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้เลือกและรับครูจากกรมศึกษาธิการ
๓ คน คือ นายสอน
[๓]
นายสนั่น
[๔]นายทองอยู่
ซึ่งเปนครูมีประกาศนียบัตร์ทั้ง ๓ คน
เริ่มการสอนในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๙
ธันวาคม ซึ่งเปนวันพฤหัศบดีวันครู
ข้าพระพุทธเจ้าได้ประชุมนักเรียนทั้งหมดเวลา
๔ โมงเช้า
กล่าวเตือนใจให้รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่
และให้เข้าใจหน้าที่ที่จะต้องตั้งใจสวามิภักดิ์จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
และตั้งใจแสวงความอบรมอันดี
ทำตัวให้สมควรแก่ที่จะรับราชการใกล้ชิดสนองพระเดชพระคุณสืบไปเบื้องหน้า
ให้สมแก่ที่ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงมีพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ
หาที่สุดมิได้ เมื่อชี้แจงเสร็จแล้ว
ครูและนักเรียนทั้งหลายได้บ่ายหน้าสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพร้อมกันกระทำใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
และถวายคำนับแล้วนั่งลงยังที่
ต่อนี้ไปได้ทำพิธีไหว้ครูตามธรรมเนียมของกรมศึกษาธิการ
คือให้นักเรียนจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหนังสือ
ซึ่งจัดตั้งไว้โดยเฉภาะ
แล้วให้นักเรียนอ่านคำไหว้ครูด้วยกิริยาเคารพ
ต่อนั้นไปก็ได้เริ่มการสอนเปนลำดับมา"
[๕] |
|
|
บทไหว้ครูของกรมศึกษาธิการ
กระทรวงธรรมการที่นักเรียนมหาเล็กหลวงได้อ่านในพิธีไหว้ครูเมื่อแรกเปิดโรงเรียนวันที่
๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้นมีเนื้อความดังนี้ |
|
ปาเจราจริยา โหนฺติ
คุณุตฺตรานุสาสกา |
|
|
อนึ่งข้าคำนับน้อม |
ต่อพระครูผู้การุณ |
โดยเอื้อและเจือจุน |
อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์ |
ยังบทราบก็ได้ทราบ |
ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน |
ชี้แจงและแบ่งปัน |
ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน |
จิตต์มากด้วยเมตตา |
และกรุณาบเอียงเอน |
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ |
ให้ฉลาดและแหลมคม |
ขะจัดเขลาบรรเทาโม |
หะจิตต์มืดที่งุนงม |
กังขา ณ อารมณ์ |
ก็สว่างกระจ่างใจ |
คุณส่วนนี้ควรนับ |
ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร |
ควรนึกและตรึกใน |
จิตต์น้อมนิยมชม |
|
|
ปญฺญญาวุฑฒิกเร เต เต
ทินฺวาเท นมามิหํ |
|
|
|
การไหว้ครูของนักเรียนมหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัยในเวลาต่อมา
จะมีรูปแบบและวิธีการอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
แต่เมื่อพระยาภะรตราชาได้รับพระมหากรุณาให้มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว
ได้ริเริ่มจัดให้มีพิธีไหว้ครูขึ้นอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
๒
พิธีไหว้ครูของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
๒ ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้
เริ่มจากคนงานตีระฆังใหญ่ที่หอนาฬิกาเป็นสัญญาณเรียกนักเรียนขึ้นหอประชุม
เมื่อนักเรียนแต่งเครื่องแบบและเข้านั่งประจำที่บนหอประชุมพร้อมแล้ว
ผู้บังคับการและคณาจารย์แต่งกายสวมเสื้อครุยตำแหน่งหรือครุยวิทยฐานะขึ้นนั่งประจำที่พร้อมกันบนหอประชุมรอดวลาที่ประธานในพิธีจะเสด็จหรือเดินทางมาถึงในเวลา
๙.๐๐ น. |
|
|
 |
ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา
เป็นประธานในพิธีไหว้ครู
(แถวหน้าจากซ้าย) ๑. คุณครูอรุณ แสนโกศิก
ผู้ช่วยผู้บังคับการและผู้กำกับคณะจิตรลดา
๒. คุณครูจิต พึ่งประดิษฐ์
รองผู้บังคับการและผู้กำกับคณะพญาไท ๓.
ท่านผู้บังคับการ
๔. คุณครูจำรัส จันทรางศุ
ในภาพนักเรียนกำลังหมอบกราบรำลึกพระคุณครู |
|
|
|
ครั้นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ประธานองคมนตรีและอดีตนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย
ประธานในพิธรเสด็จมาถึง
หรือบางปีก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเดินทางมาถึงหอประชุมแล้ว
จึงเริ่มพิธีไหว้ครูโดยนักเรียนร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี
แล้วหัวหน้านักเรียนออกมานำสวดบูชาพระรัตนตรัย
จบแล้วหัวหน้านักเรียนทั้ง ๗ คณะ หรือปัจจุบันมี ๙
คณะเป็นผู้แทนนักเรียนนำพานดอกไม้ธูปเทียนออกมาวางบนโต๊ะหน้าที่นั่งคณาจารย์
แล้วหัวหน้าพร้อมกันจุดธูปเทียนบูชาพระคุณครู
เสร็จแล้วหัวหน้าผู้เป็นผู้แทนนักเรียนทุกคณะนำสวดสรรเสริญพระคุณครูบท
"ปาเจรา จริยาโหนฺตุ" ของกระทรวงธรรมการ
หรือบางปีก็เปลี่ยนไปใช้บท "ไหว้คุณครูอาจารย์"
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือบทประพันธ์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล
ซึ่งมีพิมพ์อยู่ในตอนท้ายหนังสือสวดมนต์
จบแล้วหัวหน้าคณะทั้งหมดลงนั้งคุกเข้ากราบแสดงความสำนึกพระคุณครู
จากนั้นนักเรียนทุกคณะทยอยกันออกมากราบคุณครูทีละแถวจนครบทุกคนแล้ว
ประธานประทานพระโอวาทหรือให้โอวาท
จบแล้ววงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน
(สรรเสริญเสือป่า) ปิดพระวิสูตร เป็นเสร็จพิธีไหว้ครู
เมื่อประธานเสด็จและเดินทางกลับ
คณาจารย์และนักเรียนแยกย้ายกันลงจากหอประชุม |
|
|
 |
หัวหน้านักเรียนทั้ง ๗ คณะ
นำสวดสรรเสริญพระคุณครูในพิธีไหว้ครู |
|
|
|
อนึ่ง
ในช่วงแรกของการจัดพิธีไหว้ครูในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
๒ นี้ ยังไม่มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะในพิธีไหว้ครู
โดยการแต่งตั้งหัวหน้าคณะในช่วงนั้นท่านผู้บังคับการจะไปประชุมนักเรียนที่คณะต่างๆ
เป็นรายคณะๆ ละวันในช่วงเดือนกรกฎาคม
ต่อมาจึงรวมการแต่งตั้งหัวหน้าคณะในพิธีไหว้ครู
ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่อง "หัวหน้า"
ในฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ ในตอนต่อไป |
|
 |
|
|
[
๑ ]
นามเดิม เมือง ป๋อย คชาชีวะ
[
๒ ]
จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์). อนุสรณ์
"ศุกรหัศน์",
หน้า ๑๙๑ - ๑๙๖
[
๓ ]
ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์
ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง
แล้วเลื่อนเป็นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์
อาจารย์ใหญ่ และเป็นพระยาบริหารราชมานพ
ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
แล้วเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
[
๔ ]
ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
ขุนอนุสิษฐดรุณราช
เมื่อกระทรวงธรรมการขอตัวคืน
จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น
ขุนนิพันธ์นิติสิทธิ์ แล้วเลื่อนเป็น
หลวงนิพันธ์นิติสิทธิ์
และพระนิพันธ์นิติสิทธิ์ ตามลำดับ
[
๕ ]
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙
เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑๑ มกราคม ๒๔๕๓ -
๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗).
|
|