ต่อมามีเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกรากับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระบรมราชินี
แล้วทรงราชาภิเษกสมรสใหม่กับเจ้าจอมสุวัทนา
พระสนมเอกเแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี
เสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งวิมารเมฆ
พระราชวังดุสิต
พร้อมด้วยคุณพนักงานและข้าหลวงในพระองค์
ส่วนเจ้าจอมสุวัทนา
เมื่อได้มารับราชการในพระองค์และทรงพระครรภ์ใกล้จะมีพระประสูติการ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา
พระวรราชเทวี
เพื่อผดุงพระเกียรติยศแห่งพระราชกุมาร
แต่เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ถวายพระประสูติสมเด็จพระราชธิดา
[๑]
ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘
รุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต
เป็นอันสิ้นสุดพระราชสำนักฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงเพียงเท่านั้น
อนึ่ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นและราชาภิเษกด้วยพระคู่หมั้นและพระมเหสีทั้ง
๕ พระองค์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น
เมื่อพระองค์ใดได้ครองราชสำนักฝ่ายใน
ก็จะโปรดให้พระญาติและข้าหลวงในพระองค์มาประจำรับใช้เป็นการส่วนพระองค์ในพระราชฐานชั้นใน
แต่เมื่อทรงสถาปนาพระอินทราณี
เป็นพระวรราชชายานั้น
นอกจากจะทรงมีพระญาติในราชินกุลสุจริตกุลและคุณสมบุญ
ชินะโชติเป็นคุณข้าหลวงใหญ่ประจำพระองค์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้กุลธิดาและกุลบุตรที่ยังเยาว์วัยมาปฎิบัติหน้าที่เป็นข้าหลวงและมหาดเล็กในพระองค์อีกหลายคน
อาทิ คุณเชื่อม อจลบุญ คุณมาละตี กาญจนาคม
คุณกมะลา สุทธสินธุ์
[๒]
คุณสุรภี สุจริตกุล และคุณเจรียง อากาศวรรธนะ
จากนั้นจึงมีผู้นำกุกุลธิดามาถวายตัวเป็นข้าหลวงเรือนนอก
ข้าหลวงเรือนในเพิ่มขึ้น
"ข้าหลวงเรือนนอกถวายตัวแล้วกลับไปอยู่บ้านได้จนกว่าจะมีพระราชประสงค์
ทรงใช้ก็เรียกเข้ามาเป็นครั้งคราว
เรือนในถวายตัวแล้วด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพ
ก็อยู่ในพระราชวังที่ประทับเลย"
[๓]
 |
ตึกที่ทำการกรมวังที่หน้าประตูพระราชวังพญาไท |
ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระวรราชชายาเธอ
พระอินทรศักดิศจี
เป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทศักดิศจี
พระบรมราชินีแล้ว
"องค์ล้นเกล้าล้นกระหม่อมท่านก็ทรงเรียกคุณพนักงานออกมาจากในพระราชวังหลวง
๖
คนซึ่งเป็นข้าของสมเด็จพระพันปีหลวงท่านทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายตัวต่อรัชกาลที่ ๕
และอยู่ในวังหลวงมาแต่บัดนั้น"
[๔]
มาประจำรับราชการในสมเด็จพระบรมราชินี
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวพิทักษ์อนงค์นิกร
(ลม้าย) เป็นท้าวนางผู้ใหญ่กำกับดูแลราชการต่างๆ
ในพระราชสำนักฝ่ายใน กับโปรดเกล้าฯ ให้มีเจ้ากรม
ปลัดกรม
และสมุห์บัญชีขอเฝ้าประดับพระเกียรติยศมีราชทินนามเดียวกับเจ้ากรม
ปลัดกรม
และสมุห์บัญชีขอเฝ้าในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวงแต่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่ากัน
๑ ขั้น คือ พระอรรคเทวินทรามาตย์ (หอม สุจริตกุล)
เจ้ากรม หลวงรัตนนาฎนิจภักดี (สาย เปาโรหิตย์)
ปลัด ขุนวรเทพีพลารักษ์ (แม้น จวบสินเอี่ยม)
สมุห์บัญชี
มั้งสามคนนี้ผลัดกันทำหน้าที่เวรกรมวังประจำการร่วมกับโขลนซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน
ที่ตึกหน้าประตูพระราชวังพญาไท
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้คุณข้าหลวงในสมเด็จพระบรมราชินีที่ได้ฝึกหัดปฏิบัติข้อราชการในพระราชสำนักฝ่ายในจนคล่องแคล่วดีแล้ว
จำนวน ๑๒ คน มี ๑ ปลอบ สุจริตกุล ๒ สุคนธ์
สุจริตกุล ๓ สมบุญ ชินะโชติ ๔ เชื่อม อจลบุญ ๕
มาละตี กาญจนาคม ๖ สวง วิเศษศิริ ๗ กมะลา
สุทธสินธุ์ ๘ สุภัทรา สิงหลกะ ๙ สนาน เกตุทัต ๑๐
อารมณ์ อมาตยกุล ๑๑ อาบ วิเศษกุล ๑๒ เจรียง
อากาศวรรธนะ
ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นคุณพนักงานฝ่ายในรับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถึงวันกำหนดถวายตัว คุณข้าหลวงทั้ง ๑๒
คนที่จะถวายตัวหมอบเป็นแถวหน้ากระดานเรียงตามผู้ใหญ่เด็กที่บนท้องพระโรงพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
พระราชวังพญาไท
"มีคุณท้าวคนหนึ่งมาจากในวังหลวงนั่งคู่กันกับคุณท้าวพิทักษ์อนงค์นิกรซึ่งอยู่ประจำพระองค์สมเด็จฯ
พระราชินี คอยกราบบังคมทูลขานชื่อ เบิกตัว
ผู้ที่จะถวายตัวอยู่ พอได้เวลาล้นเกล้าฯ
สมเด็จทั้งสองพระองค์เสด็จมาถึง คุณท้าว
ขานชื่อใครคนนั้นก็ยกพานดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯถวายและหมอบกราบ
องค์ล้นเกล้าฯ
กฌทรงโปรดพระราชทานของมีเงินใส่ถุงผ้าขาว ๕
ตำลึงผ้าแพรห่มจีบ ๒ ผิน ผ้าลายจีบ ๒ ผืน ต่อ ๑
คนจนหมดทุกคน
นับแต่วินาทีนั้นทุกคนก็มีฐานะเป็นข้าราชบริพาร
ข้าราชการฝ่ายในมีคำนำหน้าว่า "คุณ" โดยตำแหน่ง...
มีเบี้ยหวัด เงินเดือนในตำแหน่งราชการต่างๆ กัน"
[๕] |
คุณพนักงานเหล่านี้มีหน้าที่ถวายการรับใช้ตามหน้าที่ทั้งถวายอยู่งานนวด
อยู่งานพัด อ่านหนังสือถวาย หรือการอื่นๆ
สุดแต่จะทรงใช้สอยเช่นเดียวกับมหาดเล็ก
ในเวลาว่างจากการถวายงานก็ต้องทำงานฝีมือ เช่น
การร้อยมาลัย แกะสลักผักผลไม้
รวมทั้งต้องเรียนหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ส่วนคุณพนักงานที่เป็นเวรห้องพระบรรทมวันละ ๒
คนนั้น มีหน้าที่ทำความสะอาดห้องพระบรรทม ห้องสรง
และเป็นเวรนอนหน้าห้องพระบรรทมเช่นเดียวกับมหาดเล็กห้องพระบรรทม
 |
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(จากซ้าย) เจ้าพระยารามราฆพ หรือ "เจ้าคุณปู่",
เด็กชายบัว ศจิเสวี มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว
และคุณอาบ วิเศษกุล (คุณหญิงอรุณธดี จารุดุล) |
นอกจากนั้นในราชสำนักฝ่ายในของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระบรมราชินี
ยังมีหม่อมเจ้าและเด็กผู้ชายถวายตัวเป็นมหาดเล็กรุ่นเล็กอีกหลายองค์และหลายคน
มหาดเล็กรุ่นเด็กนี้โปรดเกล้าฯ
ให้ไปเล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
จะกลับมาค้างที่วังก็แต่ฌพาะวันหยุดของโรงเรียน
มหาดเล็กเหล่านี้จึงไม่ปรากฏว่าได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ
ส่วนมหาดเล็กที่อยู่ประจำในราชสำนักฝ่ายในเพราะยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนอีกคนหนึ่ง
คือ เด็กชายบัว ศจิเสวี มหาดเล็กรุ่นจิ๋ว
ซึ่งรับสั่งเรียกว่า "ลูกบัว" นั้น มีหน้าที่
"เพียงแต่คอยเฝ้าอยู่แทบพระบาท สุดแต่สมเด็จ ฯ
จะโปรดทรงใช้สอยอะไรก็ทำตามรับสั่ง"
[๖]
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า
เด็กชายบัวสามารถอ่านหนังสือถวายสมเด็จพระบรมราชินีได้
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เด็กชายบัวไปอ่านหนังสือถวายที่ห้องทรงพระอักษร
แล้วเลยมีพระราชดำรัสสั่งให้เด็กชายบัว
"บีบที่พระเพลา (ขา)
และพระบาท
แต่โดยที่มือผมไม่มีกำลังพอที่จะบีบนวดถวายได้แรงพอ
ท่านจึงมีพระราชดำรัสให้ผมกำมือแล้วทุบบนพระเพลาเรื่อยลงไปจนถึงพระบาท
บางครั้งผมก็ทุบถวายจนพระองค์ท่านทรงพระบรรทมหลับไป"
[๗]
อนึ่ง
เนื่องจากราชสำนักในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น
ยังคงแบ่งพื้นที่ในราชสำนักเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
ฉะนั้นในงานพระราชพิธี เช่น งานพระราชพิธีฉัตรมงคล
พระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ฯลฯ
พระบรมวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าคงเฝ้าฯ
ตามตำแหน่งในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
หรือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ส่วนพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในคงเฝ้าฯ
ตามตำแหน่งอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
หรือที่พระที่นั่งพิมานรัตยาซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน
เมื่อเสร็จพระราชกิจทางฝ่ายหน้าแล้วจึงเสด็จออกทางฝ่ายใน
ซึ่งการเฝ้าฯ
ทางฝ่ายในก็มีการจัดลำดับตำแหน่งเฝ้าฯ
ดังที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
ทรงบรรยายไว้ในพระราชวงศ์จักรี ตอน "ผู้เขียน" ว่า
"ตามธรรมดาราชสำนักไทย,
แยกกันเฝ้าเป็นฝ่ายหน้าฝ่ายในทุกแห่ง,
และที่นั่งก็แบ่งกันเป็นหมู่ๆ.
ทางฝ่ายในแบ่งเป็น ๒
หมู่ข้างทางเสด็จพระราชดำเนินและที่พระราชอาสน์.
ทางขวาเจ้านายในพระราชวงษ์ประทับเริ่มแต่สมเด็จพระมเหสีแล้วพี่นางน้องนาง,
พระราชธิดา, พระราชนัดดา,
เรียงมาตามตำแหน่งพระบิดาและพระชนมายุ,
ทางหมู่ซ้ายเริ่มต้นตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงษ์
(ในรัชกาลที่ ๗ พระมเหสีรัชกาลที่ ๖
นั่งเรียงกันแถวหน้า) เจ้าจอมมารดา,
เจ้าจอมและหม่อมเจ้านาย (in - law) ต่างๆ
ของพระราชวงษ์ อีกแห่งหนึ่งก็แบ่งเป็น ๒
หมู่ๆ
หนึ่งท้าวนางพนักงานฝ่ายในที่ทำราชการอยู่ในพระราชวัง,
และอีกข้างหนึ่งเป็นที่ภรรยาข้าราชการเข้าเฝ้า.
ต่างหมู่ต่างมีผู้นำและรู้ตำแหน่งเรื่องราวเรียบร้อยกันมาช้านาน,
แม้ถึงในรัชกาลที่ ๖
เมื่อพระมเหสีเป็นผู้ที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียม
อะไรก็ไม่สู้จะยุ่งยากมาก
เพราะไม่ค่อยจะได้มาทุกงาน.
จนถึงรัชกาลที่ ๗ พวกนักเรียนนอก demand
ให้พวกเมียเสมอกับตัวอย่างธรรมเนียมฝรั่ง,
พวก in - law ที่ไม่รู้เรื่อง Court
ก็มีมากขึ้น,
จึงชักรวนเรไม่เป็นระเบียบแบบแผนมาจนปัจจุบัน."
[๘] |
นับแต่นั้นมาธรรมเนียมการแยกฝ่ายหน้าและฝ่ายในจึงเริ่มผ่อนคลายลง
พระบรมวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในต่างก็เปลี่ยนมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกันในเวลาเสด็จออกมามหาสมาคม
โดยมิได้แยกเป็นฝ่ายหน้าและฝ่ายในดังเช่นกาลก่อน