๓๔.
ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ ๖ (๑)
เมื่อกล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ท่านผู้อ่านทุกท่านคงนึกถึง "ย่าเหล"
สุนัขที่ได้ชื่อว่าเป็น "มิตรแท้"
ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 |
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
และ
พระอนุชาพร้อมด้วยเจ้านายที่ประทับทรงศึกษาในยุโรป
ทรงร่วมกันจัดแสดงละครเรื่อง My Friend
Jarlet ของ อาร์โนลด์ โกลสเวอธี (Arnold
Golsworthy) และ
อี. บี. นอร์แมน (E.B.
Norman)
ในการรื่นเริงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐
|
(แถวนั่งจากซ้าย)
|
๑. หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์
กฤดากร (ปอล ลาตูร์)
๒.
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
(มารี เลอรูซ์)
๓. นายอาร์. อี.
โอลิเวียร์ (เอมิล ยาร์เลต์) |
(แถวยืนจากซ้าย) |
๑. พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์
(พลทหาร)
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ
(นายทหาร)
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ |
|
คำว่า
"มิตรแท้" นี้
มีที่มาจากบทละครเรื่อง "My Friend
Jarlet" ของ Arnold Golsworthy และ
E.B. Norman
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงร่วมกับพระอนุชาและเจ้านายที่ประทับทรงศึกษาอยู่ในยุโรปจัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.
๒๔๔๐ และต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมขุนพิษณุโลกประชานาถได้ทรงจัดแสดงถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรุสเซีย
 |
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ทรงแสดงเป็น มารี เลอรัวซ์ ในเรื่อง My
Friend Jarlet ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ประเทศรุสเซีย
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ |
เมื่อเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลาย
พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ
ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการเพื่อทรงเรียนรู้ข้าราชการทั้งปวง
กับทรงเป็นนายพลเอเอก จเรทัพบก นายพลเรือเอก จเรทัพเรือ
และราชองครักษ์พิเศษแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
ซึ่งทำให้ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่นครปฐมอยู่เนือง
ๆ
วันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๔๘
ระหว่างประทับแรมที่พระตำหนักนันทอุทยาน จังหวัดนครปฐม
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเรือนจำมณฑลนครไชยศรี
และมีผู้เห็นเหตุการณ์ได้เล่าไว้ว่า
ในระหว่างเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ต่าง
ๆ ภายในเรือนจำนั้น
ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขพันทาง ๒ ตัว
ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขพันธุ์ไทยที่เติบโตอยู่ในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี
ส่วนตัวพ่อนั้นเป็นสุนัขพันธุ์ต่างประเทศของ
"เจ้าคุณเทศา"
คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน) [๑]
สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี
ซึ่งจวนของท่านเจ้าคุณเทศาอยู่ติดกับเรือนจำนั้นเอง
ในเวลานั้นลูกสุนัขทั้งสองกำลังนอนดูดนมแม่อยู่ที่เชิงบันไดโรงครัวภายในเรือนจำ
เมื่อทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขทั้งสองตัวนั้น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดีดพระหัตถ์เรียก
ลูกสุนัขตัวที่ขนยาวปุยสีขาว มีด่างดำที่ใบหน้า
ขนบนหลังเป็นสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง
ได้วิ่งมาเฝ้าคลอเคลียแทบเบื้องพระยุคลบาท
เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมที่สวนนันทอุทยานแล้ว
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ข้าราชบริพารในพระองค์คนหนึ่งมาขอลูกสุนัขนั้นไปทรงเลี้ยง
และโดยที่ลูกสุนัขทั้งสองยังไม่หย่านม หลวงไชยราษฎร์รักษา
(โพธิ์ เคหะนันทน์)
[๒]
พธำมรงค์เรือนจำมณฑลนครไชยศรี จึงได้น้อมเกล้าฯ
ถวายลูกสุนัขทั้งสองไปพร้อมกับแม่สุนัขนั้น
 |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน
ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย
"ย่าเหล" สุนัยทรงเลี้ยง |
เมื่อทรงรับแม่และลูกสุนัขทั้งสองมาเป็นสุนัขทรงเลี้ยงนั้น
เป็นเวลาที่กำลังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครเรื่อง
"My Friend Jarlet"
เป็นภาษาไทยในชื่อ "มิตร์แท้"
โดยมีเนื้อเรื่องย่อว่า
เมื่อเยอรมันเข้ายึดครองฝรั่งเศสคราวสงครามฟรังโก
- ปรัสเซียน (Franco - Prussian
War) เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๗๐ ๗๑
มีชาวฝรั่งเศสคิดทำการกู้ชาติโดยทางลับ
ซึ่งเรียกกันในสมัยหนึ่งว่า "อันเดอร์กราวนด์"
(Underground) หรือปฏิบัติการใต้ดิน
วันหนึ่งปอลซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมลับใต้ดินนี้ถูกทหารเยอรมันจับได้
และจะถูกประหารชีวิตเพราะมีการกระทำอันเป็นจารชน
แต่ปอลนั้นหลงรักมารีผู้เป็นหลานสาวของเจ้าของโรงแรมที่ตนพักอยู่กับยาร์เลต์ผู้เป็นสหายสนิท
ฝ่ายยาร์เลต์นั้นเกรงว่า
หากปอลแต่งงานกับมารีแล้วตนจะลำบากเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย
จึงพยายามกีดกันมิให้ปอลกับมารีได้ติดต่อกัน
ถึงวันที่ปอลโดนจับและทหารเยอรมันจะมานำตัวปอลไปประหารนั้น
ยาร์เลต์ได้สนทนากับมารีและทราบความว่า
มารีนั้นคือธิดาของตน
แต่ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเพราะยาร์เลต์ได้เลิกรากันไปกับมารดาของมารีตั้งแต่มารียังอยู่ในครรภ์มารดา
เมื่อปอลกลับมาที่โรงแรมเพื่อจะร่ำลามารีก่อนที่ทหารเยอรมันจะมาคุมตัวไปประหารนั้น
ยาร์เลต์จึงได้อาสาไปตายแทนเพื่อให้คนที่ตนรักทั้งสองได้ครองคู่ร่วมกันอยู่พอดี
จึงได้โปรดพระราชทานนามลูกสุนัขตัวสีขาวมีจุดด่างดำที่วิ่งมาคลอเคลียอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทนั้นว่า
"ย่าเหล"
ซึ่งแปลงมาจากชื่อตัวละคร "ยาร์เลต์"
ส่วนสีน้ำตาลอีกตัวหนึ่งนั้นพระราชทานนามว่า
"ปอล"
ปอลคงจะมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว
จึงไม่มีผู้ใดกล่าวถึงปอลอีกเลย
ส่วนย่าเหลเมื่อได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักแล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้คุณมหาดเล็กคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูย่าเหล
เป็นต้นว่า จัดการอาบน้ำฟอกสบู่โรยแป้งฝุ่นหอมให้แก่ย่าเหล
และนำย่าเหลขึ้นเฝ้าทุก ๆ
เช้าในเวลาที่ตื่นพระบรรทม
ต่อจากนั้นย่าเหลก็จะรับหน้าที่เสมือนมหาดเล็กคอยหมอบเฝ้าและตามเสด็จมิให้คลาดไปจากสายพระเนตร
เวลาที่ทรงพระอักษรหรือประทับเสวยพระกระยาหาร
ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้ที่ประทับ
แม้แต่เวลาเสด็จลงทรงกีฬา
หรือเสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระราชฐานที่ประทับ
ย่าเหลก็จะตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่ง เวลาเสด็จเข้าพระบรรทม
ย่าเหลก็ยังตามเสด็จไปหมอบเฝ้าอยู่มิห่างจากพระแท่นบรรทมเสมือนเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมเลยทีเดียว
ในยามที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนอกพระราชฐาน
ย่าเหลก็จะตามมาส่งเสด็จถึงรถพระที่นั่ง
และเมื่อได้ยินทหารรักษาวังที่กองรักษาการณ์หน้าประตูพระราชฐานเป่าแตรคำนับเป็นสัญญาณว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าเอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาแล้ว
ย่าเหลก็จะมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่อัฒจันทร์เทียบรถพระที่นั่งเช่นเดียวกับคุณมหาดเล็กและพระตำรวจที่เข้าเวรประจำการในวันนั้น
ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลที่ห่างไกล
ซึ่งต้องเสด็จรอนแรมไปในป่าเขาที่ทุรกันดารก็โปรดให้ย่าเหลตามเสด็จไปด้วยทุกคราว
ทั้งคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๘
ประพาสเมืองพระร่วงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐
เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้
พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ทรงพระราชบันทึกถึงย่าเหลไว้ใน
"จดหมายเหตุประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้"
ว่า
"เมื่อบ่ายวานนี้
[๓]
มีเหตุออกจะขัน
ๆ อยู่เรื่องหนึ่ง
ซึ่งผมไม่ได้เห็นแก่ตาเอง
ผมได้ฟังเขาเล่าภายหลัง
คือในเวลาก่อนที่จะเสด็จประพาส
คุณจางวางรถม้า [๔]
ท่านอยู่เปล่า
ๆ ท่านจึงคิดจะถ่ายรูปเล่น
แต่ท่านต้องการรูปแปลก
ท่านจึงให้ปจูงแพะมาตัวหนึ่ง
แล้วท่านเรียกเหลลงไปยุให้เห่าแพะ
ท่านหมายว่าจะถ่ายกำลังเหลเห่า
พะเอินแพะก็ตกใจกลัวเหล
ถอยหนีร่ำไปต้องตอยลากออกมาให้ยืนตรงที่เหมาะ
คราวนี้พอจะเปิดกล้องเหลโดดเข้าไปกัดแพะเข้าจริงๆ
แพะตกใจวิ่งหนี
คุณจางวางรถม้าก็เที่ยววิ่งตามไล่แพะด้วยกล้อง
เขาว่าวิ่งกันรอบ
ๆ
พระที่นั่งจนเหนื่อยทั้งคนทั้งแพะและทั้งสุนักข์
คุณจางวางรถม้านั้นได้ทราบว่าท่านเสียท่าอย่างไรไม่ทราบจนตกเขา
ขาบวมฟกไปหมด
ดูเหมือนตกลงรูปก็เลยไม่ได้ถ่าย
ผมเสียใจจริง ๆ
ที่ผมไม่ได้อยู่ในที่นั้นด้วย
ถ้าผมอยู่บางทีผมจะได้ถ่ายรูปท่านผู้ถ่ายรูปแพะอีกต่อหนึ่ง
ฤาบางทีผมจะมัวต้องวิ่งเล่นเอาเถิดไปเสียด้วยอีกคนหนึ่งก็เป็นได้"
[๕] |
ย่าเหลนั้นได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด
และมีความจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างยิ่ง
จึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเยี่ยงมหาดเล็กในพระองค์คนหนึ่งเลยทีเดียว
ดังจะเห็นได้จากเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมเป็นเข็มรูปพระวชิราวุธคมเงินด้ามทองให้แก่ย่าเหล
เป็นเครื่องหมายว่า
ย่าเหลได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ
ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานเหรียญราชรุจิและเสมาอักษรพระบรมนามภิไธยย่อ
ว.ป.ร.ทองคำให้แก่ย่าเหลเพื่อเป็นพยานว่า
ย่าเหลได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นเดียวกับข้าราชบริพารทั้งหลาย
นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดทำแผ่นทองคำลงยามีตัวอักษรสีดำจารึกข้อความว่า
"ฉันชื่อย่าเหล
เป็นสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
ห้อยคอย่าเหลไว้ตลอดเวลา
เพื่อให้ที่ผู้พบเห็นย่าเหลภายนอกพระราชฐานได้ทราบและนำกลับมาถวายคืน
กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ย่าเหลมีเงินเดือน
ๆ ละ ๔๐ บาทเท่ากับเงินเดือนชั้นมหาดเล็กสำรอง (เทียบเท่าว่าที่นายร้อยตรี)
 |
"กุฏิย่าเหล"
ในเขตสังฆาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ |
เงินเดือนของย่าเหลนี้โปรดให้เก็บรวบรวมไว้
แล้วได้พระราชทานไปในการกุศลต่าง ๆ
ในนามของย่าเหล เช่น
โปรดพระราชทานไปเป็นทุนก่อสร้างกุฏิปฏิบัติธรรมของเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์
ได้พระราชทานนามกุฏินั้นว่า "กุฏิย่าเหล"
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕
|