๓๗.
เมืองมหาวิทยาลัย (๒)
ส่วนที่ตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้น
สภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ
ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นสภานายก
"ได้เลือกหาทุกแห่งที่เหมาะเห็นว่าที่ตำบลประทุมวันของพระคลังข้างที่
ด้านตวันออกตกถนนสนามม้ายาว ๓๙ เส้น
ด้านตะวันตกตกคลองสวนหลวงยาว ๓๒ เส้น
ด้านเหนือตกถนนบำรุงเมืองยาว ๓๔ เส้น ๓ วา
ด้านใต้ตกถนนหัวลำโพงนอกยาว ๓๖ เส้น
มีถนนพญาไทอยู่ในระหว่าง
แลวังประทุมวันกับโรงเรียนเกษตร์เดิมอยู่ในพื้นที่นี้
เปนที่อยู่ในท่ามกลางพระนครไชยภูมิ์เหมาะดี
สมควรจะเปนที่ตั้งมหาวิทยาลัยหลักพระนครสืบไป
สภาจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
ทรงพระมหากรุณาเปนล้นเหลือ
พระราชทานที่รายนี้ให้เช่าเท่าผลประโยชน์ของพระคลังข้างที่ที่ได้อยู่เดี๋ยวนี้
แลพระราชทานให้เช่าโดยไม่มีกำหนดปี
นับว่าโรงเรียนนี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ส่วนพระองค์เปนอย่างยิ่งส่วนหนึ่ง
...
ส่วนการที่จะฝึกสอนในโรงเรียนนี้นั้น
จะจัดเปนโรงเรียนอุดมศึกษาสอนวิชาความรู้เฉภาะอย่างซึ่งกำหนดให้
ในความมุ่งหมายของโรงเรียนว่า จะมีเปน ๘
แพนก คือ ๑ การปกครอง ๒ กฎหมาย ๓ การทูต ๔
การช่าง ๕ การแพทย์ ๖ การเพาะปลูก ๗
การค้าขาย ๘ การเปนครู ..."
[๑] |
แล้วจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนยันตรศึกษา โรงเรียนราชแพทยาลัย
ฯลฯ ซึ่งในเวลานั้นยังคงเปิดสอนแยกกันอยู่ในที่ต่างๆ
ให้มารวมกันอยู่ในที่ดินที่พระราชทานให้ใหม่นี้
และเมื่อการเป็นไปตามพระราชดำริแล้ว
ก็จะทำให้ในอาณาบริเวณโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับพระนครนี้ มีโรงเรียนสำหรับวิชาต่าง
ๆ ทำนองเดียวกับวิทยาลัย หรือ College
กระจายกันอยู่ทั่วทั้งบริเวณ
เฉกเช่นมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดที่มีวิทยาลัยถึง ๒๕
วิทยาลัยกระจายอยู่ทั่วเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ด
โดยวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างก็เป็นหน่วยจัดการปกครองและให้การศึกษาแก่นิสสิต
ส่วนมหาวิทยาลัยนั้นคงจัดแต่เรื่องสอบไล่และให้ปริญญา
แม้จะโปรดเกล้าฯ
ให้จัดรูปแบบโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ
เป็นเมืองมหาวิทยาลัยตามแบบอังกฤษแล้วก็ตาม
แต่การที่จะจัดมหาวิทยาลัยตามแบบอ๊อกซ์ฟอ์ดและเคมบริดซ์ซึ่งเป็นเสมือนโรงเรียนประจำต่อยอดไปจากพับลิคสกูลนั้น
คงจะเป็นที่ตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า
จะต้องใช้เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในจัดการสูงมาก
มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ ๆ
ทั้งในอังกฤษและภาคพื้นยุโรปตลอดทั้งสหรัฐอเมริกาจึงเลือกที่จะจัดตามแผนโรงเรียนกลางวัน
ซึ่งนักเรียนมาเรียนแล้วก็กลับบ้าน
ไม่ต้องพักอาศัยประจำในโรงเรียนเฉกเช่นโรงเรียนประจำ
ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการของโรงเรียนประเภทนี้ลงมาก
นอกจากนั้นยังมีพระราชดำริว่า "เราทุนน้อย
จะให้ได้งานมากก็ต้องเลือกเอาข้างโสหุ้ยน้อยอยู่เอง"
[๒]
และในเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องมีมหาวิทยาลัยเพื่อ
"จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย
ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้"
[๓]
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ยกโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
และโปรดเกล้าฯ
ให้จัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตามแผนโรงเรียนกลางวัน
โดยอาศัยรูปแบบการจัดการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐอเมริกา
และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลของประเทศญี่ปุ่นที่ได้เสด็จทอดพระเนตรมาแล้วเมื่อคราวนิวัติพระนคร
พ.ศ. ๒๔๔๕
ทั้งมหาวิทยาลัยทั้งสองต่างก็รับแนวคิดและวิธีจัดการมาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดซ์ของอังกฤษ
และในตอนปลายรัชกาลยังได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์เป็นข้าหลวงตรวจจัดการศึกษา
(Education Inspector General)
ออกไปทรงเจรจาขอรับความช่วยเหลือด้านเงินทุนและนักวิชาการจากมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์
(Rocky Feller Foundation)
จนสามารถเปิดสอนหลักสูตรเวชศาสตร์บัณฑิต
ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๗
 |
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระราชโอรสทั้ง
๕ พระองค์ |
(จากซ้าย) |
๑. นายพลเรือเอก
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงนครราชสีมา
๒.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช
เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๔.
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
๕.
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย |
|
อนึ่ง เนื่องจากที่ดินพระคลังข้างที่เนื้อที่ ๑,๓๐๙ ไร่
ซึ่งได้พระราชทานให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ
หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่าเท่าผลประโยชน์ของพระคลังข้างที่ที่ได้รับอยู่ใน
พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยไม่มีกำหนดปีนั้น
เป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นพระราชมรดกแก่
"๖ เจ้าฟ้า"
ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระศรีสวินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ
 |
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ประทับฉายพระฮายาลักษณ์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา |
(จากซ้าย) |
๑.
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
๒. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
๓. สมเด็จพระราชปิตุจฉา
เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร |
|
๑) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ [๔]
๒) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนนครราชสีมา [๕]
๓) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
๔) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา [๖]
๕) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
[๗]
๖) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนสงขลานครินทร์ [๘]
ซึ่งพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช)
คุณมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เล่าไว้ว่า
"การพระราชทานที่ดินที่จะให้สร้างมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณครั้งนี้
พระองค์มิได้ทรงถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน
เพราะทรงทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินพระราชมรดกของ
๖ เจ้าฟ้า
ทางที่ดีทรงพระราชดำริว่าควรขอเช่าจากพระคลังข้างที่
เจ้าของที่ดินของผู้รับพระราชทานพระราชมรดกจะได้ไม่เสียผลประโยชน์
แต่เรื่องนี้มิใช่เรื่องส่วนพระองค์
เป็นเรื่องระดับชาติ
กระทรวงพระคลังมหาสมบัติสมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ครั้นจะทรงเจรจากับพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ
(สมัยนั้นยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหลวง)
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติฉันพี่น้องก็ทรงเกรงพระทัย
เพราะกรมหลวงจันทบุรีฯ
เคยกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เงินเปลืองนัก
ถ้าเรื่องหนึ่งเรื่องใดทางกระทรวงวังตั้งเบิกไป
ก็มักจะถูกซักไซ้ไล่เรียงกว่าจะได้รับเงินลางครั้งลางคราวก็ไม่ทันการใช้จ่าย
ส่วนมากเสนาบดีกระทรวงวังต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนเอาเงินประเภทอื่นมาใช้จ่ายก่อนเพื่อให้ทันกิจการที่จะต้องปฏิบัติให้ลุล่วงไป
ลงท้ายทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึ่งตั้งงบประมาณพระมหากษัตริย์ขึ้น
คือจัดเป็นเงินน้อมเกล้าฯ
ถวายเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดจนกระทั่งเงินเดือนและค่าใช้สอยของกรมทหารรักษาวัง
ว.ป.ร. ด้วย เป็นจำนวนเงินปีละ ๖ ล้านบาท
(จนกระทั่งประเทศสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันและเอ๊าสเตรียฮังการีจนได้ชัยชนะแล้ว
เงินน้อมเกล้าฯ
ถวายประจำปีจึงเพิ่มขึ้นเป็น ๘ ล้านบาท)
นอกจากทรงเกรงพระทัยเป็นส่วนพระองค์แล้ว
ยังทรงพระราชดำริเห็นว่า
ถ้ากรมพระจันทบุรีฯ
บอกปัดโดยยกเหตุขัดข้องอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมากล่าว
พระราชดำริการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของพระองค์จะพลอยล้มเหลวไปด้วย
โดยเหตุดังกล่าวแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานที่ดินรายนี้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อมิให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติบอกปัดความรับผิดชอบ
จึ่งมีพระบรมราโชบายเรียกพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม
ซึ่งขณะนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าเณรยังมิได้ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า
และดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้เข้ามาเฝ้า
รับสั่งเล่าถึงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานที่ดินพระราชมรดก
๖ เจ้าฟ้า
เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณให้หม่อมเจ้าเณรฟัง
แล้วรับสั่งว่าเพื่อมิให้เจ้าของที่ดินต้องเสียผลประโยชน์
จึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไปจัดทำสัญญาเช่าที่ดินรายนี้กับกรมพระคลังข้างที่เป็นอัตราค่าเช่าปีละ
๖ หมื่นบาท
เพราะกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้ราษฎรเช่าอยู่ในขณะนั้น
ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติรับโอนการเก็บค่าเช่ามาทำเสียเอง
ถ้าเก็บค่าเช่าที่ดินได้เกินกว่า ๖
หมื่นบาท
เมื่อชำระค่าเช่าต่อกรมพระคลังข้างที่แล้ว
เหลือเท่าไรก็มอบให้เป็นเงินค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยต่อไป
ถ้าหากเก็บค่าเช่าได้ไม่ถึง ๖ หมื่นบาท
ยังขาดเท่าไรก็ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติชดใช้ส่วนที่ขาดจนเต็มอัตราตามสัญญาเช่า
เมื่อหม่อมเจ้าเณรปลัดทูลฉลองฯ
รับพระบรมราชโองการแล้ว
ก็นำความมาเรียนปฏิบัติต่อเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ
เสนาบดีรับสั่งว่า
"แกเป็นผู้รับพระบรมราชโองการมา
แกก็ต้องเป็นผู้ไปทำสัญญาเช่าต่อพระคลังข้างที่
เมื่อมีพระบรมราชโองการก็ต้องปฏิบัติตาม
และจะขัดพระบรมราชโองการมิได้"
หม่อมเจ้าเณรไปจัดทำสัญญาเช่าต่อกรมพระคลังข้างที่ตามพระบรมราชโองการแล้ว
ก็ได้โอนบัญชีการเก็บค่าเช่าที่ดินมาให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพระคลังฯ
จัดการเก็บค่าเช่าเสียเอง
พอครบรอบอายุการเช่า ๑ ปี
สำรวจเงินค่าเช่าที่เก็บได้ทั้งหมดเพียงหมื่นบาทกว่าๆ
เท่านั้น
กระทรวงพระคลังต้องจ่ายเพิ่มเติมให้แก่กรมพระคลังข้างที่เกือบ
๕ หมื่นบาท"
[๙] |
อนึ่ง ที่ดินที่พระราชทานให้จุฬาลงกรณ์เช่านี้
เมื่อแรกที่พระราชทานให้เช่านั้นยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดิน
และเมื่อมีการสำรวจออกโฉนดในเวลาต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นไว้ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฉะนั้นเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้ว
ที่ดินแปลงนี้จึงถูกโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เพราะทางราชการถือว่า
โฉนดที่ดินแปลงนี้ออกในพระปรมาภิไธยและวันที่ออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติแล้ว
ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นทรัพย์สินที่ทรงได้มาเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว
จึงตกอยู่ในฐานะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติว่า
"สมควรโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่างๆ
และเพื่อจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูงและทำนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติสืบไป"
[๑๐]
จึงได้พร้อมกันตรา "พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน
อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.
๒๔๘๒" ขึ้น
มีผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิ์ขาดโดยสมบูรณ์
และได้มีการจัดประโยชน์ในที่ดินให้เป็น
"เมืองมหาวิทยาลัย"
อันก่อให้เกิดรายได้เป็นทุนสนับสนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสมดังพระบรมราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบมาจนถึงปัจจุบัน
|