เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
ได้มีพระราชดำริให้จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก
โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกหน่วยราชการหลายหน่วย
รวมทั้งกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
ส่วนโรงเรียนราชวิทยาลัยก็โปรดเกล้าฯ
ให้ยุบเลิกและยกมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่
๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙
อนึ่งในระหว่างนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่ย เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งสภานายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยวางระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเพื่อใช้แทนระเบียบการเดิมของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ซึ่งในคราวนั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้พิจารณาวางระเยียบเครื่องแต่งตัวนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไว้โดยพระบรมราชานุญาต
ดังนี้
 |
นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย คณะปรีชานุสาสน์
(คณะผู้บังคับการ)
ถ่ายภาพพร้อมด้วย มหาอำมาตย์ตรี
พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)
ผู้บังคับการและคุณหญิง กับ
รองอำมาตย์ตรี สนั่น แพทยานนท์
ครูผู้ช่วยกำกับคณะ |
"
๘. เครื่องแต่งตัวของนักเรียน
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ดังนี้
(ก) หมวกหนีบสักหลาดสีน้ำเงิน
ตืดอุณาโลมพระมหามงกุฎเงินทางขวา และ
ติดดุมพระมหามงกุฎฎเงินขนาดเล็กที่หน้าหมวก ๒ ดุม
(ข) แผ่นคอกำมะหยี่สีน้ำเงิน มีแถบเงินกว้าง ๑
เซนติเมตร พาดตามยาวของแผ่นคอ ๑ เส้น
และติดอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร.
มีพระมหามงกุฎเงินกลางแผ่นคอ ทับแถบเงินทั้งสองข้าง
(ค) เสื้อชั้นนอกขาวแบบราชการ ใช้ดุมพระมหามงกุฎเงิน
(ง) กางเกงสีน้ำเงินขาสั้นเพียงกึ่งกลางเข่า
(จ) ถุงเท้าดำยาว
(ฉ) รองเท้าหุ้มส้นหนังดำ"
[๑]
|
 |
นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ คณะปรีชานุสาสน์
(ผู้บังคับการ) พ.ศ. ๒๔๗๔
(จากซ้าย) ๑. ม.ร.ว.ศุภผล นันทวัน ๒.
วิวรรธน์ ณ ป้อมเพ็ชร ๓. บุญยง ศิริจรรยา
๔. ทน จารุศร ๕. ม.ล.เจตน์ สุทัศน์ ๖.
เล็ก อเนกบุญ
๗. จินดา เกตุปัญญา ๘. สาโรช สุวรรณสุทธิ |
เครื่องแบบดังกล่าวข้างต้นใช้สำหรับเวลาออกนอกโรงเรียนหรือในงานพิธีต่างๆ
ของโรงเรียน แต่เวลาอยู่ประจำในโรงเรียนนั้น
นักเรียนสวมเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงขาสั้นเสมอเข่าสีน้ำเงิน
ถุงเท้าขาว รองเท้าดำ
ส่วนครูและพนักงานในโรงเรียนซึ่งในรัชสมัยนี้โปรดเกล้าฯ
ให้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
คงใช้เครื่องแบบอย่างข้าราชการพลเรือนสามัญ
เวลาแต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ ใช้หมวกเฮลเม็ต (กะโล่)
สีขาวติดตราพระครุฑพ่าห์สีทอง เสื้อแบบราชการ (ราชปะแคน)
สีขาว ดุมทองเกลี้ยง ติดเอินทรธนูเครื่องหมายยศที่ปลายบ่า
กางเกงสักหลาดดำติดแถบทองที่ขากางเกง รองเท้าดำ
สำหรับเครื่องแบบปกติ ใช้เหมือนเครื่องแบบเต็มยศ ครึ่งยศ
แต่เปลี่ยนกางเกงเป็นนุ่งผ้า (โจงกระเบน)
ถุงเท้ายาวสีขาวหรือสีดำ รองเท้าขาวหรือดำ
 |
จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ
พึ่งบุญ)
ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
ถ่ายภาพพร้อมด้วยคณะครูและพนักงานโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และหม่อมพยอม ครูแม่บ้านคณะเด็กเล็ก |
ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
เนื่องจากสภาพขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม
นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในยุคนี้เวลาอยู่ในโรงเรียน
คงสวมเสื้อเชิ้ตขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน สวมรองเท้าดำ
ไม่สวมถุงเท้า
เพิ่งจะกลับมาสวมถุงเท้าสั้นสีขาวอีกครั้งในปีการศึกษา
๒๕๐๗
นอกจากนั้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พระยาภะรตราชา
(ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการโรงเรียนในเวลานั้น
ได้นำความเรียนปฏิบัติคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยว่า
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วครูและพนักงานของวชิราวุธวิทยาลัย
ซึ่งเคยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการถูกปลดออกจากราชการเพราะรัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า
วชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนราษฎร์
ครูและพนักงานจึงไม่สมควรเป็นข้าราชการ
ดังนั้นเมื่อครูต้องควบคุมแถวนักเรียนไปในงานพิธีต่างๆ
ภายนอกโรงเรียน
นักเรียนสวมเครื่องแบบแต่ครูผู้ควบคุมแถวกลับไม่มีเครื่องแบบ
ดูเป็นการลักลั่นไม่เหมาะสม
คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้พิจารณากำหนดเครื่องแบบครูและพนักงานวชิราวุธวิทยาลัยโดยอนุโลมตามเครื่องแบบข้าราชการกรมมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้กำหนดเครื่องแบบครูและพนักงานนี้ไว้ในข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย
พุทธศักราช ๒๔๙๕ ดังนี้
 |
มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ
อิศรเสนา)
แค่งเครื่องแบบเต็มยศ ครูวชิราวุธวิทยาลัย
ชั้นผู้บังคับการ
คราวรับเสด็จฯ ในงานพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม |
"หมวดที่ ๔
เครื่องแบบครู
ข้อ ๑๔
เครื่องแบบครูที่ปฏิบัติการในวชิราวุธวิทยาลัยให้มีเป็นชั้นดังนี้
(๑) ชั้นผู้บังคับการ
(๒) ชั้นผู้กำกับคณะ
(๓) ชั้นครู
(๔) ชั้นครูสำรอง
ข้อ ๑๕ เครื่องแบบครูชาย ให้ใช้เครื่องแบบสีขาว
เช่นเดียวกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนสามัญ
ลูกดุมเงินตราพระมหาพิชัยมงกุฎตามขนาดดุมอก
มีแผงคอตามชั้นและตำแหน่งหน้าที่ดังนี้
(๑) ผู้บังคับการ แผงคอเป็นแผ่นเงินทั้งอัน
ดังชั้นจางวางมหาดเล็กเดิม มี
ว.ป.ร.อยู่กลางทั้งสองข้าง ไม่มีดาว
(๒) ผู้กำกับคณะ แผงคอพื้นสีน้ำเงิน ขอบเงินกว้าง ๑
ซม. ขีดกลางพาดตามยาว ๑ ขีด กว้าง ๑/๒ ซม.
ดังชั้นนายเวรมหาดเล็ก มี ว.ป.ร.อยู่กลางทั้งสองข้าง
ไม่มีดาว
(๒) ครู แผงคอพื้นสีน้ำเงิน ขอบเงินกว้าง ๑ ซม.
ดังชั้นหุ้มแพรมหาดเล็ก มี ว.ป.ร.อยู่กลางทั้งสองข้าง
ไม่มีดาว
(๓) ครูสำรอง แผงคอพื้นสีน้ำเงิน ขอบลวดเกลียวเงิน มี
ว.ป.ร.อยู่กลางทั้งสองข้าง ไม่มีดาว
ข้อ ๑๖ เครื่องแบบครูหญิง
(๑) เสื้อชั้นในสีขาว ไม่มีแขน คอเชิ๊ต หน้าอกผ่า
ดุมตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ๑ แถว ๕ เม็ด
เวลาสวมให้กระโปรงทับเอวเสื้อ
(๒) เสื้อชั้นนอกสีขาว คอแบะ
มีดุมอกตราพระมหาพิชัยมงกุฎข้างละ ๑ เม็ด
แขนยาวถึงข้อมือ
ปลายแขนมีดุมตราพระมหาพิชัยมงกุฎขนาดเล็ก ๓ เม็ด
(๓) กระโปรงสีน้ำเงินแก่ เย็บป้ายข้าง
ชายกระโปรงสูงจากพื้นเท้า (ไม่สรวมรองเท้า) ประมาณ ๑
ฟุต
(๔)
เครื่องหมายแสดงชั้นและตำแหน่งเช่นเดียวกับแผงคอเครื่องแบบครูชาย
แต่จำลองให้เล็ก ทำด้วยเงิน ลอดกำมะหยี่สีน้ำเงินแก่
ทำเป็นแหนบติดหน้าอกเบื้องซ้าย
ขนาดเท่าเครื่องหมายของข้าราชการในพระราชสำนักติดเสื้อราตรีสโมสร
(๕) รองเท้าหนังสีดำ ส้นสูง ๑ ๑/๒ นิ้วฟุต
(๖) ถุงเท้าสีเนื้อ"
|
ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยคงใช้เครื่องแบบดังกล่าวมาเป็นลำดับ
จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๘
จึงเริ่มกำหนดให้นักเรียนใช้ป้ายชื่อโลหะพื้นสีหมายคณะติดที่ออกเสื้อข้างขวาในแนวรังดุมเม็ดที่
๒
ต่อมาจึงย้ายป้ายชื่อโลหะนั้นไปติดที่เหนือกระเป๋าเสื้อชั้นนอกข้างขวา
ส่วนที่อกเสื้อเบื้องขวาเปลี่ยนมาปักชื่อนักเรียนด้วยไหมสีตามสีคณะ
ขนาดสูงประมาณ ๑ เซนติเมตร
และพิมพ์ตราพระมหามงกุฎหมายสีคณะที่กระเป๋าเสื้อเชิ้ต
และเพิ่มเข็มขัดหนังสีน้ำเงินมีหัวเข็มขัดตราพระมหามงกุฎสีเงินมาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๕๐๙
เมื่อมีการปักชื่อที่อกเสื้อเชิ้ตนั้น
มีนักเรียนคณะผู้บังคับการคนหนึ่งชื่อ "จักรกฤษณ์กุมารา
พึ่งบุญ ณ อยุธยา"
ได้รับอนุญาตให้ปักชื่อเพียง "จักรกฤษณ์กุมารา
พึ่งบุญฯ"
เนื่องจากพื้นที่ที่อกเสื้อมีไม่พอที่ปักคำ ณ อยุธยา