อนึ่ง
ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่
๒ นั้น ...ทรงพระอนุสรคำนึงถึงการที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินับเรียงปีมาถึงรัตนโกสินทร
ศก ๑๑๖ นี้ พอบรรจบ ๔๐ พรรษา
เสมอด้วยรัชพรรษาแห่งสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่
๒ [๑]
ซึ่งได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยา
ยืนยาวกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์
ที่ได้เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยานั้น...
[๒]
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
ซึ่งทรงสำเร็จราชการรักษาพระนครให้ทรงปรึกษากับเสนาบดีคิดกะโครงการว่าจะทำอย่างไรเสียแต่ในเวลาเสด็จไม่อยู่แล้วกราบบังคมทูลไปอย่ารอให้เสียเวลา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงได้ทรงหารือกับเสนาบดีและได้มีมติที่จะจัดการสมโภชถวายเป็นการใหญ่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครแล้ว
และได้เห็นพร้อมกันที่จะชักชวนให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสบริจาคทรัพย์ตามกำลังเพื่อทูลเกล้าฯ
ถวายเป็นเงินเฉลิมพระขวัญ
หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า ทำขวัญ
แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย
นอกจากนั้นแล้วยังมีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าควรจะสร้างสิ่งอันใดไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติด้วย
ซึ่งข้อตกลงนี้เห็นควรให้รอมติต่อเมื่อรู้ยอดเงินเฉลิมพระขวัญเสียก่อน
 |
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าทหาวชิราวุธ
สยามมกุฎราชกุมาร
ประธานกรรมการเรี่ยไรเงินจัดสร้างพระบรมรูปทรงม้าเฉลิมพระขวัญในวโรกาส
ทรงเป็นผู้แทนพสกนิกรชาวไทยกราบบังคมทูลถวายพระรูปทรงม้าในการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ |
ต่อมาในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๓
ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในกระทรวงยุติธรรม
อันเนื่องมาจาก คดีพญาระกา
เป็นเหตุให้พระเจ้าลูกยาเธอ
กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์)
กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
และผู้พิพากษาซึ่งเป็นศิษย์ในพระองค์อีก ๒๘ นาย
ได้พร้อมกันนัดหยุดงานและกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งตามเสด็จเสนาบดีผู้ทรงเป็นพระอาจารย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปทรงจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ในกระทรวงยุติธรรมจนเหตุวุ่นวายนั้นสงบลง
ผู้พิพากษาที่กราบถวายบังคมลาออกนั้นพากันสำนึกผิดและได้รับพระราชทานอภัยโทษให้กลับเข้ารับราชการแล้ว
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ทรงกำกับราชการในกระทรวงนั้นต่อมาตราบจนสิ้นรัชสมัย
 |
พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)
เมื่อครั้งเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์
ราชเลขานุการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้าทหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร |
แม้นว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะทรงมีพระราชภารกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อทรงว่างจากพระราชกิจทั้งปวงก็ได้ทรงอุทิศพระองค์เป็นครูพระราชทานการอบรมสั่งสอนวิชากฎหมาย
การทหาร การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์สากล
ประวัติศาสตร์สากล
และภาษาอังกฤษแก่มหาดเล็กข้าในกรม
โดยมีหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล) [๓]
ราชเลขานุการในพระองค์เป็นครูผู้ช่วย
ทั้งยังได้ทรงเป็น
พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและวิชาทหารพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา
เมื่อทรงเตรียมพระองค์จะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษด้วย
ในส่วนของวิชาการทหารนั้น
นอกจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะโปรดให้มหาดเล็กข้าในพระองค์ได้ฝึกระเบียบแถวอันเป็นรากฐานของการฝึกหัดวิชาทหารแล้ว
ยังได้ทรงสอนวิธีการสืบข่าว การสอดแนม
ทั้งยังโปรดให้มีการเล่นซ้อมรบในเวลากลางคืนทั้งที่พระตำหนักจิตรลดา [๔]
และพระราชอุทยานสราญรมย์
แล้วได้ทรงนำการเล่นซ้อมรบนั้นไปปรับใช้กับการฝึกหัดเสือป่าและลูกเสือเมื่อเสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว
นอกจากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังได้ทรงจัดให้มีการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกหลายคราว
เริ่มจากปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทรงนำการทดลอง The New
Republic หรือ สาธารณรัฐใหม่
จากกรุงปารีสมาทรงทดลองกับข้าราชบริพารในพระองค์ที่
เมืองมัง [๕]
ซึ่งโปรดให้สร้างเป็นเมืองจำลองประกอบด้วยหมู่บ้าน
แม่น้ำ ถนน รถราง สวนและสนาม
ในบริเวณสวนอัมพวันด้านหลังพระตำหนักจิตรลดา
เมืองจำลองนี้คงดำเนินการต่อเนื่องมาได้ราว ๑
ปีก็ต้องยุติลง
เพราะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงผนวช ถึงปี พ.ศ.
๒๔๔๙
ทรงเริ่มนำระบบพรรคการเมืองและวิธีดำเนินการประชุมของรัฐสภาอังกฤษมาทดลองปฏิบัติจริงที่
สมาคมครึ (Gri Society) ที่พระตำหนักจิตรลดา
มีสมาชิกกว่า ๑๐๐ คน
ประกอบไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยที่เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ
รวมตลอดทั้งข้าราชบริพารในพระองค์
ทรงกำหนดให้สมาชิกทุกคนต้องเป็นผู้แทนของเมืองใดเมืองหนึ่ง
และต้องสังกัดพรรคการเมืองพรรคหนึ่งระหว่างพรรคสุภาพบุรุษ
หรือพรรคแรงงาน ทรงจัดให้มีการเลือกตั้งทุกเดือน
พรรคใดได้รับเลือกตั้งมากกว่า
ก็จะจัดส่งสมาชิกจำนวน ๙ คน
เข้าบริหารและจัดการส่งเสริมการกีฬาและการละครตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงรื้อฟื้น เมืองมัง
ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
โปรดให้สร้างเรือนแถวยาวขึ้นในบริเวณสวนอัมพวัน
แล้วโปรดเกล้าฯ
ให้ข้าราชบริพารในพระองค์พักอยู่ห้องละ ๒ คน
ดำเนินการบริหารแบบ นคราภิบาล (Municipality)
ประกอบด้วยนคราภิบาล (นายกเทศมนตรี) โยธาภิบาล
เลขาธิการ และเชษฐบุรุษ (ผู้แทนราษฎร)
มีกองตำรวจดับเพลิง หนังสือพิมพ์ ชวนหวว
และธนาคารชื่อ แบงค์ลีฟอเทีย [๖]
เพื่อฝึกหัดข้าราชบริพารในพระองค์ให้รู้จักการออมทรัพย์ด้วย
 |
ธนบัตรลีฟอเทีย ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้าทหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ
ใช้แทนเงินสดซึ่งโปรดเกล้าฯ
ให้นำฝากไว้ที่จิตรลดาธนาคาร |
อนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงสนพระราชหฤทัยในวิชาอักษรศาสตร์มาแต่ยังทรงพระเยาว์
เมื่อประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ทรงออกวารสารรายสัปดาห์เป็นภาษาอังกฤษชื่อ
The Screech Owl
มีเนื้อหาเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดสำหรับเด็กอ่านเล่น
และหนังสือพิมพ์ชื่อ The Looker - On
อันเป็นต้นกำเนิดของ สามัคคีสาร
ซึ่งเป็นวารสารของสามัคคีสมาคมในประเทศอังกฤษ
ครั้นเสด็จนิวัติพระนครแล้วทรงจัดตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๔๗ เพื่อส่งเสริมการประพันธ์และการละคร
ทั้งยังได้ทรงออกวารสารรายเดือนของทวีปัญญาสโมสรชื่อ
ทวีปัญญา โดยมีบทความสารคดี กวีนิพนธ์ นิทาน
และบทชวนหัวลงพิมพ์ต่อเนื่องกันทุกเดือนด้วย
ส่วนกิจการโขนละครนั้น
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลาย
พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น ได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่า
วิชาโขนละครซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยกำลังจะสูญไป
เพราะขาดผู้อุปถัมภ์และส่งเสริม จึงทรงขอครูโขน ๓
คน จากเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์
(หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) คือ
ครูพระ นาง ขุนนัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) [๗]
ครูยักษ์ ขุนระบำภาษา (ทองใบ สุวรรภารต) [๘]
ครูลิง ขุนพำนักนัจนิกร (เพิ่ม สุครีวกะ) [๙]
มาฝึกหัดมหาดเล็กข้าในพระองค์เพื่อสืบทอดวิชาดังกล่าวมิให้สูญ
ดังมีพยานปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร์
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [๑๐]
กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ ร.ศ. ๑๒๙
(พ.ศ. ๒๔๕๓) ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
...มีอยู่อีกฃ้อ ๑
ซึ่งฃ้าควรจะบอกเจ้าไว้
คือมีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยฝึกหัดวิชาโขนอยู่แล้ว
ถ้าจะทิ้งเสียฃ้าก็ออกเสียดาย
เพราะวิชานี้มันจะสูญอยู่แล้ว
ยังมีที่หวังอยู่แต่ในพวกนี้
เพราะฉนั้นฃ้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาสฝึกซ้อมต่อไปตามสมควร...
[๑๑]
 |
พระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เมือวันที่ ๘ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔ |