๒๗.
หัวหน้า
คำว่า หัวหน้า นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.
๒๔๙๓ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า "ผู้ออกหน้า,
นายงาน,
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่หนึ่งๆ" แต่คำว่า
"หัวหน้า"
หรือ Prefect ในโรงเรียนพับลิคสกูล
ซึ่งมุ่งหมายให้นักเรียนปกครองกันเองนั้น
หัวหน้าคือนักเรียนชั้นโตที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมคณะหรือร่วมบ้านให้เป็นผู้ปกครองนักเรียนทั้งหมดในคณะ
จึงนับได้ว่า
ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านั้นย่อมเป็นผู้มีเกียรติเหนือกว่านักเรียนทั้งปวงในโรงเรียน
 |
หัวหมื่น พระยานเรนทรราชา (ม.ล.อุรา
คเนจร)
เจ้ากรมอัศวราชในรัชกาลที่ ๖
หัวหน้านักเรียนมหาดเล็กหลวงคนแรก |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน
ณ อยุธยา)
กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ได้จัดประชุมครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนขึ้นในวันเดียวกันนั้น
และในวันเดียวกันนั้นที่ประชุมก็ได้มีมติเลือกนักเรียนมหาดเล็กหลวง
หม่อมหลวงอุรา คเนจร เลขประจำตัว ๓
ซึ่งเป็นนักเรียนอาวุโสให้เป็นหัวหน้านักเรียนคนแรก
และเมื่อหม่อมหลวงอุรา คเนจร
สำเร็จการศึกษาและได้ออกรับราชการเป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราชแล้ว
ประกอบกับโรงเรียนได้ย้ายมาเปิดทำการที่สวนกระจังซึ่งมีการจัดแบ่งเรือนพักนักเรียนเป็นเรือน
ก, ข, ค, ง และ จ แล้ว
ก็ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งนักเรียนอาวุโสเป็นหัวหน้านักเรียนประจำเรือนต่างๆ
ต่อๆ กันมา คงเรียกหัวหน้านักเรียนนั้นว่า หัวหน้าเรือน
มาจนการก่อสร้างอาคารถาวรที่สี่มุมโรงเรียนแล้วเสร็จ
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนคำเรียกที่พักนักเรียนจากเรือนที่ยืมมาจากคำว่า
House ในพับลิคสกูลของอังกฤษมาเป็นคำว่า "คณะ"
อันหมายถึงหมู่ที่พักสงฆ์ในพระอารามแล้ว
ตำแหน่งหัวหน้าเรือนก็เปลี่ยนมาเรียกว่า หัวหน้าคณะ
แต่นั้นมา
เครื่องหมายของหัวหน้านั้นแต่เดิมมาจะมีรูปลักษณะเป็นที่สังเกตเช่นผู้เป็นหัวหน้าในพับลิคสกูลของต่างประเทศ
เช่น เครื่องหมายหัวหน้าของ The Malay College นั้น
เป็นเหรียญโลหะเครื่องหมายตราโรงเรียนที่นักเรียน The
Malay College ใช้ประดับที่อกเสื้อกันทุกคน
ต่างกันตรงที่ผู้เป็นหัวหน้าจะมีแถบสีหมายคณะพร้อมอักษรว่า
Prefect และ Head Prefect ที่ตอนล่างของตราสัญลักษณ์นั้น
แต่เครื่องหมายหัวหน้านักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นไม่พบหลักฐานแน่ชัด
และเท่าที่สอบถามท่านักเรียนเก่าอาวุโสหลายท่านๆ
ก็ว่าจำไม่ได้ว่ามีหรือไม่
ต่อมาในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)
มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น
ได้จัดให้หัวหน้ามี "ไม้เท้า"
เป็นสัญลักษณ์สำหรับตำแหน่งหัวหน้า
 |
ไม้เท้าเสือป่าซึ่งเป็นต้นแบบไม้เท้าหัวหน้าวชิราวุธวิทยาลัย
ในสมัยพระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้บังคับการ |
ไม้เท้าหัวหน้าในสมัยพระยาปรีชานุสาสน์นั้น
นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย พลตำรวจเอก สมาน ธูปะคุปต์
อดีตหัวหน้านักเรียนเคยถือมารับเสด็จในงานบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีอยู่หลายปี
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อ พล.ต.อ.สมาน ธูปะคุปต์
ถึงอนิจกรรม และคุณอำภา ธูปะคุปต์
ภรรยาของท่านล้มเจ็บลงแล้ว
ผู้เขียนได้ไปสอบถามถึงไม้เท้าหัวหน้านี้แต่ทายาทของท่านแจ้งว่ามอบให้โรงเรียนไปแล้ว
ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นโรงเรียนอะไร
เพราะที่วชิราวุธวิทยาลัยมิได้รับมอบไม้เท้านี้ไว้
รูปลักษณะไม้เท้าหัวหัวหน้าสมัยพระยาปรีชานุสาสน์นี้คล้ายกับไม้เท้าเสือป่า
ซึ่งเป็นเครื่องหมายเกียรติยศของนายเสือป่าตั้งแต่ชั้นนายหมู่ใหญ่ขึ้นไป
กล่าวคือ
มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็งกลมกลึงค่อยเรียวลงจากยอดสู่ปลาย
ยาวตลอดจากยอดถึงปลายราว ๑ เมตร
ที่หัวและปลายไม้เท้าหุ้มโลหะสีเงิน (ไม้เท้าเสือป่าเป็นโลหะสีทอง)
และมีตราพระมนูแถลงสารติดที่โคนไม้เท้าตอนบนแทนปลอกอักษรพระบรมนามาธิไธย
ว.ป.ร. ในไม้เท้าเสือป่า
เนื่องจากไม้เท้าหัวหน้าหัวหน้านี้เป็นของพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะตัวแก่ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินในงาน
ประจำปีของโรงเรียนเพราะเกิดเหคุไม่สงบขึ้นในพระนครในเดือนตุลาคม
พ.ศ. ๒๔๗๖
จนเสด็จออกไปประทับรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศในเวลาต่อมา
การแต่งตั้งหัวหน้านักเรียนโดยการพระราชทานไม้เท้าหัวหน้าเป็นเกียรติยศนี้จึงเป็นอันเลิกไปโดยปริยาย
 |
เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑
พร้อมแพรแถบสีเหลืองริ้วดำ
บำเหน็จความชอบในพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน
เมื่อพระบทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษามาประทับเป็นการถาวรในพระนครแล้ว
ก็มิได้มีการพระราชทานไม้เท้าหัวหน้าอีกเลย
แต่ในยุคหลังนี้ได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ของหัวหน้ามาเป็นเข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ
ว.พระมหามงกุฎในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวลงยาสีน้ำเงิน
ประดับบนแพรแถบสีเหลืองริ้วดำ
ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงใช้แพรแถบนี้ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์บำเหน็จความความชอบในพระองค์
เช่น รัตนวราภรณ์ รัตนวราภรณ์ ฯลฯ
การแต่งตั้งหัวหน้าในยุคหลังนี้แบ่งเป็น ๒ ช่วงเวลา
กล่าวคือ
ช่วงแรกนั้นการแต่งตั้งหัวหน้าจะกระทำที่ห้องประชุมสวดมนต์ไหว้พระของแต่ละคณะ
พิธีเริ่มขึ้นเมื่อท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา
เดินทางไปถึงแต่ละคณะเริ่มจากวันแรกคณะผู้บังคับการ
และถัดไปคณะดุสิต คณะจิตรลดา และคณะพญาไท
วันละคณะจนครบทั้งสี่คณะ
ครั้นที่ประชุมพร้อมแล้วพร้อมแล้วท่านผู้บังคับการกล่าวขอญัตติต่อที่ประชุม
โดยเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะต่อที่ประชุมนักเรียนในคณะ
หากนักเรียนในคณะเห็นว่าผู้ใดมีความประพฤติไม่เหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าคณะให้ส่งเสียงคัดค้าน
หากเห็นสมควรให้คงดุษณีภาพนิ่งอยู่ เมื่อถามครบ ๓ ครั้ง
เหมือนพระอุปัชฌาย์ถามญัตติในพิธีอุปสมบทพระสงฆ์ในพระบวรพุทธศาสนา
เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ทานผู้บังคับการจึงเรียกผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าออกไปทีละคน
และถามผู้ถูกเรียกนั้นเรียงตามลำดับทีละข้อ ดังนี้
๑) จะทำตามหน้าที่ๆ
คณะมอบหมายให้เพื่อนำความดีมาสู่คณะและเกียรติมาสู่วชิราวุธวิทยาลัยได้หรือไม่
๒)
จะดูแลทุกข์สุขของเพื่อนร่วมคณะทุกประการได้หรือไม่
๓)
จะว่ากล่าวตักเตือนเพื่อนร่วมคณะให้ประพฤติตนให้เหมาะสม
เพื่อจะได้เป็นกำลังของประเทศชาติต่อไปได้หรือไม่
เมื่อผู้ที่จะได้เป็นหัวหน้าตอบรับแต่ละข้อว่าทำได้
ท่านผู้บังคับการก็ให้ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพุทธรูป พระบรมรูป
ท่านผู้บังคับการ ท่านผู้กำกับคณะ
ครูผู้ช่วยและนักเรียนในคณะ เมื่อปฏิญาณตนทีละคนเสร็จแล้ว
ท่านผู้บังคับการจึงได้ประกาศนามผู้ที่ได้กล่าวคำปฏิญญานั้นเป็นหัวหน้าคณะคนหนึ่ง
แล้วมอบเครื่องหมายเครื่องหมายหัวหน้าให้
พร้อมกับแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้า
การแต่งตั้งหัวหน้าที่คณะต่างๆ
ตามที่บรรยายมานั้นน่าจะดำเนินมาชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี
เพราะเมื่อผู้เขียนเข้ามาเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยใน
พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้น
ก็ได้เห็นพิธีแต่งตั้งหัวหน้าบนหอประชุมในพิธีไหว้ครูประจำปี
(จากการสืบค้นดูเหมือนว่า
การแต่งตั้งหัวหน้าในพิธีไหว้ครูจะได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ.
๒๕๐๗ นี้เอง)
โดยการแต่งตั้งหัวหน้านี้จะเริ่มขึ้นเมื่อนักเรียนคณะเด็กเล็กแถวสุดท้ายเข้ามากราบบูชาพระคุณครูเสร็จแล้ว
ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทุกคณะจะมายืนพร้อมกันที่ระเบียงข้างด้านเหนือของหอประชุม
แล้วเดินเข้าไปยื่นตรงหน้าท่านผู้บังคับการทีละคณะ
ท่านผู้บังคับการจะตั้งกระทู้ภามว่า เธอทราบหรือไม่ว่า
หัวหน้าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อผู้ที่จะได้รับแต่งตังเป็นหัวหน้าตอบรับ
และกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกันต่อหน้าพระพุทธรูป พระบรมรูป
ท่านผู้เป็นประธาน (ในกรณีที่มีผู้เป็นประธานอื่นนอกจากท่านผู้บังคับการ)
ท่านผู้บังคับการ ท่านผู้กำกับคณะ ครู และนักเรียนทุกคนว่า
๑. ผม (ออกนาม และนามสกุล)
จะรักษาระเบียบวินัยโดยเคร่งครัดและทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
เพื่อนำความดีมาสู่คณะ และนำเกียรติมาสู่วชิราวุธวิทยาลัย
๒. ผมจะดูแลทุกข์สุขของนักเรียนร่วมคณะ
ให้เป็นไปตามทางที่ชอบ
๓.
ผมจะกล่าวตักเตือนนักเรียนร่วมคณะให้ประพฤติตนให้เหมาะสม
จะได้เป็นกำลังของประเทศไทยต่อไป
 |
ครูอรุณ แสนโกศิก ผู้กำกับคณะจิตรลดา
ประดับเข็มหัวหน้าให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้า |
เมื่อกล่าวคำปฏิญาณจบลงแล้ว
ท่านผู้บังคับการมอบเข็มเครื่องหมายให้แก่หัวหน้าใหม่
ซึ่งจะ
ถือเข็มเครื่องหมายนั้นไปส่งให้ท่านผู้กำกับคณะที่ยืนรออยู่อีกฟากหนึ่ง
เพื่อท่านกลัดเข็มเครื่องหมายหัวหน้าให้ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
เมื่อครบทุกคนแล้ว
ท่านผู้เป็นประธานหรือท่านผู้บังคับการกล่าวให้โอวาท
เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งตั้งหัวหน้าในแต่ละปี
การกล่าวคำปฏิญาณของหัวหน้านี้ดูเหมือนจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในสมัย
ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยาเป็นผู้บังคับการ
ซึ่งดูเหมือนผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าจะเข้ามายืนกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกันทุกคณะ
แล้วจึงเข้ารับมอบเข็มหัวหน้าจากท่านผู้บังคับการเรียงลำดับทีละคน
แล้วจบลงด้วยท่านผู้บังคับการให้โอวาทเช่นทุกปี
|