๒๙.
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับ
วชิราวุธวิทยาลัย
(ตอนที่ ๒)
ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
พร้อมกับพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใหม่ว่า
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙
แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)
ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคงเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อมา
ในการบริหารจัดการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีกรรมการจัดการทำหน้าที่บริหารโรงเรียนต่างพระเนตรพระกรรณมาตั้งแต่เดือนเมษายน
พ.ศ. ๒๔๖๙
และสภากรรมการก็ได้มีการประชุมวางระเบียบการของโรงเรียนมาเป็นลำดับ
ทั้งนี้เมื่อสภากรรมการประชุมตกลงกันแล้ว
มีพระราชกระแสดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งไว้ว่า
ให้สภานายกทำรายงานการประชุมส่งขึ้นไปทูลเกล้าฯ
ถวายเพื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
หากมีพระราชดำริประการใดจะพระราชทานพระราชกระแสลงมาให้กรรมการทราบและดำเนินการให้ต้องด้วยกระแสพระราชดำริต่อไป
ทว่าเมื่อสภากรรมการดำเนินการประชุมเพื่อวางระเบียบการของโรงเรียนมาได้เพียง
๓ ครั้ง
ก็เกิดความขัดแย้งในเรื่องกำหนดอายุของนักเรียนที่จะรับเข้าเรียน
จนลุกลามกลายเป็นเหตุขัดแย้งระหว่างพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น
ศยามานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ
และกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย กับพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ
ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
และผู้บังคับการได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว
ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้นัดประชุมสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔
ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
และได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นประธานในการประชุมครั้งนั้น
นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระบรมราโชบายในการบริหารโรงเรียน
แต่ความขัดแย้งระหว่างพระยาไพศาลศิลปะสาตร์กับพระยาบรมบาทบำรุงยังคงดำเนินต่อมา
จนถึงขั้นที่พระยาไพศาลศิลปสาตร์ประกาศในที่ประชุมสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยว่า
หากให้พระยาบรมบาทบำรุงคงเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อไปแล้ว
ตนก็จะขอลาออกจากกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายพระยาบรมบาทบำรุงออกจากตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยไปเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์
แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาปรีชานุสาสน์ย้ายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่เดือนมกราคม
พ.ศ. ๒๔๖๙
ต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนแปลงกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยเสียใหม่
ประกอบกับพระยาปรีชานุสาสน์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทำการแทนปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายพระยาบรมบาทบำรุงกลับมาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้ง
ซึ่งในการกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในครั้งหลังนี้
พระยาบรมบาทบำรุงได้มีโอกาสจัดโรงเรียนชั้นเด็กเล็กซึ่งได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ครั้งพระยาปรีชานุสาสน์ยังเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่งในที่ดินพระราชทานฝั่งทิศเหนือของถนนสุโขทัย
และได้เริ่มเปิดรับนักเรียนชั้นชั้นประถมเข้าเรียนในโรงเรียนเด็กเล็กซึ่งต่อมาเรียกกันว่า
คณะเด็กเล็ก มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
*********************************
ตึกพยาบาล
สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระตำหนักพญาไทเป็นที่ประทับทรงสำราญพระราชอิริยาบถที่ทุ่งนาพญาไท
และเมื่อเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคม
พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักพญาไทนี้ตลอดมาตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่
๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
 |
พระตำหนักสมเด็จฯ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายจกวังพญาไท
มาปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง |
เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จสวรรคตแล้ว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ในบริเวณวังพญาไท
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักพญาไทไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
พระราชทานชื่อว่า พระตำหนักสมเด็จฯ
และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอเรียนวิทยาศาสตร์นี้เมื่อวันที่
๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓
โรงเรียนจะได้ใช้พระตำหนักพญาไทเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานานเพียงไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
คงพบหลักฐานแต่เพียงว่าในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ
ปันยารชุน) เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น
โรงเรียนได้จัดพระตำหนักสมเด็จฯ
นี้เป็นตึกพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย
โดยเว้นห้องพระบรรทมที่สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตนั้นไว้เป็นห้องสักการะ
และคงประดิษฐานพระบรมฉาลาลักษณ์สมเด็จพระพันปีหลวงขนาดเท่าพระองค์ไว้ที่ผนังตรงกับบันไดทางขึ้นพระตำหนัก
ซึ่งนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยกรุ่ม สุรนันทน์
เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
เวลาไปนอนป่วยที่ตึกพยาบาลที่นักเรียนมักจะเรียกกันว่า โรงหมอ
นั้น
พอเดินขึ้นไปและจะต้องผ่านพระบรมฉายาลักษณ์องค์นั้นครั้งไร
นักเรียนทุกคนจำต้องย่อตัวเป็นการถวายเคารพและพอก้าวพ้นไปจากบันไดนั้นแล้วต่างก็มักจะรีบเดินให้พ้นไปจากพระบรมฉายาลักษณ์องค์นั้นด้วยเกรงในพระบารมี
ต่อมาพระยาปรีชานุสาสน์ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
เนื่องจากโรงเรือซึ่งโรงเรียนจัดให้เป็นเรือนพักของผู้บังคับการที่ด้านทิศเหนือของเนินหอนานั้น
มีขนาดเล็กและคับแคบไม่พอรองรับครอบครัวใหญ่ซึ่งมีบุตรธิดากว่าสิบคน
จึงใคร่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายจากโรงเรือขึ้นไปอาศัยที่พระตำหนักสมเด็จฯ
ซึ่งเวลานั้นโรงเรียนใช้เป็นตึกพยาบาลแทน
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า
การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จฯ
ซึ่งเมื่อครั้งที่เสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษได้เคยเสด็จมาประทับอยู่ด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง
ก่อนที่จะทรงแยกออกไปประทับที่วังศุโขทัย
มาปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยายาศาตร์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นก็ได้เป็นที่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยอยู่แล้ว
ยิ่งมาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า
โรงเรียนได้จัดให้เป็นตึกพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย
และให้นักเรียนขึ้นไปนอนพักรักษาตัวบนพระตำหนักฯ เช่นนั้น
ยอ่งไม่เป็นการต้องด้วยพระราชนิยม
ซ้ำร้ายพระยาปรีชานุสาสน์ยังจะมาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขึ้นไปพักอาศัยในพระตำหนักสมเด็จฯ
เช่นนี้ ยิ่งไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยนัก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จฯ
ไปปลูกสร้างถวายเป็นเสนาสนะของพระสงฆ์วัดราชาธิวาส
ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักสมเด็จฯ ไปถวายวัดราชาธิวาสแล้ว
โรงเรียนจึงไม่มีตึกพยาบาลไว้พยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย
นายกกรรมการโรงเรียนจึงได้ถวายฎีกาว่า
ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อๆ กันมาแต่โบราณนั้น
เมื่อผู้ใดรื้อถอนหรือเอาทรัพย์ของสงฆ์ไปเพื่อการใดๆ ก็ตาม
ย่อมต้องทำผาติกรรมชดเชยให้สงฆ์ในราคาที่ไม่น้อยกว่าทรัพย์ของสงฆ์ที่ต้องสูญสลายไป
และโดยที่วชิราวุธวิทยาลัยนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาขึ้นเป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล
ฉะนั้นการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อถอนพระตำหนักสมเด็จฯ
ไปถวายเป็นเสนาสนะของสงฆ์วัดราชาธิวาส
ก็ย่อมจะต้องทรงทำผาติกรรมชดเชยให้วชิราวุธวิทยาลัย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๒,๙๐๐ บาท
ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ล. สุขยางค์)
และหลวงวิศาลิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา)
ออกแบบจัดสร้างตึกพยาบาลพระราชทานในพื้นที่ว่างระหว่างคณะปรีชานุสาสน์
(คณะผู้บังคับการ กับคณะประตองวิชาสมาน (คณะดุสิต) แล้ว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ
กรมขุนชัยนาทนเรนทร [๑]
เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกพยาบาลนี้พร้อมกับตึกวชิรมงกุฎ
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕
|