 |
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
พระราชวังสนามจันทร์ |
กีฬาในร่มที่ทรงเล่นบ้าง คือ บิลเลียด
ซึ่งมีโต๊ะบิลเลียดอยู่ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร
ณ พระราชวังบางปะอินโต๊ะหนึ่ง
ที่โรงแรมเมโทรโปลในเมืองจำลองดุสิตธานีอีกโต๊ะหนึ่ง
ส่วนโต๊ะที่อยู่บนทางข้ามคลองระหว่างพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์นั้นเป็นโต๊ะเล็กไม่มีหลุม
ได้แต่เล่นแคนนอน นอกจากนั้นก็มีกีฬา Fives
ที่ตามปกติต้องเล่น ณ ที่มีกำแพงนั้น ทรงนำมาทรงที่โต๊ะบิลเลียด
ใช้มือ ไม่ใช้คิว
ส่วนกีฬาไพ่ที่ทรงนั้น
มิใช่ไพ่ไทยหรือไพ่ฝรั่งแบบโปเกอร์ (Poker)แต่ทรงเลือกจากตำราไพ่กว่า
๑๐๐ ชนิด มาทรงเล่นเพื่อผ่อนคลายพระราชอิริยาบถ
มักจะทรงไพ่ตั้งแต่เสวยพระกระยาหารค่ำเสร็จ
ไปจนถึงเวลาเสด็จเข้าห้องพระบรรทม
การทรงไพ่นี้มีกติกาสำคัญว่า
ผู้แพ้ต้องเสียเงินเพื่อนำไปสมทบสร้างเรือพระร่วงหรือการสาธารณกุศลต่างๆ
ส่วนผู้ชนะจะไม่ได้เงินไป
และในระหว่างที่ทรงไพ่นี้มักจะทรงเล่าเรื่องต่างๆ
ให้ฟัง อันถือเป็นการสอนและการอบรมโดยทางอ้อม
แต่กีฬาที่โปรดมากอีกชนิดหนึ่ง คือ
กรรเชียงเรือ ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ได้เล่าไว้ใน "อัตชีวประวัติ
ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล"
ว่า
"แต่อะไรก็ไม่โปรดเท่าตีกรรเชียงเรือ
ที่พระราชวังบางปะอินทรงมีเรือหลายอย่าง เช่น
เรือยนต์ทาสีน้ำเงิน ๖ ลำ เราเรียกว่าเรื่อน้ำเงิน
แต่ ๑ ใน ๖ เท่านั้นที่มีปล่อง และทรงใช้ทำนอง เรือธง
ของทหารเรือ
มักจะทรงเรือน้ำเงินออกไปกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
แปรขบวน แสดงวิธียุทธทางเรือต่างๆ
เมื่อถึงฤดูที่น้ำจะมาราวเดือนกันยายน
มักเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตีกรรเชียงที่แม่น้ำเจ้าพระยาแถบพระราชวังบางปะอิน
ทรงตีกรรเชียงเรือเล็ก มี ม.จ.ดิศศานุวัตร เป็นคู่
เจ้าคุณอนิรุทธเทวาถือท้าย นายจ่ายวด (ปาณี
ไกรฤกษ์) เป็นคู่ผลัด ดังนั้น
จะเสด็จพระราชดำเนินทรงตีกรรเชียงเมื่อใด
ข้าพเจ้าก็ต้องอยู่ขาดมิได้ มักจะเสด็จไปไกลๆ
หยุดพักเสวยพระสุธารส เครื่องว่าง แล้วกลับ
บางทีเรือน้ำเงินก็ต้องจูงกลับ
มีวันหนึ่ง ทรงกรรเชียงไปไม่ไกลนัก
แต่เกิดมีพายุฝนขึ้นทันที มองอะไรไม่เห็นเลย
ต้องพึ่งความเคยชินพาเรือกลับ แต่ก็ทำไม่ได้
น้ำฝนนองอยู่ในเรือมากขึ้น อาจจมลงเมื่อใดก็ได้
แต่ในที่สุดเรือน้ำเงินก็แล่นมาเทียบ
รับเสด็จขึ้นเรือยนต์นั้น จึงได้ทรงปลอดภัย |
 |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ขณะทรงพายเรือ "แหกตา" ที่สระน้ำ
พระราชวังบางปะอิน |
ความที่โปรดเรือ
ทำให้มีคนนำเรือมาทูลเกล้าฯถวายกันบ้าง
เรือที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายลำเล็กลำหนึ่ง
สมมุติว่าสวยมาก จึงพระราชทานชื่อว่า "เรือแหกตา"
มีความหมายว่าแล่นไปทางไหนคนก็ต้องแหกตาดู"
[๑] |
ส่วนที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖
กล่าวถึงการที่มหาดเล็กและราชองครักษ์ต้องล้อมวงถวายอารักขาเวลาเสด็จลงสรงน้ำทะเลนั้น
ก็เป็นการจุกช่องล้อมวงถวายอารักขาตามพระราชประเพณี
ทั้งในเวลาเสด็จลงสรงน้ำทะเลหรือน้ำตก
แม้ในรัชกาลปัจจุบันก็ยังมีการจุกช่องล้อมวงถวายอารักขาในเวลาเสด็จลงสรงน้ำเช่นนี้เหมือนกัน
อนึ่ง
เมื่อเสวยพระกระยาหารค่ำเสร็จในเวลาราว ๒๓.๐๐ น.
แล้ว ก็มักจะทรงพระสำราญด้วยการเล่นต่างๆ ทั้งทรง
ฝึกซ้อมโขน ละคร
ทรงไพ่บริดจ์ร่วมกับมหาดเล็กผู้ใหญ่
และทรงเล่นละครปริศนา ดัมบ์ แครมโบ (Drum Crambo)
ซึ่งเป็นการเล่นทายคำพังเพย
นอกจากนั้นยังทรงคิดการเล่นอีกหลายอย่างให้มหาดเล็กเล่น
เช่น "ให้ฝ่ายหนึ่งนำเอกสารสำคัญมาทูลเกล้าฯ
ถวายให้จงได้ภายในเวลาที่กำหนด
และมีอีกฝ่ายหนึ่งคอยป้องกันไม่ให้กระทำสำเร็จ"
[๒]
การทรงเล่นรวมทั้งการฝึกซ้อมและจัดแสดงโขน
ละคร ในเวลากลางคืนนี้
นอกจากจะเป็นการทรงเล่นเพื่อทรงพระสำราญและเป็นเครื่องฝึกไหวพริบ
วางแผน และใช้กำลังกายของมหาดเล็กแล้ว
ยังทรงใช้บทละครพระราชนิพนธ์เป็นเครื่องมือให้ความรู้แก่พสกนิกร
เช่น ละครเรื่องหัวใจนักรบ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของเสือป่าในการป้องกันรักษาบ้านเมือง
และการทำหน้าที่ผู้ช่วยทหารในยามที่มีศึกสงครามมาประชิด
ทั้งเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่ามีข้าราชการผู้ใดต้องคำครหาประพฤติมิชอบ
ก็มักจะโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครปริศนา
และโปรดให้เชิญข้าราชการที่ต้องข้อครหานั้นมาชมละครซึ่งเรื่องที่จัดแสดงนั้นมักจะมุ่งแสดงถึงเรื่องที่ข้าราชการผู้นั้นถูกกล่าวหา
เป็นการป้องปรามมิให้ข้าราชการผู้นั้นประพฤติมิชอบอีกต่อไป
สำหรับเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงนั้น
นอกจากย่าเหล
ซึ่งทรงเลี้ยงมาแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
และเมื่อย่าเหลเสียชีวิตใน พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว
ก็ทรงเลี้ยงมารี
และต่อด้วยนันทากับมากาเร็ตมาตราบจนเสด็จสวรรคต
รายละเอียดในเรื่องสุนัขทรงเลี้ยงนี้ได้กล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่อง
"ย่าเหล และสุนัขทรงเลี้ยง"
ในเกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ ๖ แล้ว
 |
โต๊ะเสวยที่ห้องเสวยในพระที่นั่งพิมานจักรี
พระราชวังพญาไท |
ส่วนการถวายอยู่งานใต้โต๊ะในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น
เนื่องจากเป็นการประทับโต๊ะเสวยแบบฝรั่งเต็มรูป
มีเจ้านายและเสนาบดีตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำทุกวัน
ผู้ที่ร่วมโต๊ะเสวยเป็นประจำก็คงมีเจ้าพระยารามราฆพ
พระยาอนิรุทธเทวา และพระยาอุดมราชภักดี
ซึ่งทั้งสามท่านนี้ล้วนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เยาว์วัยจนได้รับราชการเป็นผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็ก
ในเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนี้มักจะโปรดให้มหาดเล็กซึ่งเป็นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันถวายอยู่งานนวดที่ใต้โต๊ะเป็นประจำทุกวัน
การถวายอยู่งานใต้โต๊ะนี้เล่ากันว่า
ใกล้เวลาที่จะเสด็จลงประทับโต๊ะเสวย
มหาดเล็กผู้เป็นเวรจะมุดเข้าไปนั่งอยู่ใต้โต๊ะตรงหน้าที่ประทับ
เมื่อประทับโต๊ะเสวยเรียบร้อยแล้ว
ก็เชิญพระบาทขึ้นวางบนตักแล้วถวายอยู่งานบีบนวดพระชงฆ์
เล่ากันว่า โต๊ะเสวยนั้นสูงไม่มากนัก
และผู้ถวายงานจะต้องใช้หน้าตักของตนรองรับพระบาทไว้ทำให้ขยับตัวได้ไม่สะดวก
จึงต้องคัดเลือกมหาดเล็กที่มีรูปลักษณ์ชนิดมะขามข้อเดียว
และมีข้อแข็ง และเป็นพวก "หูหนวกตาบอด" คือ
ไม่รับรู้รับทราบเรื่องที่เจ้านายท่านทรงคุยกัน
เพราะมักจะทรงปรึกษาข้อราชการสำคัญกับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยอยู่เป็นประจำ
ทุกเรื่องจึงต้องเก็บเป็นความลับหมด
หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า
เป็นการฝึกให้มหาดเล็กที่ถวายงานนวดที่ใต้โต๊ะเสวยนั้นได้เรียนรู้ข้อราชการและพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องนั้นๆ
ด้วย
เนื่องจากเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำนั้นเริ่มตั้งแต่สามทุ่ม
กว่าจะเสวยเสร็จก็ใกล้เที่ยงคืน
จึงมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า
บางคราวมหาดเล็กที่เป็นเวรอยู่งานใต้โต๊ะนั้นมัวเพลินเล่นบิลเลียด
หรือเที่ยวเพลินจนมิได้รับประทานอาหารเย็นมาก่อน
พอได้เวลาประทับโต๊ะเสวยมหาดเล็กที่อยู่งานใต้โต๊ะนั้นก็จะใช้วิธีสะกิดขามหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้น
ท่านผู้ใหญ่นั้นก็จะกรุณาจัดแบ่งอาหารใส่จานเล็กส่งลงไปให้มหาดเล็กผู้อยู่งานใต้โต๊ะ
หรือบางทีไม่ทันใจก็จะไปหยิบอาหารที่จัดไว้ให้สุนัขทรงเลี้ยงที่ข้างโต๊ะเสวย
เจ้าสุนัขนั้นก็จะส่งเสียงขู่ให้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ
ก็จะมีรับสั่งว่า ไอ้พวกนี้แย่งหมากินอีกแล้ว
แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ทรงกริ้วแต่ประการใด
 |
พระยาสุจริตธำรง (อู๊ด สุจริตกุล) |
แม้กระนั้นในระหว่างที่ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำนั้น
หากทรงกริ้วผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นมาก็มักจะทรงกระทืบพระบาทลงไปบนตักของมหาดเล็กนั้นเอง
และเป็นที่ทราบกันดีว่า
ยามที่ทรงกริ้วพระยาสุจริตธำรง (อู๊ด สุจริตกุล)
ซึ่งทรงนับว่าเป็นพระญาติสนิทนั้นจะทรงออกแรงมากเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่มหาดเล็กว่า
ไม่เคยมีใครถวายอยู่งานให้ในหลวงร้องว่าเจ็บได้เลย
แม้แต่พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตนานนท์) [๓]
ซึ่งมีชื่อในเรื่องถวายอยู่งานนวด
แต่แล้ววันหนึ่ง
"พอเสวยได้หน่อยเดียว ดูเหมือนพอซุบหมดจาน
ในหลวงทรงร้องโอย แล้วชักพระบาทขึ้นจากใต้โต๊ะ
ท่านที่นั่งร่วมโต๊ะเสวยพากันตกใจและประหลาดใจ
แต่ทันใดนั้นเองรับสั่งด้วยพระอาการขันๆ ว่า
อ้ายหมอนั่นมันบีบสันหน้าแข็งฉันเจ็บพิลึกบ้าแท้ๆ
บีบที่ไหนไม่บีบดันไปบีบสันหน้าแข้ง
แล้วก็ทรงพระสรวลพลางใช้พระหัตถ์เลิกผ้าปูโต๊ะ
แล้วทรงก้มลงไปใต้โต๊ะรับสั่งว่า นวดดีๆ ซีวะ
อ้ายปรื๊อ
ความที่ทรงจำฝีมือได้ก็ทรงเรียกชื่อได้ทุกคนโดยไม่ต้องเห็นหน้า
เขาผู้นั้นเป็นชาวภูเก็ต
ซึ่งมักทรงเรียกผู้เป็นชาวใต้ว่าปรี๊อ" [๔] |