๖๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการดนตรี (๒)
 |
พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร)
ปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ |
นอกจากกิจการดนตรีไทยที่ทรงสนับสนุนและส่งเสริมมาแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช
ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้พระประดิษฐ์ไพเราะ (เอวัน วาระศิริ)
[๑]
รวบรวมนักดนตรีไทยมาฝึกซ้อมเครื่องดนตรีสากลจนสามารถรวบรวมเป็นวงเครื่องสายฝรั่งหลวงหรือวงดุริยางค์สากล
(Symphony Orchestra) วงแรกของภาคพื้นเอเชีย
ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายขุนเจนรัถรถจากกรมรถไฟหลวง
มาประจำวงเครื่องสายฝรั่งหลวง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามและนามสกุลเป็นไทยว่า "ปิติ วาทยกร"
ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเจนดุริยางค์และพระเจนดุริยางค์
ปลัดกรมกองเคื่องสายฝรั่งหลวงตามลำดับ
วงเครื่องสายฝรั่งหลวงนี้
ได้ออกโรงบรรเลงเพลงคลาสสิคหน้าพระที่นั่ง ณ
โรงโขนหลวงสวนมิสกวันอยู่เสมอ
ทั้งยังได้ร่วมกับชาวต่างประเทศที่มีความสามารถทางดนตรีคลาสสิคจัดแสดงมหาอุปรากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามและภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
เริ่มจากอุปรากรเรื่อง คาเวลาเรีย
รัสติคาน่า และได้จัดแสดงเรื่องอื่นๆ
ต่อมาอีกหลายคราวตราบจนสิ้นรัชสมัย
ในตอนปลายรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "ศาลานรสิงห์"
หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "กาแฟนรสิงห์"
ขึ้นที่สนามเสือป่า ตรงมุมพระลานพระราชวังดุสิต
ด้านถนนศรีอยุธยา ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้พระเจนดุริยางค์ยกวงเครื่องสายฝรั่งหลวงมาบรรเลงเพลงประเภทไลท์มิสิคที่
"ศาลานรสิงห์" เป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา ๑๗.๐๐
- ๑๙.๐๐ น. ซึ่ง "ในวันนั้นบรรดาชาวต่างประเทศและผู้มียวดยานนำมาจอดฟังการบรรเลงดนตรีกันเป็นแพแน่นขนัด
การขายเครื่องดื่มและเครื่องยิโภคในวันนั้นจะมีรายได้สูงมาก
พวกเดินโต๊ะก็ได้ทิปกระเป๋าตุ่ยไปตามๆ กัน"
[๒]
 |
วงเครื่องสายฝรั่งหลวง |
การแสดงดนตรีที่ศาลานรสิงห์นี้
นอกจากจะทำให้นักดนตรีในวงเครื่องสายฝรั่งหลวงได้มีโอกาสฝึกฝีมือและออกแสดงเป็นประจำทุกวันโดยมีรายได้พิเศษตอบแทนแล้ว
ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนพรานหลวงที่ได้เล่าเรียนมาทางดนตรีสากลได้มีโอกาสฝึกฝีมือและออกแสดงตามควรแก่โอกาสด้วย
นอกจากวงเครื่องสายฝรั่งหลวงแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้ขยายการจัดตั้งแตรวงขึ้นในหน่วยทหารต่างๆ
และสำหรับแตรวงประจำกรมทหารบกม้าที่ ๑ รักษาพระองค์นั้น
โปรดเกล้าฯ
ให้จัดเป็นแตรวงบนหลังม้าเป็นวงแรกของภาคพื้นเอเชียอาคเนย์
และได้เริ่มบรรเลงนำขบวนในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคเมื่อวันที่
๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นครั้งแรก
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว
แตรวงบนหลังม้านี้ก็ได้ถูกยุบเลิกไป
แต่จะเป็นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
 |
กองแตรวงกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
บรรเลงนำขบวนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔ |
อนึ่ง
เมื่อทรงต้องกองเสือป่าขึ้นแล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งแตรวงประจำกรมกองเสือป่าด้วย
แต่สำหรับกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์
ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วประดุจกองทหารม้านั้นโปรดให้
"วิ่งเหยาะ"
ในเวลาสวนสนามแทนการเดินเช่นกรมกองเสือป่าอื่นๆ
ทั้งยังได้มีพระราชดำริที่จะจัดให้มี วงปี่สก๊อต
สำหรับบรรเลงนำแถวเสือป่าพรานหลวงในเวลาสวนสนามอีกด้วย
แต่พระราชประสงค์ดังกล่าวไม่สามารถเกิดมีขึ้นได้ในรัชสมัยเพราะไม่สามารถหาครูผู้สอนได้
แตรวงกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์จึงต้องบรรเลงเพลง
ค้างคาวกินกล้วย
ในเวลาที่เสือป่าพรานหลวงสวนสนามสืบมาตราบจนสิ้นรัชสมัย
ในส่วนพระองค์นั้นนอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้พระสุจริตสุดา
พระสนมเอก จัดตั้งวงมโหรีหญิงล้วนขึ้นในพระราชสำนักแล้ว
ยังได้พระราชทานคำแนะนำให้คุณสุมิตรา (สิงหลกะ) สุจริตกุล
คุณข้าหลวงเดี่ยวเปียโนเพลงไทยถวาย
โดยใช้มือซ้ายบรรเลงฆ้องวง
ส่วนมือขวาบรรเลงทำนองซอหรือระนาด และในเวลาที่ประทับ ณ
พระราชวังพญาไทในตอนปลายรัชกาลนั้น คุณสุมิตรา สุจริตกุล
ได้กรุณาเล่าไว้ว่า
เสวยพระกระยาหารเย็นเสร็จแล้วมักจะเสด็จประทับ ณ
ห้องพิพิธภัณฑ์ ภายในพระที่นั่งพิมานจักรีชั้นบน
โปรดให้ท่านผู้เล่าบรรเลงเดี่ยวเปียโนถวายตามวิธีการที่ทรงแนะ
บางคราวก็โปรดให้บรรเลงเปียโนร่วมกับวงดนตรีไทยของพระสุจริตสุดา
นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการวางรากฐานและการส่งเสริมกิจการดนตรีทั้งไทยและสากลแล้ว
ยังได้พบหลักฐานอีกว่า
เมื่อแรกเสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
ได้ทรงร่วมแสดงละครพูด เรื่อง "ปล่อยแก่" ของนายบัว
วิเศษกุล ในงานฉลองพระชนมายุครบ ๒๖ พรรษา ณ
โรงละครทวีปัญญา ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์
โดยทรงรับบทเป็นหลวงเกียรติคุณครรชิต
ทั้งได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องพระราชทานแก่ละครเรื่องนี้ไว้ถึง
๑๔ เพลง คือ
๑)
เพลงเขมรโล้เรือ |
เออผู้ชายไม่วายเป็นเจ้าชู้ ฯลฯ |
๒)
เพลงทองย่อน |
อยู่เดียวเปลี่ยวอกอนาถหนาว ฯลฯ |
๓)
เพลงโยนดาบ |
ผมขอบใจขอบใจที่ไมตรี ฯลฯ |
๔)
เพลงธรณีร้องไห้ |
โอ้ว่าอกเอ๋ยอกถนอม ฯลฯ |
๕)
เพลงสี่บท |
ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน ฯลฯ |
๖)
เพลงปี่แก้วน้อย |
ครานั้นพระไวยวิไลยโฉม ฯลฯ |
๗)
เพลงสร้อยเพลง |
ช่างกระไรใจหายเสียดายลูก ฯลฯ |
๘)
เพลงแป๊ะ |
เจ้าอยู่เดียวเปลี่ยวอกฟกอนาถ ฯลฯ |
๙)
เพลงลมพัดชายเขา |
รื่นกลิ่นลำดวนชวนเชย ฯลฯ |
๑๐)
เพลงขึ้นพลับพลา |
โฉมงามทรามสุดสวาทพี่ ฯลฯ |
๑๑)
เพลงชาตรี |
แม้สามารถจำแลงแปลงกาย ฯลฯ
|
๑๒)
เพลงโอ้โลม |
พิศพิศน่าประโลมโฉมเฉลา ฯลฯ |
๑๓)
เพลงลาวสมเด็จ |
แสนจะเปรมปรีดายุพาพาล ฯลฯ |
๑๔)
เพลงแขกบรเทศ |
พุทธานุภาพนำผล ฯลฯ |
เพลงพระราชนิพนธ์ที่สำคัญในเรื่องปล่อยแก่
ซึ่งต่อมาได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นบทร้อง
"ให้พรทั่วไป" ของนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
แล้วได้พระราชทานให้กระทรวงธรรมการเผยแพร่ไปยังโรงเรียนต่างๆ
ทั่วพระราชอาณาจักร คือ เพลง "แขกบรเทศ"
ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้
"พุทธานุภาพนำผล |
เกิดสรรพมงคลน้อยใหญ่ |
เทวาอารักษ์ทั่วไป |
ขอให้เป็นสุขสวัสดี |
ธรรมนุภาพนำผล |
เกิดสรรพมงคลเสริมศรี |
เทพช่วยรักษาปราณี |
ให้สุขสวัสดีทั่วกัน |
สังฆานุภาพนำผล |
เกิดสรรพมงคลแม่นมั่น |
เทเวศร์คุ้มครองป้องกัน |
สุขสวัสดิสรรพทั่วไป ฯ" |
ต่อจากนั้นเมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๓
แล้ว ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้องสำหรับเพลงต่าง ๆ
ไว้ในบทละครพระราชนิพนธ์อีกมาก
ดังที่ได้มีผู้รวบรวมบทพระราชนิพนธ์ซึ่งมีผู้นิยมนำไปขับร้องประกอบทำนองเพลงไทยถึง
๓๖ เพลง ดังนี้
๑)
เพลงพัดชา |
เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ฯลฯ |
๒)
เพลงสร้อยเพลง |
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง ฯลฯ |
๓)
เพลงฝรั่งรำเท้า |
เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์ ฯลฯ |
๔)
เพลงฝรั่งรำเท้า |
อันพวกเราหญิงชายทั้งหลายไซร้ ฯลฯ |
๕)
เพลงสร้อยสนตัด |
เสียแรงเกิดมาอย่าเสียที ฯลฯ |
๖)
เพลงแขกบรเทศ |
พุทธานุภาพนำผล ฯลฯ |
๗)
เพลงตวงพระธาตุ |
อันกำหนดกฎหมายทั้งหลายไซร้ ฯลฯ |
๘)
เพลเวสสุกรรม |
ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ฯลฯ |
๙)
เพลงขอมกล่อมลูก |
เอาพระคุณไตรรัตน์กระพัดจิต ฯลฯ |
๑๐)
เพลงวิลันดาโอด |
สาวน้อยจงจำคำข้าสอน ฯลฯ |
๑๑)
เพลงฝรั่งควง |
ลูกนี้จะจำคำมารดา ฯลฯ |
๑๒)
เพลงต้อยตริ่ง |
สูเอยจะสนุก |
๑๓)
เพลงทองย่อน |
อยู่เดียวเปลี่ยวอกอนาถหนาว ฯลฯ |
๑๔)
เพลงทองย่อน |
ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด ฯลฯ |
๑๕)
เพลงขึ้นพลับพลา |
โฉมงามทรามสุดสวาทพี่ ฯลฯ |
๑๖)
เพลงแขกมอญ |
แลดูอรุณไขแสง ฯลฯ |
๑๗)
เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์ |
อนึ่งพึงจำคำสอน ฯลฯ |
๑๘)
เพลงปี่แก้ว |
ขอเชิญนางโฉมเฉลาเยาวภา ฯลฯ |
๑๙)
เพลงปี่แก้วน้อย |
โฉมเฉลาเยาวภาอย่าเฉลียว ฯลฯ |
๒๐)
เพลงคลื่นกระทบฝั่ง |
อันโดรเมดาสุดาสวรรค์ ฯลฯ |
๒๑)
เพลงบังใบ |
ได้ยินคำสำเนียงเสียงเสนาะ ฯลฯ |
๒๒)
เพลงแขกสาหร่าย |
ถ้าแม้เลือกได้ตามใจพี่ ฯลฯ |
๒๓)
เพลงแขกสาหร่าย |
อ้าลมหนาวพัดอ้าวไม่ร้ายสู้ ฯลฯ |
๒๔)
เพลงแขกหนัง |
ผู้ใดมีอำนาจวาสนา ฯลฯ |
๒๕)
เพลงจีนหน้าเรือ |
อั๊วเป็นจีนซิวิไลซ์ใคไม่ลู้ ฯลฯ |
๒๖)
เพลงโยสลัม |
ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า ฯลฯ |
๒๗)
เพลงตะนาวแปลง |
เมื่อสายัณห์ตะวันจะยอแสง ฯลฯ |
๒๘)
เพลงจีนต้องเชียง |
เจ๊กฉิหลาดหนักหนาอย่าลูหมื่ง ฯลฯ |
๒๙)
เพลงสามเส้า |
เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก ฯลฯ |
๓๐)
เพลงสร้อยเพลง |
โอ้ว่าดวงใจอยู่ไกลลิบ ฯลฯ |
๓๑)
เพลงลีลากระทุ่ม |
พิศดูมาลีที่ในสวน ฯลฯ |
๓๒)
เพลงลมพัดชายเขา |
อันมาลีแม้มีแสนสดใส ฯลฯ |
๓๓)
เพลงสะสม |
รื่นกลิ่มลำดวนชวนเชย ฯลฯ |
๓๔)
เพลงลาวสมเด็จ |
แสนจะเปรมปรีดายุพาพาล |
๓๕)
เพลงยานี |
อันนารีเรานิยมชมโฉม ฯลฯ |
๓๖)
เพลงแขกมอญ |
อันบุคคลใดใดถึงใหญ่หลวง ฯลฯ |
|