โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๑. วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒

กับการจัดระเบียบกองทัพสยาม ()

 

 

          ในการจัดวางกำลังทหารเป็นกองพลตามแบบธรรมเนียมที่นิยมจัดกันในกองทัพนานาชาตินั้น หนึ่งกองพลจะต้องประกอบด้วยกำลังพล ดังนี้

 

          ทหารราบ ๔ กรมๆ ละ ๒ หรือ ๓ กองพันเป็นอย่างน้อย

          ทหารปืนใหญ่อย่างน้อย ๖ กองร้อย คือปืน ๒๔ กระบอก

          ทหารม้าอย่างน้อย ๔ กองร้อย

          ทหารช่างอย่างน้อย ๔ กองร้อย

 

          แต่สำหรับกองทัพสยามที่เป็นกองทัพเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านนโยบายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามกู้ยืมเงินมาพัฒนากองทัพโดยเด็ดขาด การสร้างสมกำลังรบและยุทธปัจจัยต่างๆ ให้ใช้จ่ายได้เฉพาะจากงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรประจำปีกับเงินคงพระคลังซึ่งเป็นเงินงบประมาณเหลือจ่ายจากปีต่างๆ ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวกองทัพบกสยามในเวลานั้น จึงมีการวางอัตรากำลังพลในเวลาปกติของแต่ละกองพลทั่วราชอาณาจักร เป็นดังนี้

 

          ทหารราบ ๒ กองพัน

          ทหารปืนใหญ่ ๒ กองร้อย

          ทหารม้าหรือทหารพราน ๒ กองร้อย

          ทหารช่าง ๑ กองร้อย

 

          เว้นแต่กองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่เป็นหน่วยประจำรักษาพื้นที่กรุงเทพฯ และมีหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ กับกองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี ซึ่งเป็นกองพลอิสระที่ขึ้นตรงต่อเสนาธิการทหารบก และเป็นหน่วยระวังรักษาพื้นที่มณฑลราชบุรี ซึ่งเป็นหน้าด่านของการป้องกันประเทศทางด้านคาบสมุทรมลายู เพราะนับแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนสุดชายพระราชอาณาเขตที่มณฑลปัตตานีเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกองทหารลงไปประจำการ จึงมีการจัดกำลังรบในกองพลที่ ๔ นี้เสมอด้วยอัตรากำลังในยามมีศึกสงครามมาประชิด ซึ่งแต่ละกองพลมีการจัดกำลังเต็มอัตรา ดังนี้

 

          ทหารราบ ๒ กรมๆ ละ ๒ กองพัน

          ทหารปืนใหญ่ ๓ กองร้อย

          ทหารม้า ๒ กองร้อย หรือทหารพราน ๔ กองร้อย

          ทหารช่าง ๔ กองร้อย

 

          จากข้อพิจารณาเปรียบเทียบอัตรากำลังรบของกองทัพบกสยามทั้งในยามปกติและยามมีศึกสงครามกับการจัดกำลังทหารในเวลาปกติของนานาชาติแล้ว จะเห็นได้ว่า กำลังกองทัพไทยในเวลานั้นเห็นจะมีขีดความสามารถพอสู้ได้แต่เพียงกำลังรบจากอาณานิคมของชาติมหาอำนาจที่ล้อมรอบประเทศสยามได้เท่านั้น หากจะต้องรบกับกองกำลังจากต่างชาติเช่นเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ก็คงจะห่างชั้นอยู่มาก

 

 

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

เสนาธิการทหารบก

 

 

          ส่วนการวางกำลังกระจายกันอยู่ทั่วประเทศนั้น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ได้ประทานคำอธิบายไว้ว่า "ก็เพื่อสะดวกแก่การปกครองในเวลาสงบศึก ให้สะดวกแก่การช่วยตำรวจภูธรและพลตระเวรปราบปรามศัตรูภายใน"  [] แต่หากมีข้าศึกยกมาประชิดก็ "สามารถยกมารวมกันได้โดยฉับพลัน แล้วตั้งเป็นกองทัพกั้นหนทางที่ข้าศึกจะยกเข้ามากรุงเทพฯ"  []

 

           อนึ่ง แม้นว่าจะได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารจนสามารถจัดวางโครงสร้างกำลังรบเป็น ๑๐ กองพลแล้วก็ตาม แต่อัตรากำลังรวมทั้งยุทธปัจจัยที่จะบรรจุลงในกองทหารทั้ง ๑๐ กองพลนั้นยังต้องดำเนินการไปตามขีดจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนงบประมาณรายจ่ายในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจัดกำลังทหารเป็น ๑๐ กองพล ไปจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น รัฐบาลในยุคนั้นได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศไว้ในลำดับแรก โดยมีอัตราส่วนเฉลี่ยถึงร้อยละ ๒๔ ต่อปี แต่งบประมาณจำนวนดังกล่าวก็ยังหาพอเพียงแก่การจัดหากำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าประจำการในกองทัพ ดังมีความปรากฏในพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมาชิกเสือป่าที่สโมสรเสือป่ากองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่า

 

ตารางเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายด้านการป้องกันประเทศ

พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๖๘

 

พ.ศ.

 

งบประมาณรายจ่าย

ประจำปี

๒๔๕๑

 

๕๘.๓๐

๒๔๕๒

 

๕๘.๘๐

๒๔๕๓

 

๕๙.๙๐

๒๔๕๔

 

๖๔.๐๐

๒๔๕๕

 

  ๖๓.๖๐

๒๔๕๖

 

๖๓.๒๐

๒๔๕๗

 

๖๕.๕๐

๒๔๕๘

 

๗๐.๐๐

๒๔๕๙

 

๗๐.๙๐

๒๔๖๐   ๗๔.๑๐
๒๔๖๑   ๘๙.๗๐
๒๔๖๒   ๘๒.๕๐
๒๔๖๓   ๘๖.๑๐
๒๔๖๔   ๘๕.๓๐
๒๔๖๕   ๘๖.๔๐
๒๔๖๖   ๙๑.๐๐
๒๔๖๗   ๙๖.๔๐
๒๔๖๘   ๑๐๑.๗๐

กระทรวง

กลาโหม

กระทรวง

ทหารเรือ

๑๐.๓๐

๔.๐๐

๙.๖๐

๓.๖๐

๙.๙๐

๓.๗๐

๑๑.๒๐ ๓.๗๐
๑๑.๓๐ ๓.๗๐
๑๑.๖๐ ๓.๙๐
๑๒.๓๐ ๔.๐๐
๑๒.๙๐ ๓.๙๐
๑๓.๒๐ ๔.๑๐
๑๕.๕๐ ๔.๒๐
๑๓.๕๐ ๔.๗๐
๑๔.๖๐ ๕.๑๐
 ๑๖.๐๐  ๕.๔๐
๑๕.๔๐ ๔.๖๐
๑๕.๖๐ ๕.๐๐
๑๖.๒๐ ๔.๙๐
๑๖.๘๐ ๕.๐๐
๑๗.๔๐ ๔.๙๐

รวม

 

คิดเป็น

ร้อยละ

๑๔.๓๐

 

๒๔.๕๓

๑๓.๒๐

 

๒๒.๔๕

๑๓.๖๐

 

๒๒.๗๐

๑๔.๙๐

 

๒๓.๒๘

๑๕.๐๐

 

๒๓.๕๘

๑๕.๕๐

 

๒๔.๕๓

๑๖.๓๐

 

๒๘.๘๙

๑๖.๘๐

 

๒๔.๐๐

๑๗.๓๐

 

๒๔.๔๐

๑๙.๗๐   ๒๖.๕๙
๑๘.๒๐   ๒๐.๒๙
๑๙.๗๐   ๒๓.๘๘
๒๑.๔๐    ๒๔.๘๕
๒๐.๐๐   ๒๓.๔๕
๒๐.๖๐   ๒๓.๘๔
๒๑.๑๐   ๒๓.๑๙
๒๑.๘๐   ๒๒.๖๑
๒๒.๓๐   ๒๑.๙๓

 

 

          "ในกองทัพบกของเราที่เห็นเดี๋ยวนี้, อาวุธมีจริงแต่ยังหาพอไม่. เสือป่าของเราที่เห็นเดี๋ยวนี้, ที่ท่านเดินเดี๋ยวนี้, มีหรือที่ถืออาวุธได้, ไม่มีเลยอาวุธสักอันก็ไม่มี. เท่านี้ก็แลเห็นได้ว่ากองทัพบกของเราก็ยังบกพร่อง. ตัวท่านทั้งหลายนึกดูไปอีกที, ลองเดินจากนี่ลงไปจนถึงลำแม่น้ำ, มองดูทีกำลังทางเรือเรามีสู้เขาหรือไม่? ไม่มีเลย! เท่ากับเราเอาหีบขนมปังหรือเอาเรือที่เด็กเล่นไปลอยอวดเด็ก. สำหรับให้ผู้ที่เขามีเรือจริงหัวเราะเยาะ. เช่นนี้เมื่อถึงเวลาที่ข้าศึกจะยกรุกเข้ามา, ถ้าแม้มาโดยทางเรือ, เราเปนไม่มีอะไรสำแดงเปนแน่"  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องสนามจอมพลทหารบก

ทรงม้าพระที่นั่งสยามพันธุ์ประทับรับความเคารพจากกองทหาร

เมื่อเสร็จการประลองยุทธ์ใหญ่ทหารบก ที่ท้องทุ่งบ้านพาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

 

 

          นอกจากนั้นในคราวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนฝึกหัดผู้กำกับลูกเสือ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ยังได้ทรงกล่าวถึงการขาดแคลนนายทหารในกองทัพบกสยาม ซึ่งได้ทรงประสบด้วยสายพระเนตรในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับท่ามกลางกองทหารซึ่งได้มาร่วมประลองยุทธใหญ่ทหารบกครั้งแรกที่จังหวัดสระบุรีและพระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ไว้ว่า

 

          "เมื่อปีกลาย  [] มีการระดมทหารพิเศษสำหรับการซ้อมรบใหญ่ จึงเกิดมารู้สึกกันขึ้นว่า เมื่อระดมพลมาจริงๆ แล้วผู้บังคับบัญชาไม่พอ, อย่างบางกอง นายร้อยตรีเปนผู้บังคับกอง, แต่นี้ไม่เป็นไร บางกองร้อยจ่านายสิบ นายสิบเปนผู้บังคับหมวด, บางกองถึงพลทหารเปนผู้บังคับหมวด, ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าพลทหารไม่มีความรู้เพียงไร เพราะเปนทหารอยู่เพียง ๒ ปีเท่านั้น; ครั้นไปบังคับหมวดก็ทำได้แต่เดินไปกับกอง ถ้าไปทำการโดยลำพังก็ทำไม่ได้."   []

 

 

นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

 

 

          เรื่องการขาดแลนนายทหารในกองทัพบกนี้ดูจะเป็นปัญหาเรื้อรังของทัพไทยต่อมาอีกหลายปี ดังมีพยานปรากฏในลายพระหัตถ์ที่ นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา [] กราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการกรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ ๗ ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่จังหวัดน่าน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ว่า "จำนวนนายทหารชั้นผู้น้อยสำหรับทำน่าที่ผู้บังคับหมวดนั้น นายทหารสัญญาบัตร์ขาดอัตรามาก ที่เป็นอยู่บัดนี้บรรจุนายดาบเข้าทำน่าที่ผู้บังคับหมวดด้วยแล้ว ยังมีผู้บังคับหมวดได้เพียงกองร้อยละ ๓ นายเท่านั้น"  []

 

 

 


[ ]  แจ่มจันทร์ วงศ์วิเศษ. การปรับปรุงกองทัพบกของไทยตามแบบตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๗๕, หน้า ๒๖๒.

[ ที่เดียวกัน.

[ พระบรมราโชวาทเสือป่า, หน้า ๒๕.

[ ทรงหมายถึงการประลองยุทธใหญ่ทหารบกครั้งแรกที่ สระบุรีและกรุงเก่า เมื่อวันที่ ๑ - ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งได้เสด็จไปประทับในสนามร่วมกับทหารที่เข้าร่วมการซ้อมรบ และได้ทอดพระเนตรการซ้อมรบครั้งนั้นโดยใกล้ชิด

[ พระบรมราโชวาทเสือป่า, หน้า ๘๕ - ๘๖.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ม. ๒๗/๑๐ เรื่องสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาเสด็จมณฑลพายัพ (๓๑ ตุลาคม ๒๔๖๓ - ๒๙ มีนาคม ๒๔๖๗).

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |