เหตุที่ทรงเลือกท้องทุ่งจังหวัดนครปฐมและราชบุรีเป็นสถานที่ซ้อมรบเสือป่าเป็นประจำทุกปีนั้น
มีพระบรมราชาธิบายว่า
"การสงครามโดยมากไม่ได้ทำกันในเมือง
มักจะทำกันในทุ่งหรือในป่าเปนพื้น,
ฉนั้นเมื่อจัดการซ้อมรบขึ้นจึ่งจำเปนที่จะต้องไปฝึกซ้อมตามหัวเมือง,
จึ่งจะได้รับผลอย่างเต็มที่;"
[๑]
และเนื่องจากยุทธศาสตร์การป้องกันพระราชอาณาเขตของกระทรวงกระลาโหมนั้น
กำหนดไว้ว่าหากมีอริราชศัตรูยกกำลังเข้ามารุกรานพระนครดังเช่นเหตุการณ์
ร.ศ. ๑๑๒
กองทหารที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศจะถูกระดมกำลังลงมาป้องกันกรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ เว้นแต่กองพลที่
๔ มณฑลราชบุรี
ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงเสนาธิการทหารบก
ซึ่งเป็นหน่วยพิเศษมีหน้าที่ป้องกันอริราชศัตรูที่จะยกขึ้นมาจากคาบสมุทรมลายูซึ่งสยามมีข้อตกลงลับกับอังกฤษกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร
ฉะนั้นการที่ทรงกำหนดให้เสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์มาซ้อมรบในท้องทุ่งจังหวัดราชบุรีและนครปฐมซึ่งจะเป็นทางผ่านไปสู่พระราชวังสนามจันทร์ซึ่งจะทรงใช้เป็นที่มั่นสุดท้ายในการป้องกันพระราชอาณาจักร
เพื่อให้เสือป่าในสังกัดกองเสนาหลวงซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้เป็นกองกำลังรักษาพื้นที่แทนทหารที่ถูกระดมไปต่อต้านศัตรูผู้รุกรานในแนวหน้า
ให้เสือป่าได้คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งโปรดเกล้าฯ
ให้ออกประกาศเป็นพื้นที่ซ้อมรบใหญ่กินอาณาบริเวณ
ดังนี้
"จังหวัดนครปฐม ทิศเหนือ - ตั้งแต่หลักหมายเลข ๑
ทางเกวียนสามแยกบ้านลำพยาตัดตรงไปทางตวันออกถึงหลักหมายเลข
๒ ถนนยิงเป้า หลักหมายเลข ๓ ถนนบางแขม
แลต่อไปถึงหลักหมายเลข ๔
ทางเกวียนสามแยกมุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตวันออกเฉียงเหนือตำบลห้วยจรเข้
ทิศตวันออก - ตั้งแต่หลักหมายเลข ๔
ทางเกวียนสามแยกมุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตวันออกเฉียงเหนือไปตามทางเกวียนถึงหลักหมายเลข
๔ สามแยกปากคลองบางเตยตำบลห้วยจรเข้ ทิศใต้ -
ตั้งแต่หลักหมายเลข ๕
สามแยกปากคลองบางเตยเลียบไปตามลำคลองบางแขมฝั่งเหนือ
ถึงหลักหมายเลข ๖ สามแยกวัดบางแขม ตำบลบางแขม
ทิศตวันตก - ตั้งแต่หลักหมายเข ๖
สามแยกวัดบางแขมยืนตรงไปทางเหนือ ถึงหลักหมายเลข ๗
ริมทางเกวียนหน้าวัดราษฎร์ศรัทธาทำ
แลต่อไปบรรจบหลักหลายเลข ๑
ทางเกวียนสามแยกบ้านลำพยาตำบลสนามจันทร์
ซึ่งเปนหลักต้นของทิศเหนือ
จังหวัดราชบุรี ทิศเหนือ -
ตั้งแต่บ้านคลองท่าผาตรงหลักหมายเลข ๑
ยืนขึ้นไปทางทิศตวันออกผ่านหลังบ้านหนองปลาตอง
ถึงหลักหมายเลข ๒ ตรงวัดธรรมกิจพฤกษา (วัดบ้านยาง)
ทิศตวันออก - ตั้งแต่หลักหมายเลข ๒
ตัดตรงไปทางทิศใต้ผ่านบ้านหนองปลาดุก
บ้านบึงกระจับ บ้านหนองอ้อ
บ้านหนองหญ้าปล้องหนองแพะ บ้านเลือก
อ้อมตามแนวบ้านฆ้อง บ้านดีบอน บ้านกำแพง
บ้านท่ามะขาม บ้านโคกคราม ถึงบ้านสามเรือน
ตามแนวหลักตั้งแต่หมายเลข ๒ ถึงหลักหมายเลข ๔๒
ทิศใต้ - ตั้งแต่หลักหมายเลข ๔๒
บ้านสามเรือนยืนตรงไปทางทิศตวันตก ถึงหลักหมายเลข
๔๓ ตำบลบ้านกล้วย ทิศตวันตก - ตั้งแต่หลักหมายเลข
๔๓ บ้านกล้วย เลียบริมทางรถไฟด้านตวันออก
ผ่านคลองยายคลัง บ้านเจ็ดเสมียน บ้านโพธาราม
คลองตาคต บ้านนครชุม ผ่านหน้าสถานีรถไฟบ้านโป่ง
แลข้ามทางรถไฟตรงวัดดอนตูม ตั้งแต่หลักหมายเลข ๔๓
ถึงหลักหมายเลข ๖๐ หลังค่ายหลวงบ้านโป่ง
ไปบรรจบหลักหมายเลข ๑ บ้านคลองท่าผา
ซึ่งเปนหลักต้นของทิศเหนือ"
[๒] |
 |
ผังแสดงที่ตั้งหมู่พระที่นั่ง พระตำหนัก
เรือนพักข้าราชบริพาร ทหารมหาดเล็ก
พระตำรวจหลวงและลูกเสือหลวง
ภายในพระราชวังสนามจันทร์ |
ส่วนเหตุผลที่โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน
๑,๐๕๐ บาท ให้พระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม (ชม
สุนทรารชุน)
[๓] ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี
จัดซื้อที่ดินไร่ผักบริเวณสระน้ำจันทร์ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์
จังหวัดนครปฐม จากจีนมีชื่อ ๒ ราย ได้เนื้อที่รวม
๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา แล้วโปรดเกล้าฯ
ให้หลวงสิทธิ นายเวร (น้อย ศิลปี)
[๔] เป็นแม่กองจัดสร้างพระราชฐานที่ประทับ
พร้อมเรือนพักข้าราชบริพารขึ้นในที่ดินผืนนั้นมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็นแม่กองอำนวยการบูรณะพระปฐมเจดีย์มาตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้แก่มหาดเล็กที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า
พระราชวังสนามจันทร์นั้นไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
มีเส้นทางรถไฟที่สะดวกแก่การลำเลียงพลและยุทธสัมภาระต่างๆ
จากกรุงเทพฯ
เหมาะที่จะใช้เป็นฐานที่มั่นและปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันประเทศ
จึงทรงวางผังพระราชวังสนามจันทร์นี้ไว้แตกต่างจากพระราชฐานที่ประทับทั่วไป
กล่าวคือทรงกำหนดให้หมู่พระที่นั่งและพระตำหนักซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเรือนพักข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่
แล้วถัดออกไปรอบนอกจัดเป็นเรือนพักของทหารมหาดเล็ก
พระตำรวจหลวง
และมหาดเล็กซึ่งตามเสด็จออกไปในเวลาแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่นั้น
นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินริมแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่อำเภอบ้านโป่งจัดเป็นเป็นค่ายหลวงบ้านโป่ง
ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้ตัดถนนทรงพลเป็นเส้นทางลำเลียงพลระหว่างพระราชวังสนามจันทร์กับค่ายหลวงบ้านโป่ง
และได้โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างเรือนต้น
เป็นพลับพลาที่ประทับภายในค่ายหลวงบ้านโป่ง
"มีลักษณะเรือนอย่างพวกมั่งมีไทยๆ
คือเป็นเรือนหลังคามีจั่ว ๓ เหลี่ยมแหลมๆ
เป็นเรือนสำหรับบรรทมหลัง ๑
เรือนสำหรับประทับทรงพระสำราญและทรงพระอักษรหลัง ๑
จากนั้นก็มีหอรี หอขวางอีก ๒ - ๓ หลัง
ตอนกลางมีชานกว้างขวาง มีบันไดสำหรับขึ้นลงได้ ๒ -
๓ บันได
ท่วงทีเหมือนพระตำหนักเรือนต้นสมัยรัชกาลที่ ๕
ที่ทรงปลูกขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต
และยังมีเรือนแถวยาวไม่น้อยกว่า ๗ ห้องหรือ ๘
ห้องปลูกไว้อีกหลัง ๑ หรือ ๒ หลัง
ซึ่งเป็นที่พักของพวกมหาดเล็ก มีเรือนหลังย่อมๆ
มีครัว มีส้วม เป็นหลังๆ
คล้ายที่เราเรียกกันว่ากระท่อม ๓ - ๔ หลัง
นัยว่าเป็นที่พักของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ห่างจากพระที่นั่งเรือนต้นไปทางหน้าสัก ๑๕ วา
มีเรือนแถวชั้นเดียวสำหรับทหารมหาดเล็กอยู่
เรียกว่าการ์ดเป็นยามรักษาพระองค์
รอบนอกของค่ายหลวงกว้างยาวราวด้านละ ๖ - ๗ เส้น
ขุดเป็นคูเอาดินถมเป็นคันทางด้านพระตำหนัก"
[๕] |
ส่วนที่พักของเสือป่านั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระวิชิตณรงค์
[๖] (สรวง ศรีเพ็ญ)
ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
เป็นแม่กองปลูกสร้างขึ้น ๔ หลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
เป็นโรงไม้ไผ่ยาวหลังละ ๑ เส้น ภายในกว้างราว ๔
วาเศษ หลังคามุงจาก ฝาบุด้วยตับจาก หน้าต่างไม่มี
มีแต่ประตู ๒ ประตูที่หัวโรงท้ายโรง
ภายในโรงมีแคร่ยกขึ้นมาพ้นพื้นดินราว ๒ ศอก
จัดเป็นที่สำหรับนอนเป็น ๔ แถว นอนได้แถวละ ๕๐
คือแถวริมทั้ง ๒ ข้างเอาศีรษะไปทางฝา
ส่วนแถวกลางนั้นนอนกันได้ ๒ แถวเอาศีรษะชนกัน
ตรงกลางเว้นเป็นทางเดินปูด้วยไม้กระดานที่เรียกกันในเวลานั้นว่าไม้สิงคโปร์
โรงหนึ่งนอนได้ราว ๒๐๐ คน รวม ๔ หลังนอนได้ราว ๘๐๐
คน หมอนหนุนศีรษะไม่มี
ต้องใช้ถุงย่ามประจำตัวใส่เสื้อผ้าหนุนแทนหมอน
ส่วนรองเท้านั้นห้ามไม่ให้วางไว้บนทางเดินหรือปลายเท้า
ต้องนำไปวางไว้เคียงกับย่ามที่ใช้หนุนศีรษะ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เสือป่าและลูกเสือทุกคนต้องทำความสะอาดรองเท้าเสียก่อนที่จะเอาขึ้นไปวางขนานไว้ซ้ายขวาระหว่างศีรษะเช่นนั้น
และก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เสือป่าและลูกเสือยกมาประชุมพลที่ค่ายหลวงบ้านโป่งในปีเดียวกันนั้น
ยังได้มีพระราชหัตถเลขากำชับไปยังผู้เกี่ยวข้องให้จัดดำเนินการเรื่องสุขาภายในค่ายพักให้ถูกสุขลักษณะ
ดังนี้
"พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙
ถึง นายพลเสือป่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
เกียกกายกองเสนาหลวง ร.อ.
ด้วยการจัดการเรื่องเว็จและที่ถ่ายปัสสาวะสำหรับเสือป่า
ตามที่ได้เคยทำมาแล้วยังไม่สู้จะเรียบร้อย
เพราะฉนั้นในปีนี้ข้าพเจ้าขอมอบเป็นน่าที่ท่านเป็นผู้อำนวยการอันนี้
เพราะพระยามหาอำมาตย์สังกัดอยู่ในแพนกเกียกกาย
จะได้อาศัยกำลังฝ่ายบ้านเมืองได้
ข้าพเจ้าได้ส่งคำชี้แจงวิธีทำเว็จและที่ถ่ายปัสสาวะมาพร้อมกับจดหมายนี้ด้วยแล้ว
ถ้าท่านยังสงสัยข้อใด ขอให้ถามข้าพเจ้า
จะได้ชี้แจงให้ทราบ
ราม วชิราวุธ นายพลเสือป่า
ผู้บัญชาการกองเสนาหลวง ร.อ."
[๗] |
ครั้นเริ่มการซ้อมรบใหญ่ประจำปีในเดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้เจ้าพนักงานกรมวังปลูกเต็นท์ที่ประทับขึ้นในพื้นที่ว่างใกล้ที่ว่าการอำเภอโพธาราม
จังหวัดราชบุรี
สำหรับเป็นที่ประทับแรมในระหว่างทรงอำนวยการซ้อมรบในทุ่งโพธารามขึ้นก่อน
แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งค่ายหลวงโพธารามขึ้นในบริเวณนั้นอีกแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา
ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดค่ายหลวงขึ้นในสนามซ้อมรบใหญ่อีก ๒ แห่ง คือ
ที่บ้านคลองตาคด พลับพลาปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่
ฝาไม้ไผ่ หลังคามุงจาก พื้นเป็นไม้สิงคโปร์
ส่วนที่พักเสือป่าก็ปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่
กับอีกแห่งหนึ่งในบริเวณวัดเจ็ดเสมียน
อนึ่ง
เมื่อทรงจัดให้มีการซ้อมรบใหญ่เสือป่าครั้งแรกเมื่อวันที่
๒ -๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้น
ทรงประจักษ์ชัดด้วยสายพระเนตรว่า
การซ้อมรบนั้นมีประโยชน์หลายประการ อาทิ
๑. ฃ้าราชการซึ่งมีน่าที่แต่ฝ่ายพลเรือน
และที่มิได้เคยคิดถึงฤาเฃ้าใจความลำบากแห่งผู้กระทำน่าที่อย่างทหาร
จะได้เฃ้าใจและเห็นความจริงเสียบ้าง
จะได้บันเทาความเฃ้าใจผิดที่คิดเห็นไปว่า
ทหารไม่ต้องทำอะไรนอกจากแต่งตัวงามๆ
เที่ยวเดินฉุยฉายเล่น
ผู้ที่ได้มาซ้อมรบแล้วคงจะได้รู้สึกแล้วว่าการทำน่าที่อย่างทหารเปนการยากเพียงใด
ต้องมีความอดทนและกรากกรำเพียงใด
จะได้เห็นใจเสียบ้างว่าทหารเฃาก็ต้องทำงานเหน็จเหนื่อยเหมือนกัน
ไม่ใช่จะมีผู้เหน็จเหนื่อยแต่ฃ้าราชการพลเรือน
เมื่อเห็นใจกันเช่นนี้แล้ว
ก็พอจะเปนที่หวังได้ว่าจะเปนผลให้ฃ้าราชการทหารกับพลเรือนกลมเกลียวกันได้ยิ่งขึ้น
๒.
การซ้อมรบเปนโอกาศอันดีที่ฃ้าราชการจะได้เห็นใจกันและกันดียิ่งกว่าเวลาปรกติ
เพราะในเวลาปรกติจะพบกันก็แต่ในที่ทำการ
และจะได้พูดจากันก็เปนแต่ในข้อความซึ่งเนื่องด้วยการงานในน่าที่ของตนๆ
ไม่ได้แลเห็นน้ำใสใจจริงว่าใครเปนอย่างไร
จึ่งฃาดความไว้ใจกันแลฃาดความนับถือแท้จริงอันบังเกิดมาได้แต่โดยทางคุ้นเคยรู้อัธยาไศรยซึ่งกันและกัน
ในเวลาปรกติบุคคลไป ณ
ที่ทำการอาจที่จะสำแดงกิริยาอาการอย่าง ๑
ซึ่งไม่ตรงกับกิริยาอาการอันเปนนิไสยจริงได้
แต่ในเวลาเมื่อมาซ้อมรบ
จะทำกิริยาที่ไม่ตรงกับนิไสยแท้จริงให้ตลอดเวลานั้นย่อมไม่ได้อยู่เอง
เพราะฉนั้นการดูคนในเมื่อมาซ้อมรบด้วยกันก็เปรียบเหมือนดูโขนที่ไม่ได้ใส่หน้า
คงจะต้องแลเห็นได้เปนแน่ว่าสรวยไม่สรวยเพียงใด
๓. เมื่อมาซ้อมรบเปนเวลาซึ่งจำจะต้องกรากกรำลำบาก
ต้องมีความอดทนจริงอย่างที่เรียกกันว่า "เปนลูกผู้ชาย" แท้
ไม่ใช่เปนผู้ชายสักแต่ชื่อเท่านั้น
ผู้ที่ได้กรากกรำลำบากแล้ว
จะได้แลเห็นชัดเจนว่าตนมีกำลังกายเพียงใด
จะรู้ได้ว่าตนสามารถอดทนได้เพียงใด
แล้วก็คงจะมีความอุสาหพากเพียรทำการงานให้แขงแรงขึ้นได้กว่าเก่าอีก
คนโดยมากที่เคยทำแต่การอย่างพลเรือนมักไม่รู้ว่าตนเองมีกำลังเพียงไร
เพราะไม่เคยออกกำลัง
จึ่งมักสำคัญเสียว่าตนมีกำลังน้อยกว่าที่มีอยู่แท้จริง
และมักคอยถนอมกำลังระวังไม่หักโหมตนให้มากเกินกว่าที่จะทนได้
การงานพอที่จะทำได้มาก ก็ต้องทำให้น้อย
เพราะฉนั้นการที่ได้รู้กำลังตนเองเสียนั้น
จึ่งน่าจะเปนผลดีแก่ราชการได้เปนอันมาก"
[๘] |