อนึ่ง
เมื่อทรงพระมหากรุณารับเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนต่างๆ
แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกองร้อยที่ ๑
กรมเสือป่าที่ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษเป็นกองรักษาพระองค์
เช่น "กองร้อยที่ ๑
รักษาพระองค์กรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครศรีธรรมราช"
ต่อมาทรงพระราชดำริว่า
การออกนามกองเสือป่าเช่นที่กล่าวมานั้น
"ยังไม่เปนระเบียบอันดี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนขนานนามกองรักษาพระองค์ว่า "กองหลวง"
เช่นกองร้อยหลวงกรมเสือป่ารักษาดินแดนนครศรีธรรมราช
ดังนี้เปนต้น
(ไม่ต้องขนานนามเลขกองร้อยคือกองร้อยหลวงนั้นเองเปนกองร้อยที่
๑)" [๑]
มาตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘
และในคราวเดียวกันนั้นได้มีพระราชดำริว่า
กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ
ซึ่งแต่เดิมจัดให้เป็นกองรักษาพระองค์ทั้งกองเสนานั้น
"ยังไม่เหมาะแก่น่าที่"
[๒]
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนแปลงเป็นดังนี้
"กรมที่ ๑
ให้เปนกรมหลวงกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ
(เฉภาะกรมเดียวและแต่งกายตามกำหนดเดิม)
ส่วนกรมที่ ๒ แลกรมที่ ๓
นั้นคงเปนกรมรักษาดินแดน ให้เรียกว่า
"กรมที่ ๒ กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ"
"กรมที่ ๓ กองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ"
ทั้ง ๒
กรมนี้ให้ใช้เครื่องแต่งกายอย่างกองเสนารักษาดินแดน
ตามที่ปรากฏในพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวเสือป่าทุกประการ"
[๓]
ต่อมาวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา
"ข้อบังคับระเบียบการขนานนามกรมเสือป่ารักษาดินแดน
และเครื่องหมายเหล่ากรมรักษาดินแดน"
โดยทรงกำหนดให้ขนานนามกรมเสือป่าที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษเสียใหม่
ดังนี้
"๑. กองพันที่ ๑
เสือป่ารักษาดินแดนกรุงเทพฯ ให้เรียกว่า
กรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนกรุงเทพฯ
๒. กองพันที่ ๑
เสือป่ารักษาดินแดนกรุงเก่า ให้เรียกว่า
กรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนกรุงเก่า
๓. กรมเสือป่ารักษาดินแดนนครไชยศรี
ให้เรียกว่า
กรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนนครไชยศรี
๔. กองพันที่ ๑ เสือป่ารักษาดินแดนพายัพ
(นครเชียงใหม่) ให้เรียกว่า
กรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนพายัพ
๕. กรมเสือป่ารักษาดินแดนนครศรีธรรมราช
ให้เรียกว่า
กรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนนครศรีธรรมราช
ส่วนกรม, กองพันอื่นๆ
บรรดาที่มีอยู่ในกองเสนารักษาดินแดนทั้งหลายนอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้โดยเฉภาะนั้น
ให้ใช้เรียกตามลำดับเลขหมายกรม
และนามมณฑลที่กรมกองนั้นๆ ประจำ
เช่นกรมเสิอป่าที่ ๒ รักษาดินแดนกรุงเทพฯ
หรือกรมเสือป่าที่ ๒ รักษาดินแดนราชบุรี
ดังนี้เปนต้น" |
เนื่องจากภารกิจหลักของเสือป่ารักษาดินแดนทั่วพระราชอาณาจักรนั้นคือ
"พร้อมกันจับอาวุธต่อสู้ศัตรูหมู่ร้ายที่ทำการบุกรุกเข้ามาย่ำยีพระราชอาณาเขต
หรือปราบปรามจลาจล"
[๔]
ในจังหวัดอันเป็นที่ตั้งกรมกองเสือป่านั้นๆ
เป็นสำคัญ
การจัดกำลังพลในกรมกองเสือป่าสังกัดกองเสนารักษาดินแดนทั้งหมดจึงจัดเป็นกรมเสือป่าราบ
ในทำนองเดียวกับกรมทหารราบที่เป็นกำลังหลักของกองทัพบกในหัวเมืองมณฑลต่างๆ
เพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในยามที่มีการประกาศกฎอัยการศึกหรือมีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น
แต่ในส่วนของกองเสนาหลวงรักษาพระองค์
ซึ่งกำลังพลส่วนใหญ่เป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักที่มีความพร้อม
และ
"มีความสามารถจะปฏิบัติน่าที่ได้มิเปนการติดขัดอย่างใดอย่างหนึ่ง"
[๕]
อีกทั้งกรมกองเสือป่าในสังกัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ยังเป็นกองเสือป่าที่มีหน้าที่พิเศษ
"เปนกองป้องกันรักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หรือป้องกันรักษาพระราชฐาน
หรือทำการระงับเหตุร้ายเปนพิเศษเพื่อช่วยเสือป่ารักษาดินแดน"
[๖]
ประกอบกับมีพระบรมราโชบายที่จะใช้พระราชวังสนามจันทร์เป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันประเทศ
จึงได้โปรดเกล้าฯ
จัดกำลังพลเสือป่าในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์เป็นเหล่าราบ
เหล่าม้า เหล่าช่าง เหล่าพาหนะ
แลเหล่าเดินข่าวหรือสื่อสารในทำนองเดียวกับการจัดหน่วยรบระดับกองพลของกองทัพบกมาแต่แรกเริ่ม
 |
นายกองเอก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม
พระบรมราชชนก
ผู้ช่วยนายแพทย์ใหญ่เสือป่า
กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อครั้งทรงเป็นนายหมวดโท
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงสงขลานครินทร์ นายเสือป่าพิเศษ |
อนึ่ง เมื่อแรกตั้งกองเสือป่าขึ้นนั้น
ได้โปรดเกล้าฯ
ให้สมาชิกเสือป่าในสังกัดกรมกองเสือป่าต่างๆ
ที่มีความรู้ทางการแพทย์ทำหน้าที่เป็นนายแพทย์ประจำกรมกองเสือป่านั้นมาเป็นลำดับ
ต่อมาวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘
จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น
โดยทรงพระราชปรารภว่า
"น่าที่การพยาบาลนักรบในเวลาสงครามนั้น
เปนน่าที่สำคัญอย่างหนึ่งจึงต้องมีแพทย์และคนพยาบาลผู้ที่เรียนรู้การในวิชานักรบและชำนาญในการพยาบาลเปนอันมาก
ตามที่เปนอยู่ในเวลานี้นั้นยังหาเปนการพอเพียงแก่น่าที่ในพแนกนี้ไม่
และถึงแม้ว่าจะมีแพทย์อยู่มากมายก็จริงอยู่
แต่โดยมากแพทย์เหล่านั้นมิได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้การในน่าที่นักรบซึ่งยากที่จะทำการติดต่อให้เปนระเบียบอันดีได้
เพราะเหตุว่าการรักษาพยาบาลตามธรรมดานั้น
ผิดกับการรักษาพยาบาลในสนามเปนอันมาก
อาไศรยความจำเปนที่ได้บรรยายมานี้
จึงเปนการสมควรที่จะจัดให้มีการศึกษาวิชานายแพทย์นักรบขึ้นแห่งหนึ่ง
เพื่อทำการฝึกหัดการพยาบาลสนามให้มีความรู้ช่ำชองในกิจการของการพยาบาลนักรบไว้เสียแต่ในเวลาปรกติ
ฉวยว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นแล้ว
ก็จะได้กระทำน่าที่ในการพแนกนี้ได้พร้อมเพรียงทุกเมื่อ
ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าโรงเรียนราชแพทยาลัยเปนโรงเรียนที่สำหรับฝึกหัดแพทย์ส่งไปรับราชการในกระทรวงต่างๆ
อยู่แล้ว
ถ้าและได้จัดให้มีการสอนในวิชานักรบแลการพยาบาลสนามขึ้นแล้วก็จะเปนประโยชน์ขึ้นเปนอันมาก
ทั้งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นแล้วนักเรียนเหล่านั้นก็จะสามารถกระทำการในน่าที่ได้โดยบริบูรณ์
ใช่แต่เท่านั้น
การที่จัดให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนรู้การในน่าที่นักรบแต่เวลาที่กำลังเปนนักเรียนอยู่นั้น
ย่อมเปนประโยชน์แลสดวกแก่ราชการกองทัพบกกองทัพเรือขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
และผู้ที่ไม่ได้รับราชการในกองทัพบกกองทัพเรือนั้นก็จะได้กระทำการเปนแพทย์เสือป่า
แล้วและปลูกเพาะความเรียนรู้การในน่าที่พยาบาลแก่เสือป่ากรมกองต่างๆ
ให้เปนคุณประโยชน์
ซึ่งเปนทางชักนำให้นักรบมีความรู้ในวิชาพยาบาลสนามแพร่หลายมากขึ้น
อาไศรยเหตุที่ได้ทรงพระราชปรารภมาหนหลังนี้
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งกองนักเรียนราชแพทยาลัยขึ้นเปนกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าอีกตำแหน่งหนึ่ง
คงรวมการอยู่ในโรงเรียนราชแพทยาลัยนั้นเอง
ให้ขนานนามในตำแหน่งน่าที่เสือป่า ว่า
"กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าในพระบรมราชูปถัมภ์"
[๗]
รวมการปกครองขึ้นตรงต่อกรมเสนาธิการเสือป่า
ให้บรรดาอาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนราชแพทยาลัยและแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิริราช
ซึ่งตามที่ได้ยื่นใบสมัคขออาษาเข้าทำการในพแนกนี้นั้น
เข้าประจำรับราชการในกรมนักเรียนแพทย์เสือป่าในพระบรมราชูปถัมภ์ตามตำแหน่ง"
[๘] |
นอกจากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้สมาชิกเสือป่าที่เป็นข้าราชการกรมชาวที่จัดเป็นกรมเสือป่าปืนใหญ่หลวงรักษาพระองค์ขึ้นอีกกรมหนึ่ง
จึงทำให้กองเสนาหลวงรักษาพระองค์มีสถานะและขีดความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ทดแทนกองพลทหารบกที่
๑
รักษาพระองค์ซึ่งเป็นกำลังหลักของกองทัพบกสยามในการป้องกันกรุงเทพมหานครในเวลานั้นได้เลยทีเดียว
แต่ในเวลาต่อมาทรงพระราชดำริว่า
ข้าราชการกรมชาวที่นั้นต้องแยกย้ายกันอยู่ประจำรับราชการตามพระราชวังต่างๆ
ซึ่งเป็นการยากที่จะเรียกรวมพลให้พร้อมเพรียงกันได้
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้โอนกรมเสือป่าปืนใหญ่หลวงรักษาพระองค์ไปสังกัดอยู่ในกองดับเพลิงกรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วันที่
๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้นายกองโท หม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล
ผู้บังคับกองดับเพลิงกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.
เป็นผู้บังคับการกรมเสือป่าปืนใหญ่หลวงรักษาพระองค์
และให้จัดเพาะกำลังพลขึ้นใหม่จากกำลังพลในกองดับเพลิงกรมทหารรักษาวัง
ว.ป.ร.
ส่วนนายเสือป่าในสังกัดกรมเสือป่าปืนใหญ่หลวงรักษาพระองค์แต่เดิมมานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายไปสังกัดกรมเสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์ทั้งสิ้น
อนึ่ง
เนื่องจากมีผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าในกองเสนารักษาดินแดนต่างๆ
เพิ่มมากขึ้น
ต่อมาวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ยกกรมเสือป่ารักษาดินแดนราชบุรี
ขึ้นเป็นกองเสนาน้อยราชบุรี
คงสังกัดในกองเสนารักษาดินแดนตวันตก
จัดอัตรากำลังเป็น ๖ กองพัน
ประกอบด้วยเสือป่าเหล่าราบ ๓ กองพัน คือ
กองพันที่ ๑ ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี
กองพันที่ ๒ ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี
กองพันที่ ๓ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม
และเสือป่าเหล่าราชนาวี ๓ กองพัน คือ
กองพันที่ ๑ ราชนาวีเสือป่าเพชรบุรี
ตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี
กองพันที่ ๒ ราชนาวีเสือป่าเพชรบุรี
ตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี
กองพันที่ ๓ ราชนาวีเสือป่าประจวบคีรีขันธ์
ตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
 |
นายกองเอก พระยามหินทรเดชานุวัตน์ (ใหญ่ ศยามานนท์)
ผู้บัญชาการกองเสนาน้อยรักษาดินแดนนครไชยศรี
เมื่อครั้งเป็นนายกองตรี
ผู้บังคับการกรมเสือป่าหลวงนครไชยศรี |
ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ยกกรมเสือป่าหลวงรักษาดินแดนนครไชยศรีขึ้นเป็นกองเสนาน้อยรักษาดินแดนนครไชยศรี
คงขึ้นการบังคับบัญชาในกองเสนารักษาดินแดนตวันตก
มีอัตรากำลังเป็นเหล่าราบ ๔ กองพัน
และเหล่าราชนาวี ๑ กองพัน
ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกองเสนาน้อยรักษาดินแดนนครไชยศรี
ดังนี้
กองพันที่ ๑ แลที่ ๒ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม
รวมเป็นกรมเรียกว่า กรมเสือป่าหลวง
รักษาดินแดนนครไชยศรี
กองพันที่ ๓ และที่ ๔
ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
กองพันราชนาวีเสือป่าสมุทรสาคร
ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทสาคร