การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษครั้งนี้
ผู้คนโดยทั่วไปมักจะเชื่อกันว่า
น่าจะมีที่มาจากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กระทรวงการต่างประเทศส่งเงินส่วนพระองค์ไปช่วยครอบครัวนายทหารราบเบาเดอรัมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บทุพพลภาพในสงครามโลกครั้งที่
๑
ในฐานที่เคยทรงประจำรับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัมเมื่อครั้งเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
 |
ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ Daily Express และ Evening
News
ที่ลงข่าวการพระราชทานเงินช่วยครอบครอบครัวนายทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม
ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในสงครามโลกครั้งที่ ๑ |
นอกจากนั้นยังมีนักประวัติศาสตร์บางคนเข้าใจไปว่า
การที่ได้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษของกองทัพบกอังกฤษครั้งนี้เป็นวิเทโศบายหนึ่งของอังกฤษในการโน้มน้าวให้ทรงประกาศเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่
๑
โดยอ้างถึงความกังวลของอุปทูตเยอรมันและออสเตรียที่เกรงว่ารัฐบาลสยามจะละทิ้งความเป็นกลาง
อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลสยามได้ช่วยจับพวกอินเดียที่คิดขบถ
รวมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม
((Duhram Light Infantry)
และต่อมาสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕
พระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษได้มีพระราชโทรเลขมาอัญเชิญให้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ
และนอกจากจะทรงตอบรับพระราชไมตรีดังกล่าวแล้ว
ยังได้ทรงเชิญสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕
ให้ทรงเป็นนายพลเอกของกองทัพบกสยาม
แต่กรณีดังกล่าวนั้นคงไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่
๑ เพราะปรากฏว่า
แม้จะทรงได้รับยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษแล้วก็ตาม
ก็ยังทรงดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายรักษาความเป็นกลางมาโดยเคร่งครัดต่อมาอีกหลายปี
ดังมีพยานปรากฏว่า
ในการประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๔๖๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา (กมล
สาลักษณ์) สภาเขานุการเสนาบดีสภา
อ่านพระราชบันทึกแนวพระราชดำริในการรักษาความเป็นกลางของกรุงสยามให้ที่ประชุมเสนาบดีทราบ
ความตอนหนึ่งว่า
"ฐานะแท้จริงของกรุงสยามนั้น เป็นอยู่อย่างไร
อาณาเขตของเราตกอยู่ในท่ามกลางระหว่างแดนของอังกฤษและฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้น
ถ้าแม้เราแสดงความลำเอียงเข้าข้างเยอรมันแม้แต่น้อย
เพื่อนบ้านผู้มีอำนาจ
ก็คงจะได้ชนเอาหัวแบนเมื่อนั้น การที่อังกฤษ
ฝรั่งเศส เขายอมให้กรุงสยามคงเป็นกลางอยู่นั้น
ก็เพราะเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้เราเข้ากับเขาเท่านั้น
และถ้าเมื่อใดเขารู้สึกว่าความเป็นกลางของเราเป็นเครื่องกีดขวางแก่เขาแล้ว
ไม่ต้องสงสัยเลยเขาคงจะไม่ยอมให้เราคงเป็นกลางอยู่เป็นแน่แท้"
[๑] |
ทว่าในเวลาที่ทรงนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมเสนาบดีสภานั้น
ทรงตระหนักแน่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารแล้วว่า
กลุ่มมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีหมดหนทางที่จะเอาชนะในมหาสงครามครั้งนี้แล้ว
และถ้าสยามยังคงเป็นกลางต่อไปก็คงจะมีแต่ เสมอตัว
กับ ขาดทุน
เพราะถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสใจดีก็เสมอตัว
แต่ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทมาว่า
ฝรั่งเศสจะขอให้สยามไล่ชาวเยอรมันที่ทำราชการออกทั้งหมด
และให้เราทำสัญญาการค้าใหม่ให้เขาได้เปรียบเยอรมัน
ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราต้องวิวาทกับเยอรมันโดยไม่มีใครมาช่วย
แต่ถ้าเราเข้าข้างสัมพันธมิตรเสียแล้ว ก็มีแต่ ทางได้ กับ
เสมอตัว
เพราะเมื่อสงครามสงบลงแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติที่ชนะสงครามเจรจากับนานาชาติเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและแก้พิกัดภาษีศุลกากร
อนึ่ง
ในเวลานั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วว่า
ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียต่างก็รู้สึกเป็นเกียรติที่สยามจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่อังกฤษยังคงแสดงท่าทีคัดค้านเพราะคำนึงถึงประโยชน์ทางการค้าอยู่
และถ้าสยามไม่คำนึงถึงท่าทีของอังกฤษแล้ว
อังกฤษก็คงจะไม่ยอมรับและคงจะตอบรับการเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรของสยามเช่นเดียวกับที่ตอบประเทศจีนไปก่อนหน้านั้นว่า
"ไม่รู้ไม่ชี้ จะทำสงครามกับเยอรมันก็ทำไปตามลำพัง"
เมื่อที่ประชุมเสนาบดีสภาได้พิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ
แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
และพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้เสนอความเห็นว่า
หากสยามจะเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้
ต้องทำอย่างมีเกียรติ
ที่ประชุมเสนาบดีสภาในวันนั้นจึงได้มีมติว่า
"สยามตกลงจะคุมเชิงไว้จนอังกฤษเปลี่ยนแนว"
แต่อังกฤษก็ยังคงยืนกรานตามแนวทางเดิมตลอดมา
ในการประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.
๒๔๖๐
ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดโดยเชิญทูตสัมพันธมิตรมาหารือพร้อมๆ
กัน แต่การนี้ก็ยังไม่เกิดผลอันใดจนกระทั่งวันที่
๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐
จึงทรงแจ้งให้ที่ประชุมเสนาบดีสภาทราบว่า
อังกฤษตอบรับแสดงความยินดีที่ประเทศสยามจะเข้าสงครามและร่วมรบในสงคราม
ณ ทวีปยุโรป แต่อังกฤษเกี่ยงว่า
ทหารไทยเท่าที่ปรากฏไม่เคยได้รบกับใครมาก่อน
จึงจะให้ทหารไทยไปขนสัมภาระผ่านทะเลทรายเมโสโปเตเมียและส่งเสบียง
ทรงเห็นว่า
ข้อเสนอของอังกฤษนี้เป็นการหมื่นเกียรติยศทหารไทย
จึงทรงหันไปเจรจากับฝรั่งเศส
และเมื่อทูตฝรั่งเศสนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
กองทัพฝรั่งเศสกำลังขาดแคลนเรื่องการพาหนะ
ทั้งเรื่องกองยานยนต์ นักบิน
รวมทั้งเรื่องพยาบาลสนาม ขอให้สยามช่วยใน ๓
เรื่องนี้
เมื่อทรงเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของฝรั่งเศส
จึงได้ทรงเตรียมการประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นลำดับต่อมา
 |
พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เมื่อครั้งเป็น นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ |
ดังนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่า
การที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ทรงได้รับยศนายพลเอกพิเศษของกองทัพบกอังกฤษแต่อย่างใด
แล้วเหตุใดที่ทำให้สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕
คัดสินพระทัยถวายพระเกียรติยศทางทหารแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
 |
แผนที่แสดงการยกกำลังเข้าโจมตีลิเอซของกองทัพเยอรมัน
เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ |
เจ้าอยู่หัวนั้น
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า
น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ได้ทรงแสดงพระปรีชาญาณทางทหารให้เป็นที่ประจักษ์ชัดตั้งแต่ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศเบลเยี่ยม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งพลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด
เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
มหาดเล็กข้าหลวงเดิมและอดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่
๑ ได้บันทึกไว้ว่า
"...ได้เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมต่างๆ
ของประเทศเบลเยี่ยม
ซึ่งในขณะนั้นถือกันว่าเป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป..."
[๒]
และในการพระราชทานเลี้ยงลานักเรียนนายร้อยผาด
เทพหัสดิน ณ อยุธยา [๓]
ซึ่งเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในค่ำวันเดียวกันนั้นเอง
ทรงเล่า
"...ถึงป้อมเมืองลิเอซ
ถึงสะพานและช่องทางที่ข้าศึกอาจยกเข้ามา
ได้ทรงทำนายไว้ว่า เยอรมันจะต้องยกเข้ามาทางนั้น
...และใน ค.ศ. ๑๙๑๔ คือ ๑๓ ปีภายหลัง
กองทัพเยอรมันก็ได้โจมตีลิเอซตามทางที่ทรงทำนายไว้จริงๆ..."
[๔]
 |
(จากซ้าย) |
๑. นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ
๒.
นายพันเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ
ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
๓. นายพันตรี
พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ
๔. นายพลโท
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และราชองครักษ์พิเศษ |
|
นอกจากนั้นเมื่อเสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว
ยังได้ทรงร่วมกับพระเชษฐาและพระอนุชาพัฒนากองทัพบกสยามจนสามารถจัดวางกำลังกองทัพบกเป็น
๑๐ กองพลกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ
และเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๔
ยังได้ทรงใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการทำสงครามทางบก
ซึ่งผู้แทนรัฐบาลสยามได้ร่วมลงนามไว้ในการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮหเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๔๒
โดยทรงจัดตั้งกองเสือป่าเป็นกองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนซึ่งได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงการทำสงครามนั้นเสมอด้วยกำลังทหารในกองทัพบก
ในชั้นนี้จึงน่าจะกล่าวได้ว่า
ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารที่ทรงแสดงให้ปรากฏตั้งแต่ครั้งยังมีพระชนมายุเพียง
๒๐ พรรษาเศษ
และทรงเป็นเพียงนายทหารหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ของอังกฤษ
รวมทั้งพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญให้เห็นชัดในตอนต้นรัชกาลนั้นน่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่
๕
ถวายพระยศพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว