 |
ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อแสดงการสู้รบของทหารฝรั่งเศสในเหตุการณ์
ร.ศ. ๑๑๒ จากวารสารฝรั่งเศส |
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องเสือป่ากับการป้องกันประเทศ
คงต้องย้อนกลับไปศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.
๒๔๓๖ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒"
ซึ่งจากกรณีพิพาทคราวนั้นทำให้สยามต้องสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
ทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนถึง
๓ ล้านฟรังก์
นอกจากนั้นฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้สยามถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่
๒๕
กิโลเมตรตลอดแนวฝั่งขวาแม่น้ำโขงโดยปราศจากข้อต่อรองใดๆ
ทั้งสิ้น
เพราะในเวลานั้นสยามเพิ่งจะเริ่มจัดกองทหารอย่างใหม่
มีกำลังพลทหารบกเพียง ๗ กรม แบ่งเป็นกรมทหารราบ ๔
กรม กรมทหารปืนใหญ่ ๑ กรม กรมทหารช้าง ๑ กรม
และกรมฝีพายอีก ๑ กรม ส่วนกรมทหารเรือนั้นจัดเป็น
๒ กรม คือ กรมทหารเรือพระที่นั่งเวสาตรี
(ทหารช่างแสงเดิม) กับกรมอรสุมพล (ทหารมารีนเดิม)
เมื่อเปรียบเทียบกำลังพลของกองทัพสยามในเวลานั้นกับแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของกองทัพฝรั่งเศสแล้ว
คงจะเปรียบได้กับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง "วิวาหพระสมุท" ที่ว่า
"ผู้ใดมีอำนาจวาสนา |
ธรรมดาอะไรก็หาได้ |
กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้ |
ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ |
ใครหมัดย่อมต้องถ่อมกายายอบ |
ต้องคอยหมอบคอยกราบราบเทียวเหนอ |
คอยระแวงแขยงอยู่ละเออ |
มิได้กล้าเผยอขึ้นตึงตัง |
มีอำนาจวาสนาวาจาสิทธิ์ |
พูดสิ่งใดไม่ผิดเพราะฤทธิ์ขลัง |
ถึงพูดผิดกำหมัดซัดลงปัง |
กลายเป็นพูดถูกจังไปทั้งเพ |
กำหมัดเล็กลูกเด็กก็เถียงไก้ |
จะส่งเสียงเถียงไปไม่ไหวเหว |
ต้องขอยืมหมัดโตไวโบ๊เบ๊ |
เดินโอ้เอ้วางปึ่งให้ถึงดี ฯ"
[๑] |
|
 |
เรือหลวงมกุฎราชกุมาร
ซึ่งได้รับความเสียหายจากการต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤติ
ร.ศ. ๑๑๒ |
จากการที่สยามขาดความพร้อมทั้งกำลังรบและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ
อันเป็นที่ประจักษ์ชัดในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
นี้เอง
ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต้องทรงเร่งรัดปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพด้านกำลังรบของกองทัพไทย
และเพียงเดือนเศษภายเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
กรมขุนเทพทวาราวดี และพระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ
โดยเรือมกุฎราชกุมารซึ่งเป็นพระราชพาหนะไปส่งเสด็จที่สิงคโปร์นั้นยังคงปรากฏความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่
๑ นัดที่หัวเรือ
และมีรอยกระสุนปืนเล็กทั่วทั้งลำเรือ
ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนเทพทวาราวดี
กำลังประทับทรงศึกษาวิชาเบื้องต้นอยู่ที่ประเทศอังกฤษเพื่อเตรียมพระองค์ไปศึกษาวิชาทหารเรือต่อไปนั้น
ทางกรุงเทพฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๗ พรรษา
เกิดประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.
๒๔๓๗
พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรงตั้งพระรัชทายาทขึ้นใหม่เพื่อป้องกันความไม่แน่นอน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งมีพระเกียรติยศเป็นลำดับที่
๒ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชการ
เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗
 |
ภาพล้อแบบ Caricature ซึ่งจิตรกรชาวอังกฤษวาดขึ้น
เมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงอาสาไปรบในสงครามบัวร์ (Beor War)
ที่อาฟริกาพร้อมกับนายทหารราบเบาเดอรัม เมื่อ พ.ศ.
๒๔๔๒
ในภาพทรงเครื่องแบบเต็มยศนายทหรราบเบาเดอรัม
ทรงมงกุฎแบบฝรั่ง มีภาพธงช้างที่มุมบนของภาพ
อันสื่อความหมายว่า
ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งสยามประเทศ
และทรงเป็นนายทหารสังกัดกรมทหารราบเบาเดอรัม |
ด้วยเหตุที่ได้ทรงรับสถาปนาเป็นพระรัชทายาทนี้เอง
จึงทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษาจากวิชาการทหารเรือมาเป็นวิชาทหารบก
และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิรสต์แล้วได้เสด็จไปประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม
(Duhram Light Infantry)
ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่เน้นการรุกรบแบบเคลื่อนที่เร็วชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการพลเรือนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครในตอนปลาย
พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ทรงรับราชการทหารเป็นนายพลเอก
จเรทัพบกและราชองครักษ์พิเศษ
มีพระเกียรติยศเสมอด้วยเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม
ซึ่งปกครองบังคับบัญชาราชการทั้งทหารบกและทหารเรือ
และต่อมายังได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นนายพลเรือเอก
จเรทัพเรืออีกด้วย
 |
ทรงฉายพร้อมด้วยพระเชษฐาและพระอนุชา
ซึ่งทรงรับราชการในกรมยุทธนาธิการ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๙ |
(จากซ้าย) |
๑. นายพลเอก
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร
จเรทัพบกและราชองครักษ์พิเศษ
๒. นายพันเอก
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ
ผู้ช่วยผู้บัญชาการ
กรมยุทธนาธิการ
๓. นายพันตรี พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
ผู้ช่วยกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ
๔. นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ
กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
และราชองครักษ์พิเศษ |
|
ในระหว่างที่ทรงรับราชการทหารในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ได้เสด็จไปทรงงานวางรากฐานกองทัพบกสยามตามแบบกองทัพนานาชาติร่วมกับนายพลโท
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช [๒]
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
ทั้งที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการและที่วังมหานาคของผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงมีพระราชดำริร่วมกันจัดขึ้นในครั้งนั้นคือ
การสานต่อแนวคิดของเสนาบดีสภาที่ได้ดำริวางรูปการกองทัพบกสยาม
และได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์
ร.ศ. ๑๑๒ ไม่นาน ว่า
"การที่จะป้องกันราชศัตรูรักษาพระราชอาณาเขตนี้
จะต้องใช้กำลังทหารบกประมาณ ๕ ส่วน ทหารเรือประมาณ
๒ ส่วน จึงจะพอเพียง
ด้วยท้องที่ในพระราชอาณาเขตจะต้องป้องกันด้วยกำลังทหารบกมีโดยรอบ
จะต้องใช้กำลังทหารเรือแต่ด้านเดียว
แต่ส่วนกำลังทหารบกนั้น
เพราะจะต้องใช้คนมากกว่าเดี๋ยวนี้
ในเวลาปกติจะต้องจัดกองทหารขึ้นทำเลภูมิลำเนาผู้คนซึ่งจะได้กะเกณฑ์มารับราชการ
แลจะต้องตระเตรียมให้มีกำลังไว้ทุกทิศทุกทางให้ทันท่วงทีราชการ
ควรจะจัดทหารบกเป็นหลายกองทัพต่างกองต่างมีแม่ทัพนายกองรับผิดชอบประจำอยู่ตามท้องที่
ทุกทิศแบ่งเป็นมณฑลๆ ไป
ดังได้ทรงพระราชดำริไว้แต่ก่อนนั้น
ส่วนกองทหารบกประจำราชการในกรุงเทพฯ
ก็นับว่าเป็นกองทัพประจำมณฑลอันหนึ่ง
เหมือนกับมณฑลอื่นๆ หรือเมื่อจะว่าโดยย่อ
ก็ควรมุ่งหมายจัดกองทัพทหารบกทำนองมณฑลเทศาภิบาล
ฉะนั้นซึ่งหัวเมืองมณฑลหนึ่ง
มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบ
แลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านการพลเรือนให้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์
เสมอกันทุกมณฑลฉันใด
กองทหารมณฑลหนึ่งก็ควรมีผู้บัญชาการรับผิดชอบคนหนึ่ง
แลเสนาบดีกลาโหมก็เป็นหน้าที่สำหรับตรวจตราคิดอ่านแลทำนุบำรุงการให้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์ให้การเสมอกันทั่วทุกๆ
กอง ฉันนั้น.
ส่วนทหารเรือนั้น
เพราะหน้าที่แคบกว่าทหารบก
แต่เป็นการสุขุมยิ่งกว่าทหารบก
ควรจัดเป็นแต่กองเดียว ผู้บัญชาการอยู่ในกรุงเทพฯ
นี้
แลอยู่ในความตรวจตราแนะนำของกระทรวงกลาโหมเหมือนกับกองทัพบก.
นอกจากนี้ยังควรต้องมีพนักงานอุดหนุนราชการทหารบก
ทหารเรือ คือ พนักงานทำดินปืน
แลเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ พนักงานก่อสร้างเรือรบ
เครื่องต่อสู้ พนักงานบำรุงพาหนะ
แลพนักงานฝึกหัดวิชาทหาร เป็นต้น
อันนับว่าเป็นการส่วนหนึ่งต่างหาก
เหมือนกับกรมพลเรือนในการทหาร
ต่างพนักงานต่างควรจะต้องมีเจ้ากรมปลัดกรมขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมเหมือนกัน
การเหล่านี้ที่นับว่าเป็นกำลังทหารอันควรแลจำเป็นจะต้องมุ่งหมายจัดขึ้นให้บริบูรณ์"
[๓] |