โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐  ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๓. คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ()

 

 

ชุดฟุตบอลชาติสยามที่ลงแข่งขันประเพณีกับชุดราชกรีฑาสโมสร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

ซึ่ง "ข่าวในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙)

ลงข่าวว่า "การแข่งขันยังไม่ชนะกัน จึงยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยในวันนี้"

นั่งแถวหน้าขวาสุด คือ พระปรีชานุสาสน์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้กำกับเส้นฝ่ายสยาม

 

 

          จบการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองของหลวงประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมนักฟุตบอลจากสำรับต่างๆ จัดเป็นชุดฟุตบอลแห่งชาติสยามลงแข่งขันกับนักกีฬาชาวยุโรปชิงถ้วยราชกรีฑาสโมสร ซึ่งถือกันว่า เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติครั้งแรกในประเทศสยาม ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ดังมีบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า

 

          "เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาที ทรงเครื่องเสือป่ากรมม้าหลวง ทรงรถม้าพระที่นั่งเทียม ๔ เสด็จสโมสรราชกรีฑาประทุมวัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำรงค์ตำแหน่งเปนนายกพิเศษมาหลายปีแล้ว เข้าทางโรงเรียนสารวัด นาย เย.โคล ฟิลด์ เยมส์ นายกกรรมการราชกรีฑาสโมสรแลกรรมการคอยเฝ้าอยู่พร้อมกันแล้ว ประทับพลับพลายกซึ่งจัดขึ้นเปนพิเศษ ทำเปนเพิงน่าโขนเล็กๆ ตั้งพระเก้าอี้ทางน่าตะวันออกทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอลรหว่างชาติ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายเข้าแถวรับเสด็จที่น่าพลับพลาแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งลงมือเล่น, ฝ่ายไทยได้ด้านเหนือ ชาวยุโรปได้ด้านใต้ ครึ่งแรกต่างไม่ได้ประตูซึ่งกันแลกัน หยุดพักเหนื่อยครู่หนึ่ง แล้วเปลี่ยนแดนตามธรรมเนียม ครึ่งหลังเวลาราว ๕ นาที นายศรีนวล ร.ร.ราชแพทย์ แนวน่าฝ่ายสยามยิงเข้าประตูได้ ๑ สักพักใหญ่หม่อมเจ้าสิทธิพร  [] แนวน่าแลหัวน่าชุดฝ่ายสยาม ยิงเข้าประตูได้อีก ๑ ต่อมานายวอลซ์แนวน่าฝ่ายยุโรปยิงได้ ๑ ต่อนี้ไปฝ่ายสยามรุกขนาบได้เตะมุม ๒ ครั้ง ก็พอหมดเวลา รวมฝ่ายสยามได้ ๒, ฝ่ายยุโรปได้ ๑ จึงเปนอันว่าฝ่ายสยามชนะได้เห็นแถวเฝ้าอีกครั้ง ๑ คนดูต่างโยนหมวกตบมือโห่ร้องไชโยวิ่งตรงไปน่าพลับพลา โปรดพระราชทานถ้วยทองของราชกรีฑาแก่คณะฟุตบอลสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพรรับพระราชทานต่อพระหัดถ์ แลพระราชทานเหรียญที่ระฤกเปนรางวัลแก่ฝ่ายชนะเรียงตัว คนดูซึ่งห้อมล้อมอยู่โห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พระราชทาน ครั้นเสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง สมาชิกราชกรีฑาสโมสรปลดม้า แล้วพร้อมกันเข้าห้อมล้อมลากเข็นรถพระที่นั่ง ซึ่งกรรมการอัญเชิญเสด็จไปที่สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่ นาย เย.โคล ฟิลด์ เยมส์ อ่านคำถวายไชยมงคลในนามของสมาชิกแห่งราชกรีฑา มีพระราชดำรัสตอบแลพระราชทานพระบรมราโชวาท แลทรงเปิดสโมสรแล้วเสด็จทอดพระเนตรห้องต่างๆ ต่อไป เวลาราว ๑ ทุ่มเสด็จกลับ

 

          ในการแข่งขันฟุตบอลวันนี้ สโมสรได้จัดที่นั่งด้านพลับพลาทั้ง ๒ ข้าง ตั้งเก้าอี้ยาวแลอัฒจันท์ไว้ นั่งได้ราว ๓๕๐ คน ขายที่ละ ๑ บาท นอกจากนี้ยืนรอบสนามไม่ต้องเสีย แลได้ถ่ายรูปไว้เปนที่รฤกด้วย รายนามผู้ที่เข้าแข่งขันฟุตบอลวันนี้ คือ ฝ่ายสยาม แนวหน้า ๑. นายจรูญ (กรมม้าหลวง ร.อ.) ๒. นายโชติ ยูปานนท์ (กรมนักเรียนเสือป่าหลวง) ๓. นายชอบ (กรมม้าหลวง ร.อ.) ๔. หม่อมเจ้าสิทธิพร (หัวน่าชุด) ๕. นายศรีนวล (ร.ร.ราชแพทย์) แนวหนุน ๖. นายแถม (ร.ร.ราชแพทย์) ๗. นายตาด (กรมม้าหลวง ร.อ.) ๘. นายกิมฮวด (ร.ร.ราชแพทย์) แนวหลัง ๙. นายภูหิน (ร.ร.นายเรือ) ๑๐. นายต๋อ (ร.ร.ราชแพทย์) ผู้รักษาประตู ๑๑. นายอิน (กรมราบหลวง ร.อ.) ฝ่ายยุโรป แนวหน้า ๑. นายโกรนิแมน ๒. นายโคลบี ๓. นายรอเบิส ๔. นายแรมเซ ๕. นายวอลซ์ แนวหนุน ๖. นายโอลเซน ๗. นายเคร็ก ๘. นายเย็นซัน แนวหลัง ๙. นายแมลคัม ๑๐. นายรีท ผู้รักษาประตู ๑๑. นายเย็นกินซ์ ผู้ตัดสิน นายรอเบิตซัน  [] ผู้กำกับเส้นฝ่ายสยาม หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) []"  []

 

[]

 

 

          เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยถึงประโยชน์ของกีฬาฟุตบอล ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน "ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย" ว่า

 

          "ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนสิ่งที่พึงปรารถนายิ่งนักและเปนการเหมาะสมกับความต้องการที่ได้มีมานานแล้ว. กล่าวคือ การเล่นอย่างใดอย่าง ๑ ซึ่งประกอบด้วยความบันเทิงใจและให้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานโดยปราศจากลักษณอันน่าชัง เช่นการพนัน และการทะเลาะวิวาทกัน. อีกประการ ๑ ฟุตบอลเปนสิ่งที่ได้ให้ผลดีกว่าอย่างอื่นในการเพาะความรู้สึกเปนมิตร์ และชักนำให้บุคคลต่างหมู่ต่างเหล่าได้มามีโอกาสพบปะกระทำความสามัคคีสนิทสนมซึ่งกันและกัน

 

          ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้แหละ ถึงแม้ตัวข้าพเจ้าเปนกลางด้วยประการทั้งปวง ข้าพเจ้าต้องขอแสดงตนว่าเปนผู้หนึ่งซึ่งเห็นชอบด้วยกับการเล่นของอังกฤษชนิดนี้ และมีความปรารถนาจะให้ได้แพร่หลายต่อไป. การที่ข้าพเจ้าชอบและเลงเห็นคุณประโยชน์ของฟุตบอลนี้ บางทีจะเปนด้วยข้าพเจ้าได้รับการศึกษามาอย่างอังกฤษก็เปนได้ แต่ข้าพเจ้าหวังใจว่าผู้อ่านของท่านคงจะไม่เหมาเอาว่าเปนเพราะเหตุนั้นอย่างเดียว ที่ทำให้ข้าพเจ้าพอใจแลส่งเสริมฟุตบอล ข้าพเจ้าหวังใจและเชื่อว่าผู้อ่านของท่านทั้งหลายคงจะได้รู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าฟุตบอลนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่คนไทยผู้ร่วมชาติของข้าพเจ้ารุ่นใหม่นี้เพียงใดและด้วยเหตุนั้น คงจะช่วยกันปรารถนาให้การเล่นชนิดนี้ซึ่งชาวอังกฤษผู้มีนิสัยรักใคร่การกรีฑาได้ทำให้ปรากฏซึ่งคุณประโยชน์แล้วนั้น ยืนยงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน"  []

 

 

ลายพระราชหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

"บันทึกหัวข้อ ว่าด้วยระเบียบปกครองคณฟุตบอลแห่งสยาม"

 

 

          ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมจัดตั้ง "คณฟุตบอลแห่งสยาม" ขึ้น โดยได้ทรงร่าง "บรรทึกหัวข้อ ว่าด้วยระเบียบปกครองคณฟุตบอลแห่งสยาม" พระราชทานให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) อุปนายกและประธานกรรมการถ้วยทองนักรบประจำปี พ.ศ. ๒๔๕๘ นำไปแถลงในที่ประชุมจัดตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามเพื่อเป็นแนวทางในการยกร่าง "ข้อบังคับลักษณปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม" ดังนี้

 

"อธิบายพระราชประสงค์

๑. ยังมีผู้เฃ้าใจยังไม่แจ่มแจ้งอยู่บ้างในเรื่องตั้งกรรมการคณฟุตบอลแห่งสยาม เพราะฉนั้นขออธิบายว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับเปนพระราชธุระทรงเลือกตั้งกรรมการชุดแรกนั้น เพราะว่าเปนเวลาที่เริ่มแรกจะตั้งคณฟุตบอลแห่งสยามขึ้น ยังมิได้มีสมาชิกอยู่ก่อนซึ่งจะเปนผู้เลือกกรรมการได้ แต่เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ทรงตั้งกรรมการชุดแรก เปรียบเหมือนทรงว่าศิลาฤกษ์แล้วฉนี้ ก็มีพระราชประสงค์ให้คณฟุตบอลสยามเลี้ยงตัวเองและจัดการปกครองตัวเองสืบไป ตามแบบอย่างแห่งคณและสมาคมอื่นๆ และกรรมการที่จะเปนสภาปกครองและกระทำกิจธุระของคณฟุตบอลสยามต่อไปนี้ มี พระราชประสงค์จะให้สมาชิกมีเสียงเลือกตั้งขึ้นเอง.

 

 

การเลือกกรรมการและสภา

๒. บัดนี้ฃ้าพเจ้าขออนุญาตแสดงความเห็นของฃ้าพเจ้าในเรื่องการ เลือกตั้งกรรมการแห่งคณฟุตบอลแห่งสยามดังต่อไปนี้ คือ :-

 

(๑) ครั้นว่าจะให้สมาชิกทั้งหมดแห่งคณฟุตบอลแห่งสยามมาประชุมนายก พร้อมกันแล้วและเลือกกรรมการ ก็เกรงว่าจะไม่เปนการสดวก, เพราะ

 

ประการ ๑ ที่ประชุมจะมีคนมาอยู่มากจนเกินที่จะกระทำกิจธุระให้สำเร็จได้โดยไม่เปลืองเวลาเกินเหตุ; และอีกประการ ๑ สมาชิกแห่งสโมสรต่างๆ อาจที่จะไม่มีโอกาศที่จะได้มาในการประชุมได้โดยจำนวนอันสม่ำเสมอกัน, เพราะฉนั้นถ้าหากว่าพะเอินกิจการเปนที่ไม่พอใจแห่งสมาชิกบางจำพวก, เช่นต่างว่าในการเลือกกรรมการนั้น สมาชิกคน ๑ แห่งสโมสร

ก ได้รับเลือกเปนคะแนนมาก แต่สมาชิกคน ๑ แห่งสโมสร

ข ได้คะแนนน้อยจึ่งไม่ได้เปนกรรมการฉนี้, พวกสโมสร ข อาจจะ รู้สึกว่าเสียเปรียบ เพราะสมาชิกสโมสรตนพะเอินไปในที่ประชุมใหญ่ไม่ได้มากเท่าสมาชิกสโมสร ก ดังนี้เปนต้น,

 

(๒) ฉนั้นจึ่งเห็นว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาที่จะเลือกกรรมการสำหรับคณฟุตบอลแห่งสยาม ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ :

(ก) ให้เลฃาธิการบอกกำหนดวันประชุมไปให้สโมสรต่างๆ ทราบล่วงหน้า ๗ วัน

(ข) เมื่อได้รับคำบอกกล่าวของเลฃาธิการเช่นนี้แล้ว ให้สโมสรต่างนัดประชุมสมาชิกสโมสรของตน เพื่อเลือกสมาชิก ๓ นายส่งไปเปนผู้แทนสโมสรในที่ประชุมใหญ่เลือกกรรมการคณฟุตบอลแห่งสยาม

(ค) เมื่อถึงกำหนดวันนัดประชุมให้ผู้แทนสโมสรต่างๆ ไปประชุมพร้อมกัน เพื่อเลือกกรรมการ. ผู้แทนสโมสรไม่จำเปนต้องเปนกรรมการสโมสรนั้น

 

(๓) ในการเลือกกรรมการควรใช้ระเบียบลงคะแนนในกระดาษ คือ เลฃาธิการส่งกระดาษให้แก่ผู้แทนสโมสรต่างๆ คนละแผ่น. ในกระดาษนั้นมีเลขหมายตั้งแต่ ๑ ถึง ๗; ให้ผู้แทนสโมสรต่างๆ เขียนนามผู้ที่ตนปรารถนาเลือกเปนกรรมการคณฟุตบอลแห่งสยาม ตามลำดับเลข รวม ๗ นาย, และเมื่อเขียนนามเสร็จแล้ว ให้พับกระดาษให้มิดชิด แล้วและส่งกระดาษให้แก่เลขาธิการ.

 

(๔) เมื่อรวบรวมกระดาษใบลงคะแนนนั้นหมดแล้ว ให้เลฃาธิการกับผู้ช่วยตรวจนามในใบลงคะแนน และนับว่าผู้ใดได้รับเลือกกี่คะแนน. ผู้ใดที่ได้คะแนนมากที่สุดนับว่าได้เปนสภานายกแห่งคณฟุตบอลแห่งสยามประจำปีนั้น.

 

(๕) เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้เปนสภานายกแล้ว, ให้ถือว่า ผู้ได้คะแนนเปนที่ ๒ ถึง ๗ คงเปนอันได้เปนกรรมการคณฟุตบอลแห่งสยามประจำปีนั้น.

 

 

การตั้งเจ้าน่าที่ต่างๆ

๓. เมื่อได้เลือกสภานายกแลกรรมการอีก ๖ นายตามที่กล่าวมาแล้วนั้นเสร็จแล้ว, ควรให้สภานายกเลือกตั้งกรรมการที่ได้รับเลือกใหม่แล้วนั้น ให้เปนอุปนายกนาย ๑, เลฃาธิการนาย ๑, เหรัญญิกนาย ๑, และเจ้าน่าที่อื่นๆ ตามแต่จะเห็นสมควร, แต่ไม่จำเปนจะต้องให้รับน่าที่ตามลำดับคะแนนหามิได้, ให้สภานายกเลือกตั้งตามที่เห็นชอบเอง.

 

 

ประชุมใหญ่

 ๔. การประชุมผู้แทนสโมสรต่างๆ โดยระเบียบเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ควรไว้ใช้แต่ในกิจการสำคัญ ๒ อย่างเท่านั้น คือ (ก) การเลือกกรรมการคณฟุตบอลประจำปี (ข) การแก้ข้อบังคับปกครองคณฟุตบอลแห่งสยาม การประชุมเช่นนี้ควรเรียกว่า "ประชุมใหญ่วิสามัญ".

 

สำหรับกระทำกิจการโดยปรกติของคณ, เช่นปฤกษาวางระเบียบการบางอย่าง, ตั้งข้อบังคับย่อย, และพิจารณาปัญหาต่างๆ เนื่องด้วยการเล่นฟุตบอล, ถ้าจะนัดประชุมใหญ่อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้นทุกๆ คราวไปก็ดูจะเปนการฟั่นเฝือเหลือเกินไปนัก, เพราะฉนั้นเห็นควรมีการประชุมใหญ่อีกอย่าง ๑ เรียกว่า "ประชุมใหญ่สามัญ"; คือให้เลฃาธิการนัดไปยังสโมสรต่างๆ ให้ส่งเลฃานุการหรือกรรมการคน ๑ มาประชุมลงคะแนนพูดในนามแห่งสโมสร

 

 

การเปลี่ยนตัวกรรมการ
ในระหว่างปี

๕. กรรมการคณฟุตบอลแห่งสยามที่ได้รับเลือกแต่ต้นปีแล้วนั้น, ถ้ามีเหตุจำเปนที่จะต้องออกจากตำแหน่งก่อนสิ้นปี, ควรให้กรรมการสภามีอำนาจเลือกสมาชิกผู้อื่นเฃ้ารับตำแหน่งแทนผู้ที่ออกจากตำแหน่ง, ไม่ต้องนัดประชุมใหญ่วิสามัญสำหรับเลือก.

 

 

ข้อความเบ็ตเตล็ดเนื่อง
ด้วยกรรมการคณฟุตบอล

๖. ในกรรมการสภาแห่งคณฟุตบอลแห่งสยามไม่ควรจะให้มีสมาชิกสโมสรใดๆ เปนกรรมการอยู่กว่า ๑ นาย, เพื่อสโมสรทั้งหลายจะได้ไม่ รู้สึกว่าเสียเปรียบซึ่งกันแลกัน.

 

๗. กรรมการที่ได้รับตำแหน่งในปี ๑ แล้ว จะเลือกให้รับตำแหน่งเปนกรรมการซ้ำอีกก็ได้ ไม่ขัดข้อง.

 

๘. ในการประชุมกรรมการสภา ต้องมีกรรมการอยู่ในที่ประชุม ๔ นายเปนอย่างน้อยจึ่งจะนับว่าเปนองค์ประชุม และกระทำกิจธุระได้โดยบริบูรณ."  []

 

 

 


[ ]  หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

[ เสื้อขาวนั่งกลาง

[ ยืนขวาสุด

[ หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑ เรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๘).

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑๑ เรื่อง ว่าด้วยระเบียบปกครองคณฟุตบอลแห่งสยาม (ม.ท.)

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |