โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๒. โรงเรียนยุพราชพระราชวังสราญรมย์

 

           ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องของมหาดเล็กพอให้เห็นภาพแล้วว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงหม่อมเจ้า เชื้อพระวงศ์และบุตรหลานข้าราชการตลอดตนลูกหลานชาวไร่ชาวนาไว้จำนวนหนึ่ง ทรงพระมหากรุณาแก่ทุกคนโดยเสมอหน้ามิได้ทรงแยกแยะว่าผู้ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้นั้นมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เมื่อมาอยู่ใต้ร่มพระบารมีแล้วก็พระราชทานเงินตราผ้านุ่งห่มรวมตลอดทั้งการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจใฝ่ศึกษาของแต่ละคน
          แต่ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องการศึกษาของมหาดเล็กเด็ก ๆ ขอกล่าวถึงธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านายของไทยแต่โบราณเสียก่อน การเฉลิมพระยศเจ้านายให้ทรงกรมนั้นเริ่มมีขึ้นจากการที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้รวบรวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหญ่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวง มีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพให้ขึ้นในสมเด็จสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงออกกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า “เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ” เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า “เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ” หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของกรมหลวงโยธาทิพและกรมโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นนามส่วนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับพระนามเจ้าต่างกรมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
          นามกรมของเจ้านายแต่ละพระองค์นั้นล้วนเป็นนามที่ไพเราะและมักจะมีความหมายถึงพระปรีชาสามารถในเจ้าต่างกรมพระองค์นั้น ๆ แต่นามกรมที่เป็นชื่อหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักรเพิ่งจะเริ่มพระราชทานเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชโอรสพระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจะได้รับพระราชทานพระนามกรมเป็นอดีตราชธานีหรือเป็นชื่อเมืองลูกหลวงชั้นเอก ส่วนปลัดกรมและสมุห์บัญชีซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากเจ้ากรมลงไปก็จะมีชื่อเป็นหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ส่วนพระราชโอรสพระราชธิดาชั้นพระองค์เจ้านั้น ต่างก็ได้รับพระราชทานพระนามกรมเป็นนามมณฑลและจังหวัด ส่วนปลัดกรมและสมุห์บัญชีก็จะได้รับพระราชทานนามเป็นชื่อเมืองในมณฑลที่เป็นพระนามกรม หรือชื่ออำเภอในจังหวัดที่เป็นพระนามกรม ลดหลั่นกันลงมาตามพระชันษา
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกทรงกรมนั้น ทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น “กรมขุนเทพทวาราวดี” เจ้ากรมจึงมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเทพทวาราวดี ปลัดกรมเป็น หมื่นบุรีนวราษฐ และสมุหบาญชีเป็น หมื่นชาญชาติเกไดศวริย์ ซึ่งนามทั้ง ๓ นี้ ล้วนมีความหมายถึงชื่อราชธานีและหัวเมืองประเทศราชในยุครัตนโกสินทร์ คือ

 

เทพทวาราวดี

หมายถึง

กรุงเทพทวาราวดี ศรีอยุธยา หรือกรุงศรีอยุธยา

บุรีนวราษฐ     

หมายถึง    

เมืองใหม่ หรือนครเชียงใหม่

ชาญชาติเกไดศวริย์

หมายถึง

มืองเคดาห์ (เกได) หรือ ไทรบุรี

                                         

พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)

เมื่อครั้งยังเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมหาดเล็กมาประจำรับราชการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ตามพระเกียรติยศและเพื่อทำหน้าที่ควบคุมข้าคนในพระองค์ ประกอบไปด้วยพระเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย) [] เป็นเจ้ากรม หลวงบุรีนวราษฐ์ (จันทร์ จิตรกร) [] เป็นปลัดกรม หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล) [] เป็นราชเลขานุการ และนายวรการบัญชา (เทียบ อัศวรักษ์) [] เป็นจางวางรถม้า คุณมหาดเล็กเหล่านี้เป็นมหาดเล็กชั้นใหญ่มีราชการประจำตามตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กโดยได้ทูลเกล้าฯ ดอกไม้ธูปเทียนและทรงรับเป็นมหาดเล็กเรือนนอก คือ ผู้ที่มิได้มีตำแหน่งราชการประจำในพระองค์เพียงแต่ได้ถวายการรับใช้ตามโอกาส เช่น เจ้าวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ [] เจ้าน้อยแก้วเมืองพวน ณ ลำปาง [] หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นต้น

                      

พระราชวังสราญรมย์

 

          ส่วนเด็ก ๆ ที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงไว้กว่า ๕๐ คนนั้นล้วนมีอายุแตกต่างกัน บางคนได้เล่าเรียนมาก่อนถวายตัวก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปเล่าเรียนตามโรงเรียนที่ได้เล่าเรียนมาแต่เดิม ส่วนเด็ก ๆ ที่อายุยังน้อยซึ่งมีอยู่กว่า ๓๐ คนยังมิได้รับการศึกษาเท่าที่ควร หากจะให้อยู่เฉย ๆ ก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระราชวังสราญรมย์ มีชื่อว่า “โรงเรียนยุพราช” อันมีความหมายว่าเป็นโรงเรียนของสมเด็จพระยุพราช ทรงจัดให้พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์เป็นผู้ดูแลและกำกับการสอนนักเรียน และทรงจ้างครูพิเศษมาสอนเพิ่มเติมด้วย วิชาที่ทรงกวดขันมากเป็นพิเศษ คือ วิชาภาษาไทย ซึ่งโปรดให้ครูภาษาไทยนำหนังสือ สังกรประโยค สังโยคภิธาน และพิศาลการันต์ มาเป็นตำราสอนนักเรียนในพระองค์ เพื่อให้ได้เรียนรู้หลักของภาษาไทย จึงมีคำกล่าวต่อ ๆ กันมาว่า เด็กนักเรียนจากโรงเรียนยุพราชนี้เมื่อไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่น มักจะได้รับคำยกย่องจากครูอาจารย์ที่สอนว่า รู้หลักภาษาไทยดี และสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ เกือบทุกคน
          ในส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้นเมื่อเสด็จกลับจากทรงงานที่กรมยุทธนาธิการในตอนเย็นแล้ว ก็มักจะทรงสอนเด็ก ๆ ทั้งที่กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนยุพราชและผู้ที่กลับจากการเล่าเรียนในโรงเรียนอื่น ๆ แล้วด้วยพระองค์เอง วิชาที่ทรงสอนมีทั้งภาษาอังกฤษ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังทรงกวดขันในเรื่องความประพฤติของเด็ก ๆ ทุกคน ที่ทรงกำชับครูผู้สอนคือให้กวดขันมิให้นักเรียนขาดเรียนหรือมาโรงเรียนสาย แต่ปรากฏว่าวันหนึ่งมีนักเรียนคนหนึ่งมาโรงเรียนสายกว่าปกติ จึงมีการสอบสวนกันจนได้ความว่ากลางคืนหนีไปเที่ยวจนดึกเลยตื่นมาโรงเรียนสาย โปรดให้ทำโทษโดยให้เขียนคำว่า “ต่อไปจะหมั่นศึกษาเล่าเรียนและจะไม่มาโรงเรียนสายอีก” เป็นจำนวน ๑,๐๐๐ จบ นักเรียนคนนั้นต้องนั่งคัดข้อความดังกล่าวอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่บ่ายไปจนถึง ๒๐ นาฬิกาจึงเสร็จ จึงมิได้รับประทานอาหารเย็น ต้องรอจนเสวยเสร็จซึ่งก็ดึกมากแล้วจึงได้รับพระราชทานเครื่องที่เหลือจากเสวย
          โรงเรียนยุพราชที่พระราชวังสราญรมย์นี้คงเปิดสอนต่อเนื่องมาจนได้เสด็จเสวยสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่โดยที่ในช่วงแรกที่ทรงรับราชสมบัตินั้นมีพระราชกิจสำคัญที่ต้องทรงปฏิบัติหลายประการ ทั้งการประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร จึงต้องทรงทิ้งเด็ก ๆ มหาดเล็กรุ่นเยาว์นั้นไว้ที่พระราชวังสราญรมย์ จนถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มหาดเล็กข้าหลวงเดิมไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเรียนพระราชปฏิบัติเรื่องจัดการศึกษาชาติ และในวันเดียวกันนั้นได้มีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้พระยาไพศาลศิลปสาตร์จัดการตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประทับในเวลานั้น แล้วจัดการย้ายมหาดเล็กเด็ก ๆ ที่ยังเล่าเรียนอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ และที่พระราชอุทยานสราญรมย์มาเล่าเรียนรวมกันที่โรงเรียนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา แต่เนื่องจากวันที่ ๑ มกราคมซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษานั้นเป็นวันอาทิตย์ พระยาไพศาลศิลปสาตร์จึงได้จัดการย้ายนักเรียนมหาดเล็กรุ่นเยาว์มาเปิดการเรียนการสอนที่ตึกโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดีที่โบราณท่านถือว่าเป็นวันครู และโดยที่นักเรียนทั้ง ๔๑ คนในวันเปิดโรงเรียนนั้นล้วนเป็นผู้ที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแล้ว ในเวลาต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง”

 

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบำเรอบริรักษ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุศาสน์จิตรกร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าราชบุตรนครเชียงใหม่

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าราชบุตรนครลำปาง

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |