๕๔.
จากดุสิตธานีสู่โฮเต็ลพญาไท (๒)
นอกจากเรื่องที่พักอาศัยแล้ว
ทวยนาครในดุสิตธานีทุกคนยังต้องประกอบการงานอาชีพเป็นการมั่นคง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นทวยนาครคนหนึ่งของดุสิตธานี
ทรงเลือกที่จะเป็น "นายราม ณ กรุงเทพ" เนติบัณฑิต
อาชีพทนายความ และทรงเป็นพระรามราชมุนี
เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย ที่สำคัญคือ
นับแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาดุสิตธานีขึ้นเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๖๑ ตราบจนเสด็จสวรรคตนั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินเหยียบดุสิตธานีในฐานะพระมหากษัตริย์เพียง
๒ ครั้ง คือ
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารอาสาในดุสิตธานีครั้งหนึ่ง
กับในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานีที่ได้สร้างขึ้นใหม่
เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
 |
นายกองเอก พระยามหามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์
- ชูโต) |
การจัดการปกครองภายในดุสิตธานีนั้น มีรายละเอียดปรากฏใน "แบบเรียนจังหวัดดุสิตธานี
ของพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (พงษ์ สวัสดิ์ - ชูโต)
[๑]
พ.ศ. ๒๔๖๑" ว่า
"จังหวัดดุสิตธานีนี้มีพระมหากษัตริย์เปนผู้ปกครองเปนประธาน
แล้วและทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานอำนาจบางอย่างให้แก่ทวยนาครปกครองกันเอง
ทวยนาครสมมตตั้งหัวน่าขึ้นคนหนึ่ง คือ นคราภิบาล
ซึ่งเปนผู้รับอำนาจนั้นมาปฏิบัติให้เปนไป
ส่วนอำนาจอันใดที่มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ก็ยังมีอยู่ในพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
ซึ่งมีสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณอีกฝ่ายหนึ่ง
เพราะฉนั้นอำนาจอันใดที่ได้พระราชทานแล้วนั้น
หากมีเหตุผลซึ่งไม่เหมาะแก่ความเจริญ
จะทรงเลิกถอนเสียก็ได้" [๒] |
 |
หม่อมเจ้าปราณีนวบุตร นวรัตน
สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิตราชธานี |
ความในแบบเรียนจังหวัดดุสิตธานีดังกล่าว
แสดงให้เห็นชัดว่า
หากจะทรงนำการทดลองการปกครองที่ให้ประชาชนปกครองกันเองในสภาวะที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจทั้งทั้งข้าราชการและประชาชนในพื้นที่จริง
คงจะสร้างความสับสนและวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองจนยากที่จะเยียวยาแก้ไข
จึงได้มีพระราชดำริให้สร้างดุสิตธานีเป็นเมืองจำลอง
แล้วโปรดให้จัดการการปกครองเมืองจำลองดุสิตธานีเป็นจังหวัดดุสิตธานี
ในมณฑลดุสิตราชธานี
เฉกเช่นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลที่ใช้เป็นหลักในการปกครองหัวเมืองมณฑลต่างๆ
ทั่วราชอาณาจักรในเวลานั้น โปรดให้หม่อมเจ้าปราณีนวบุตร
นวรัตน
เจ้ากรมพระราชมณเฑียรพระราชวังดุสิตซึ่งเคยเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลจันทบุรี
ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิต
ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการทั้งปวงในมณฑลดุสิต
มีจังหวัดดุสิตธานีเป็นหน่วยปกครองระดับจังหวัด
นอกจากนั้นยังทรงกำหนดให้มีส่วนราชการในระดับมณฑล
ทั้งศาลมณฑล อัยการมณฑล สรรพากรมณฑล เกษตรมณฑล ธรรมการมณฑล
พระคลังมณฑล กรมทหาร และกองตำรวจภูธรประจำมณฑล
มีการแบ่งส่วนราชการระดับรองลงเป็นอำเภอ
และสถานีตำรวจภูธรประจำทุกอำเภอ ในส่วนสาธารณูปการก็มี
โรงพยาบาล ธนาคาร โรงเรียน สวนสาธารณะ ไปรษณีย์
บริษัทไฟฟ้า บริษัทประปา และกองดับเพลิง
เหมือนกับที่มีอยู่ในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทุกประการ
นอกจากนั้นยังทรงกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ
โดยภาษีที่ดินเรียกเก็บในอัตราตารางเมตรละ ๑๐ สตางค์/ปี
ภาษีโรงเรือนในอัตราร้อยละ ๒๐ ของค่าเช่า
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการจำหน่ายสุราปีละ ๑.๖๐ บาท
ใบอนุญาตยานพาหนะ เรือลำละ ๑๐ สตางค์ ล้อเลื่อนคันละ ๒๐
สตางค์ เงินภาษีและค่าใบอนุญาตต่างๆ เหล่านี้
รวมทั้งเงินค่าเช่าบ้านของพระคลังข้างที่และรายได้จากค่าธรรมเนียมอื่นๆ
ล้วนโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงสาธารณกุศลทั้งสิ้น
ในส่วนการการปกครองท้องที่ในระดับอำเภอ
ซึ่งเป็นส่วนการปกครองในระดับรองลงไปจากจังหวัดนั้น
ก็มีนายอำเภอซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่เช่นเดียวกับนายอำเภอในหัวเมืองทั่วไป
ทั้งนี้ ดุสิตธานีมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๖ อำเภอ คือ
 |
มุมหนึ่งของพระราชวังพระวัชรินทร์ราชนิเวศน์
พระบรมมหาราชวังแห่งดุสิตธานี |
๑) อำเภอดุสิต
เป็นที่ตั้งพระราชวังวัชรินทร์ราชนิเวศน์
ซึ่งเป็นพระบรมมหาราชวังของดุสิตธานี มีสวนคนธรรพอุทยาน
สวนนันทอุทยานเป็นสวนสาธารณะ มีโรงทหารบก สโมสรเสือป่า
ดุสิตธนาคาร โรงเรียนศรเกตุศึกษาสถาน และวัดธรรมาธิปไตย
กับบ้านทวยนาครอีกจำนวนหนึ่ง
๒) อำเภอปากน้ำ มีแม่น้ำดุสิตไหลผ่านไปออกทะเล (อ่างหยก)
และเป็นที่ตั้งพระวรุณราชนิเวศ วัดพระพุทธบาท
โรงเรียนปากน้ำ โรงทหารราชนาวี และบ้านทวยนาคร
๓) อำเภอดอนพระราม มีบ้านทวยนาครและสวนสาธารณะชื่อ
สวนพระรามประทาน
๔) อำเภอบึงพระราม เป็นที่ตั้งพระราชวังอังกฤษ
ในอำเภอนี้มีน่านน้ำ เกาะแก่ง
มีน้ำพุออกมาจากใต้ดินเป็นลำนำไหลไปรวมกับแม่น้ำดุสิต
มีวัดศุขสมาวาส โรงพยาบาลสุนทรเวช โรงเรียนศรีวรรธนาลัย
โรงเรียนชมเสวี
และบึงพระรามภัตตาคารซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสโมสรแข่งเรือ
๕) อำเภอบางไทร เป็นอำเภอศูนย์กลางการค้า
มีผู้คนอาศัยหนาแน่น
มีวัชรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของดุสิตธานี
มีวัดพระบรมธาตุ ดุสิตหรือคนธรรพนาฏศาลาเป็นโรงละครหลวง
มีโรงภาพยนตร์ และโรงเรียนพึ่งบุญพิทยาคาร
๖) อำเภอเขาหลวง มีภูเขาซึ่งเป็นต้นแม่น้ำดุสิต
เป็นที่ตั้งพระราชวังมหาคีรีราชปุระ มีบ้านคหบดีใหญ่ๆ
จำนวนมาก กับเป็นที่ตั้งน้ำตกสนานสร้อยฟ้าและโรงอาบน้ำร้อน
การปกครองอีกรูปแบบหนึ่งที่ทรงริเริ่มให้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในดุสิตธานี
คือ
การจัดการปกครองโดยให้ทวยนาครปกครองเลือกกันเองขึ้นเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล
ซึ่งทรงนำต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ
โปรดพระราชทานพระราชอำนาจให้ทวยนาครของดุสิตธานีเลือกทวยนาครคนหนึ่งขึ้นเป็น
"นคราภิบาล" และเลือกทวยนาครอีกอำเภอละ ๒ คนเป็น "เชษฐบุรุษ"
เพื่อทำหน้าที่บริหารงานเป็นเสมือนนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล
 |
นายกองตรี พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล)
นคราภิบาลคนแรกของดุสิตธานี |
 |
ภาพล้อฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
"นคราภิบาลผู้มีสัก"
ซึ่งทรงล้อ พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล)
ว่าเป็นนคราภิบาลผู้มี "สัก" แทน "ศักดิ์" |
ในการเลือกตั้งครั้งแรกของดุสิตธานีนั้น
เนื่องจากไม่มีใครรู้จักหรือเคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมาก่อน
หม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร นวรัตน สมุหเทศาภิบาลฯ
จึงได้เชิญท่านราม ณ กรุงเทพ
ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศและเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องระบอบการปกครองมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง
ท่านรามฯ
ได้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลและเชษฐบุรุษจนสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี
โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ พระยาสุจริตธำรง (โถ
สุจริตกุล) [๓]
เป็นนคราภิบาลเป็นคนแรก แต่เนื่องจากยังมิได้โปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศใช้ "ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี)
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑
จึงมีการล้อเลียนท่านนคราภิบาลผู้นั้นเป็น "นคราภิบาลผู้มีสัก"
|