๕๙.
จากดุสิตธานีสู่โฮเต็ลพญาไท (๓)
ภายหลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองดุสิตธานีแล้ว
ท่านสมุหเทศาภิบาลฯ ได้มีบัญชาให้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
และได้เชิญท่านราม ณ กรุงเทพ
ให้ไปอำนวยการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ท่านรามฯ ทูลให้ทราบว่า
ติดธุระไม่สามารถมาอำนวยการได้ และได้แนะนำให้ท่านเทศาฯ
ทรงเชิญผู้อื่นมาทำหน้าที่นี้แทน จึงได้พระยาราชเสนา (สหัส
สิงหเสนี)
[๑]
ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งต่อมาอีกหลายครั้ง
ในการที่ท่านรามฯ
ตอบปฏิเสธไม่มาอำนวยการเลือกตั้งครั้งที่สองนั้น ท่านรามฯ
ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า
"การลงคะแนนเลือกตั้งนี้สำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย
และฉันก็ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างและเรียบร้อยแล้ว
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากองการเมือง
ควรมาลองทำดูบ้าง" [๒]
ถึงแม้การเลือกตั้งในดุสิตธานีจะได้ดำเนินมาหลายครั้ง
โดยมีนายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค)
ได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนสุดท้ายและเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด
แต่ปัญหาและอุปสรรคสำคัญภายหลังการเลือกตั้งก็คือ
"ได้รับเลือกตั้งมาแล้ว
และแต่งตั้งบุคคลประกอบเป็นคณะนคราภิบาลแล้ว
แต่ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป" [๓]
จึงทำให้เกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในดุสิตธานี
จนต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่อยู่หลายครั้ง
เนื่องจากดุสิตธานีเป็นเพียงเมืองตุ๊กตาที่คนไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้
จึงต้องมีอาคารขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้เคียงที่ทวยนานครจะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริง
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ทวยนาครสามารถเข้าไปใช้ได้จริง
คือ
 |
พระตำหนักอุดมวนาภรณ์ (พระตำหนักเมขลรูจี)
ในพระราชวังพญาไท |
๑) พระตำหนักอุดมวนาภรณ์
หรือที่ต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่า "พระตำหนักเมขลารูจี"
ซึ่ง "ท่านราม ณ กรุงเทพ"
หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นที่ประทับจริงๆ
ในดุสิตธานี
๒) โรงแรมเมโทรโปล ซึ่งมีอยู่ ๒หลังๆ
หนึ่งเป็นที่ตั้งโต๊ะบิลเลียด อีกหลังหนึ่งเป็นภัตตาคาร
ซึ่งสามารถจัดเป็นห้องประชุมแทน "นาครศาลา"
ซึ่งเป็นศาลารัฐบาลหลังเล็กในดุสิตธานี
และได้ใช้เป็นถานที่จัดประชุมลงคะแนนเลือกตั้งนคราภิบาลและเชษฐบุรุษ
๓) อาคารยาวริมคลองเม่งเส็ง
ซึ่งกำหนดให้เป็นที่ทำการของพรรคการเมืองที่มีอยู่ ๒ พรรค
คือ พรรคแพรแถบสีน้ำเงิน
ซึ่งเป็นพรรคที่คึกคักมาก
เพราะท่านราม ณ กรุงเทพ ทรงเป็นผู้นำ กับพรรคแพรแถบสีแดง
ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (เนียร สาคริก)
[๔]
เป็นผู้นำ
 |
"ดุสิตสมิต" วารสารประจำดุสิตธานี
ที่มีคติพจน์ว่า "ออกบ้างไม่ออกบ้างตามบุญตามกรรม"
แต่ออกจริงตรงตามกำหนดในทุกบ่ายวันเสาร์ |
นอกจากนั้นในดุสิตธานียังมีหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายถึง ๓
ฉบับ คือ
ดุสิตสมิต มีสำนักงานอยู่ที่ตึก ๑๒ ชั้น
ถนนเอนทราสตร์ในอำเภอเขาหลวง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือท่านราม ณ
กรุงเทพ ทรงเป็นบรรณาธิการใหญ่ มีบรรณาธิการผู้ช่วยอีก ๔
ท่าน คือ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ พระยาประสิทธิ์ศุภการ
(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)
และพระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล)
กับมีบรรณานุกรซึ่งเป็นมหาดเล็กรุ่นเด็กซึ่งล้วนเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงอีก
๔ คน คือ หม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
นายปาณี ไกรฤกษ์ [๕]
และนายเนื่อง สาคริก [๖]
หนังสือดุสิตสมิตนี้มีคติประจำคณะว่า "ออกบ้างไม่ออกบ้างตามบุญตามกรรม" แต่ก็ออกตรงเวลาทุกวันเสาร์
ดุสิตสมัย มีสำนักงานอยู่ที่ตึกแถว
ถนนชัยชะนะสงคราม อำเภอบึงพระราม มีนายขัน หุ้มแพร (ตี๋
ภัทรเสวี) [๗]
เป็นบรรณาธิการ มีนายจ่าเรศ (เสมียน สุนทรเวช)
และนายชิต สิริพร มหาดเล็กกองตั้งเครื่องเป็นผู้ช่วย
ดุสิตสักขี หรือ ดุสิตริคอร์เดอร์
มีสำนักงานอยู่ที่ตึกถนนสวัสดิไตรรงค์ อำเภอบางไทร
มีนายรองเล่ห์อาวุธ (แฉล้ม กฤษณามระ)
[๘]
เป็นบรรณาธิการ
 |
ดุสิตธานีที่ด้านหลังหมู่พระราชมณเฑียรในพระราชวังพญาไท (ในกราบสีเหลือง) |
ครั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักพญาไทและเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังในวันที่ ๒๐
ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดพื้นที่ด้านหลังพระตำหนักพญาไทเป็นที่ตั้งดุสิตธานี
แล้วจึงโปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายเมืองจำลองดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตไปไว้ที่พระตำหนักพญาไทตั้งแต่วันที่
๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายเมืองจำลองดุสิตธานีไปไว้ที่พระตำหนักพญาไทนั้น
มีประเด็นที่ชวนให้ขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่า
นอกจากจะทรงวางผังเมืองใช้ดุสิตธานีให้เห็นเป็นแบบอย่างแล้ว
ยังทรงใช้ดุสิตธานีในการสอนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
และน่าจะมีพระราชดำริที่จะใช้ดุสิตธานีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมกันไปด้วย
เพราะเมื่อสงครามในยุโรปสงบลงแล้ว
ชาวยุโรปซึ่งต้องตกอยู่ในสภาวะสงครามมาเป็นเวลานานถึง ๔ ปี
คงจะหาโอกาสหลบหลีกสภาพบ้านเมืองที่ปรักหักพังออกมาท่องเที่ยวในภาคพื้นเอเชียที่ไม่ได้รับผลร้านจากการสงครามครั้งนั้น
รวมทั้งคงจะต้องมาเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าจากภาคพื้นเอเชียกลับไปฟื้นฟูบ้านเมืองและทดแทนการผลิตที่ต้องถูกทำลายลงในระหว่างสงคราม
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารจำลองหรือ
"บ้านตุ๊กตา" จำนวนเกือบพันหลังในเมืองจำลองดุสิตธานีด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย
ทั้งไทย จีน แขก ฝรั่ง
แล้วเมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักพญาไทไปปลูกสร้างเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และได้โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างหมู่พระราชฐานที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขึ้นแทน
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
อดีตมหาดเล็กรับใช้ได้เล่าไว้ว่า เมื่อโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักพญาไทไปแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ท่านผู้เล่าเป็นผู้ลากสายเทปวัดพื้นที่ในบริเวณวังพญาไท
แล้วได้ทรงร่างแบบพระที่นั่งที่จะโปรดให้สร้างขึ้นใหม่
ก่อนที่จะพระราชทานให้สถาปนิกไปออกแบบก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
และได้โปรดกล้าฯ
ให้มีการสมโภชพร้อมกับสถาปนาวังพญาไทขึ้นเป็นพระราชวังพญาไท
เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕
|