แม้กระนั้นก็ยังมีนักกีฬารักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนที่มีความสามารถทางการกีฬาจนได้รับเลือกเข้าร่วมในทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น
ม.ศ. ๑ (ปัจจุบันคือ ม.๒)
และเมื่อเรียนชั้นอยู่ในชั้น ม.ศ. ๓ (ปัจจุบันคือ
ม.๔)
ก็ได้รับเลือกเข้าร่วมในทีมรักบี้ฟุตบอลทีมชาติไทย
แต่เนื่องจากนักกีฒารักบี้ฟุตบอลผู้นี้เป็นผู้ไม่ประสบความสำเร็จในการเล่าเรียนในห้องเรียน
จึงมีโอกาสเล่นรักบี้ฟุตบอลให้โรงเรียนนานกว่าเพื่อนคนอื่นๆ
ในรุ่นเดียวกัน
จึงได้รับเครื่องหมายสามารถของโรงเรียนตั้งแต่ชั้นกึ่งสามารถจนถึงชั้นพิเศษเหนือพิเศษแล้วก็ยังเรียนไม่จบ
จนปีสุดท้ายที่เล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน
ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาได้ประกาศบนหอประชุมว่า
มีนักเรียนอีกคนหนึ่งที่โรงเรียนไม่มีอะไรจะมอบให้เป็นการตอบแทน
จึงขอมอบกระเป๋าหนังสีดำรูปครึ่งวงกลมมีตรามหาวชิราวุธภายใต้พระมหามงกุฎสีทองพิมพ์ที่ด้านข้างกระเป๋าให้เป็นเกียรติประวัติ
กระเป๋าสามารถพิเศษเหนือพิเศษเหนือพิเศษนี้
เมื่อใกล้งานฉลแง ๑๐๐ ปีโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๕๕๓
ผู้เขียนได้แวะไปเยี่ยมร.ต.อ.แวน เลณบุรี
ที่บ้านพักอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ในวันนั้นพี่แวนได้มอบกระเป๋าพิเศษใบนี้ผู้เขียนมาจัดแสดงในนิทรรศการ
๑๐๐
ปีโรงเรียนที่จัดแสดงที่ตึกวชิรมงกุฎเมื่อปลายเดือนธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๓
เสร็จงานนั้นแล้วได้มอบกระเป๋านี้ให้หอจดหมายเหตุวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้เก็บรักษาไว้พร้อมกับวัสดุจัดแสดงอีกจำนวนมาก
นอกจากกีฬารักบี้ฟุตบอลที่ในเวลานั้นวชิราวุธวิทยาลัยได้ชื่อว่า
แชมป์ตลอดกาล แล้ว
โรงเรียนก็ยังได้ส่งนักกีฬาบาสเกตบอลเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมโรงเรียนและสโมสรอื่นๆ
มาเป็นลำดับ
ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งประเภทนักเรียนและประชาชนหลายครั้ง
ต่อจากนั้นเมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในยุคที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พลเอก
ประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกสมาคมฯ
ได้พิจารณาจัดสรรเงินรายได้จากการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์มาจัดสร้างสระว่ายน้ำให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยแล้ว
โรงเรียนก็ได้ส่งนักกีฬาว่ายน้ำเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมต่างๆ
จนได้รางวัลชนะเลิศในรายการต่างๆ
ทั้งที่จัดโดยสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย
และกรมพลศึกษา
และมีนักกีฬาของโรงเรียนหลายคน-ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเขตและร่วมเป็นนักกีฬาทีมชาติต่อเนื่องกันมาหลายคน
ดังได้กล่าวแล้วว่าในยุคนั้นทีมรักบี้ฟุตบอลของวชิราวุธวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็น
แชมป์ตลอดกาล
จึงทำให้ในสายตาคนภายนอกวชิราวุธวิทยาลัยเล่นเป็นแต่กีฬารักบี้ฟุตบอล
ซึ่งในปนะเทศไทยมีคู่แข่งขันน้อยราย วันหนึ่ง
พลเอก ประภาส จารุเสถียร
ซึ่งในเวลานั้นเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคสากลแห่งประเทศไทยได้นำข้อครหาดังกล่าวมาเรียนให้ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาทราบ
ท่านผู้บังคับการจึงได้มอบหมายให้ครูอรุณ แสนโกศิก
ผู้ช่วยผู้บังคับการและผู้กำกับคณะจิตรลดาซึ่งเคยเป็นนักกรีฑาทีมชาติไทยไปแข่งขันกรีฑาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิค
ครั้งที่ ๑๕ ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. ๑๙๕๒)
จัดการฝึกสอนกีฬาดรีฑาทั้งประเภทลู่และลานแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
แล้วโรงเรียนได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑาของกรมพลศึกษา
ซึ่งนักกรีฑาของวชิราวุธวิทยาลัยทั้งรุ่นจิ๋ว
รุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่
ก็สามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันกรีฑาทั้งประเภทลู่และลานได้ครองถ้วยคะแนนรวมของแต่ละรุ่น
รวมทั้งถ้วยรางวัลชนะเลิศคะแนนรวมของทั้งสี่รุ่นนั้นตั้งแต่ปีแรกที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน
และครองตำแหน่งชนะเลิศนั้นติดต่อกันมาอีกหลายปีจนโรงเรียนเลิกส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน
การที่นักกีฬาบาสเกตบอล ว่ายน้ำ
และกรีฑาได้แสดงความสามารถทางการกีฬาจนได้ตำแหน่งชนะเลิศติดต่อกันมา
โรงเรียนจึงได้พิจารณามอบเครื่องหมายสามารถให้แก่นักกีฬาเหล่านี้เช่นเดียวกับนักกีฬารักบี้ฟุตบอล
แต่เปลี่ยนชื่อชนิดกีฬาที่กระเป๋าเสื้อเป็นชนิดนั้นๆ
เป็นลำดับมา
อนึ่ง นอกจากเครื่องหมายสามารถการกีฬาแล้ว
เมื่อท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาได้รื้อฟื้นกิจการดนตรีของโรงเรียนขึ้นใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
๒ ก็ได้จัดให้มีเครื่องหมายสามารถดนตรีขึ้น ๒ ชั้น
สำหรับมอบให้นักเรียนคณะโตที่มีความสามารถทางด้านการดนตรีไว้ประดับเป็นเกียรติยศเหนือกระเป๋าเสื้อนอกเบื้องซ้าย
เครื่องหมายสามารถดนตรีในยุคนั้นมี ๒ ชั้น ดังนี้
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรี ชั้นที่ ๑ |
เครื่องหมายสามารถดนตรีชั้นที่ ๑
เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎแตรงอนลงยาสีน้ำเงิน
ประดับบนแพรแถบสีฟ้า
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรี ชั้นที่ ๒ |
เครื่องหมายสามารถดนตรีชั้นที่สอง
เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎแตรงอนกาไหล่ทอง
 |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเครื่องปกตินายพลเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ |
 |
ตราเครื่องหมายกรมทหารราบเบาเดอรัม |
เข็มรูปพระมหามงกุฎแตรงอนนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงมาจากตราของกรมทหารราบเบาเดอรัม
ซึ่งเคยเสด๋จไปประจำการในกรมทหารนี้เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ต่อมาเมื่อทรงก่อตั้งเสือป่าเหล่าพรานซึ่งเป็นเสือป่าที่เปรียบประดุจทหารราบเบาของอังกฤษ
(ปัจจุบันเทียบได้กับหน่วยรบพิเศษ)
ขึ้นในกองเสือป่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ใช้ตราพระมหามงกุฎแตรงอนเป็นเครื่องหมายของกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์
และเนื่องจากนายและพลเสือป่าในกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์เกือบทั้งหมดต่างก็เป็นข้าราชการกรมมหรสพ
ที่มีหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องกับนาฏดุริยางคศิลป์
ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาจึงได้นำตราพระมหามงกุฎแตรงอนมาเป็นเครื่องหมายสามารถการดนตรีของโรงเรียน
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรี (ปัจจุบัน) ชั้นพิเศษ |
ต่อมาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนหมั่นฝึกซ้อมและแสดงความสามารถด้านการดนตรีให้ยิ่งขึ้น
พันตำรวจโท เสรี ปัจจักขภัติ
ผู้ช่วยผู้บังคับกรรมการฝ่ายกิจกรรมและผู้กำกับคณะจิตรลดา
ได้นำความเรียนปฏิบัติท่านผู้บังคับการ ดร.กัลย์
อืศรเสนา ณ อยุธยา
ขอเพิ่มเครื่องหมายสามารถดนตรีเด็กโตชั้นพิเศษขึ้นอีก
๑ ชั้น
เป็นเข็มพระมหามงกุฎแตรงอนบนแพรแถบสีน้ำเงินมีแถบเงินพาดกลาง
ก็ปรับรูปแบบเครื่องหมายสามารถดนตรีชั้นที่ ๑
เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎแตรงอนกาไหล่ทองบนแถบแพรสีฟ้า
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรี (ปัจจุบัน) ชั้นที่ ๑ |
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรีเด็กเล็ก ชั้นที่ ๑ |
ในโอกาสเดียวกันนั้นฝ่ายกิจกรรมยังได้รับอนุมัติให้จัดให้มีเครื่องหมายสามารถดนตรีสำหรับเด็กเล็กขึ้นอีก
๒ ชั้น โดยชั้นที่ ๑
เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎกาไหล่ทองบนแพรแถบสีน้ำเงินมีแถบสีฟ้าพาดกลาง และชั้นที่ ๒
เป็นเข็มรูปพระมหามงกุฎกาไกล่ทอง
 |
เครื่องหมายสามารถดนตรีเด็กเล็ก ชั้นที่ ๒ |
ปัจจุบันวชิราวุธวิทยาลัยยังคงจัดให้มีการมอบเครื่องหมายสามารถกีฬาและดนตรีเป็นเครื่องเชิดชูเกียรตินักเรียนที่มีความสามารถทั้งการกีฬาและการดนตรีต่อเนื่องกันมาทุกปีในท่ามกลางที่ประชุมคณะครูและนักเรียนบนหอประชุม