 |
บทพระราชนิพนธ์ โคลงสยามานุสสติ
ที่พระราชทานแก่กองทหารอาสา |
ก่อนที่กองทหารอาสาจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ
นั้น
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเลี้ยงส่งนายและพลทหารทุกคนที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
และได้พระราชเสมาเงินมีสายพร้อม
ด้านหน้าเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.พระมหามงกุฎ
มีฉัตรเครื่องสูงสองข้าง
และที่ด้านหลังจารึกอักษรว่า พระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม
๒๔๖๐ กับเสื้อโอเวอร์โค๊ตแก่นายและพลทหารทุกคน
และในวันรุ่งขึ้นก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญยังได้พระราชทานโคลงสยามานุสสติให้เป็นเครื่องเตือนใจนายและพลทหารที่จะไปในงานพราชสงคราม
ณ ทวีปยุโรปด้วย
กองทหารอาสาได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑
และเมื่อเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสก็ได้แยกย้ายกันไปฝึกหัด
โดยกองบินทหารบกนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดส่งนายแพทย์มาตรวจร่างกายนายและพลทหารทั้งหมด
มีผู้ผ่านการตรวจร่างกายได้เข้ารับการฝึกหัดเป็นศิษย์การบินจำนวน
๑๐๖ นาย
และสามารถผ่านการฝึกหัดได้รับประกาศนียบัตรเป็นนักบินถึง
๙๕ คน
ส่วนนายและพลทหารที่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายจำนวน
๒๒๕ นายนั้น
ก็ได้เข้ารับการฝึกหัดเป็นช่างเครื่องยนต์
แล้วนักบินได้ไปประจำในกองรบเพื่อฝึกหัดการต่อสู้ทางอากาศ
ทั้งการยิงปืนรบในอากาศและจากอากาศสู่ภาคพื้น
การฝึกทิ้งลูกระเบิดสู่เป้าหมาย
ส่วนนายทหารที่ฝึกหัดเป็นช่างอากาศก็ได้ติดตามไปศึกษาและฝึกหัดการบำรุงรักษาอากาศยานพร้อมกับนักบินนั้นด้วย
 |
นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ
อยุธยา - พลเอก พระยาเทพหัสดิน)
นำนายทหารกองบินทหารบกที่เดินทางกลับจากฝรั่งเศสเฝ้าทูลละองธุลีพระบาท
ณ พระลานหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่
๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒
ในภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสวมกอดต้อนรับนายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ |
เนื่องจากการฝึกบินและบำรุงรักษาอากาศยานนั้นต้องใช้เวลาฝึกหัดและเสริมสร้างความชำนาญเป็นเวลานาน
จึงปรากฏว่าในระหว่างที่นายทหารในกองบินทหารบกกำลังฝึกหัดกันอยู่นั้น
ถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑
ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เยอรมันได้ประกาศขอสงบศึกลง
แต่ในระหว่างที่กำลังเจรจาสงบศึกกันนั้นทางราชการก็ได้มีคำสั่งให้กองบินทหารบกคงทำการฝึกหัดต่อไป
จนการเจรจาสงบศึกยุติลงเป็นอันว่าสงครามได้สงบลงโดยสมบูรณ์แล้ว
จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เลิกกองทูตทหาร
และให้นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน
ณ อยุธยา) [๑]
หัวหน้ากองทูตทหารหรือแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยในสมรภูมิทวีปยุโรปนำกำลังพลในกองบินทหารบกเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ แต่นายพันเอก
พระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)
[๒]
ผู้บังคับกองบินทหารบกได้จัดให้นักบินและช่างเครื่องยนต์จำนวนหนึ่งคงฝึกหัดและเล่าเรียนวิชาเพิ่มเติมสำหรับกลับมาเป็นครูในราชการของกองบินทหารบกสยามต่อไป
กองทหารบกรถยนต์ในบังคับนายพันตรี
หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี)
[๓]
ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์นั้น
เมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดการฝึกหัดขับรถยนต์และบำรุงรักษารถยนต์
รวมตลอดทั้งการฝึกวิชาทหารราบซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นพื้นฐานของทหาร
มีนายและพลทหารในกองทหารบกรถยนต์สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการขับขี่รถยนต์เป็นจำนวนถึงร้อยละ
๙๕ ของกำลังพล
ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกหัดนั้นก็ได้จัดให้เป็นผู้ช่วยพลรบ
เมื่อกองทหารบกรถยนต์เสร็จการฝึกหัดแล้ว
ได้เข้าสู่สมรภูมิและได้แสดงความสามารถและความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารฝรั่งเศส
ดังได้เล่าต่อๆกันมาว่า
เมื่อทหารไทยได้รับมอบหมายให้ลำเลียงพล
สัมภาระและเสบียงเข้าสู่แนวหน้า
และต้องรุกเข้าไปในแนวกระสุนของทั้งสองฝ่าย
ข้างฝ่ายทหารฝรั่งเศสนั้นพอได้ยินเสียงปืนดังเข้าก็เริ่มระมัดระวังตัวกันทีเดียว
แต่ทหารไทยหาได้เกรงกลัวภยันตรายใดๆ
คงขับรถที่สุดแสนจะโปเกนั้นเรื่อยไป
จนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผลสำเร็จหลายครั้งหลายหน
รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบเหรียญกล้าหาญที่ชื่อ ครัวซ์
เดอะ แกรร์ (Croix de Guerre)
ประดับที่ยอดธงไชยเฉลิมพลเป็นเกียรติยศแก่กองทหารบกรถยนต์และกองทัพไทยอีกด้วย
ส่วนกองพยาบาลทหารบกที่โปรดให้ออกไปในงานพระราชสงครามพร้อมด้วยกองบินทหารบกและกองทหารบกรถยนต์นั้น
นอกจากจะได้ติดตามกองทหารเข้าร่วมปฏิบัติการในสนามรบ
ได้เรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลในสนาม
และจัดทำรายงานระเบียบปฏิบัติของกองพยาบาลทหารฝรั่งเศสส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ
แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้นักเรียนไทยที่กำลังศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ณ
ทวีปยุโรปเข้าร่วมสมทบในกองพยาบาลทหารบกเพื่อเรียนรู้และฝึกหัดการปฏิบัติงานภาคสนามอีกด้วย
อนึ่ง
ในระหว่างที่กองทหารไทยคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแผ่นดินฝรั่งเศสและราชศัตรูนั้น
นอกจากนายพลตรี
พระยาพิไชยชาญฤทธิ์จะได้จัดการรวบรวมระเบียบข้อบังคับของกองทัพฝรั่งเศสส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ
เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกศึกษาของกองทัพบกสยามตามพระบัญชาของนายพลเอก
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกแล้ว
นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์
ยังได้เจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสจนเป็นที่ยอมรับกันว่า
กองทหารไทยเป็นกองพลอิสระมิใช่กองพลอินโดจีนของฝรั่งเศส
จึงต้องได้รับการปฏิบัติเสมอกับนายทหารฝรั่งเศสมิใช่พวกเมืองขึ้น
และเมื่อฝรั่งเศสวางข้อกำหนดให้ทหารไทยขึ้นศาลทหารฝรั่งเศส
พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ก็สามารถเจรจาจนฝรั่งเศสยินยอมให้ตั้งศาลทหารไทยขึ้นในดินแดนฝรั่งเศส
จึงนับได้ว่า
การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้เริ่มขึ้นแล้วในยุโรปเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในแผ่นดินไทย
ผลที่ประเทศสยามได้รับจากการตัดสินพระราชหฤทัยเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการพระราชสงคราม
ณ ทวีปยุโรปครั้งนี้
นอกจากจะได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่งนายนาวาตรี
หลวงหาญสมุท (บุญมี พันธุมนาวิน) [๔]
ไปฝึกหัดปฏิบัติการในเรือใต้น้ำของกองทัพเรืออังกฤษแล้ว
รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้ช่วยฝึกหัดนายทหารไทยให้มีความรู้ความสามารถโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการฝึกหัดแต่อย่างใดทั้งสิ้นแล้ว
ยังทำให้บรรดาสนธิสัญญาทั้งหลายที่ประเทศสยามได้ตกลงกันไว้กับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีต้องเป็นอันสิ้นสุดลงในทันทีนับแต่วันประกาศสงคราม
คือ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐
นอกจากนั้นรัฐบาลสยามยังได้ยึดทรัพย์สินและเรือสินค้าของเยอรมันที่จอดเทียบท่าอยู่ในดินแดนสยามเข้าเป็นราชพัทยาทั้งสิ้น
 |
ปราสาทเซลส์สลอฟ (Celle-Schloss)
ที่รัฐบาลเยอรมันใช้เป็นสถานที่กักกันนักเรียนไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
๑ |
แม้กระนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีเยอรมนียังได้กล่าวถึงที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมันในที่ประชุมรัฐสภาว่า
ไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่ประการใดเลยที่ไทยจะประกาศสงคราม
แต่หากถูกอังกฤษและฝรั่งเศสบีบบังคับให้ทำ
และการกระทำของไทยจะไม่ทำให้เยอรมนีเสียหายแต่ประการใดได้
ในส่วนของประชาชนชาวเยอรมนีเองนั้น
โดยมากก็เชื่อตามคำของรัฐบาลเยอรมนีว่า
เราถูกประเทศสัมพันธมิตรบีบคั้นให้ประกาศสงคราม
แต่มีความรู้สึกผิดกับรัฐบาลเยอรมนีที่ไม่โกรธเคืองเราเลย
ถือเสียว่าเราเป็นชาติเล็กไม่มีกำลัง
เมื่อถูกบีบคั้นและไม่มีใครช่วยแล้ว
จะไปต่อสู้อย่างไรได้
นอกจากนั้นเยอรมันยังดูแลนักเรียนไทยที่ตกเป็นชนชาติศัตรูเป็นอย่างดี
โดยนำตัวไปควบคุมไว้กับนายทหารสัญญาบัตรที่ตกเป็นเชลยสงครามที่เซลส์สลอฟ
(Celle-Schloss)
ซึ่งเป็นพระราชวังโบราณของพระเจ้าไกเซอร์
ทั้งยังอนุญาตให้ครูเข้าไปสอนภาษาเยอรมัน
และเรียนหนังสือภาษาฝรั่งเศสกับเชลยศึกชาวฝรั่งเศสอีกด้วย
 |
นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี -
นายพันโท พระอาสาสงคราม)
นำนายทหารกองทหารบกรถยนต์ร่วมสวนสนามฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ |
อนึ่ง
ผลของการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในครั้งนี้
นอกจากกองทหารบกรถยนต์จะได้ส่งผู้แทนไปร่วมสวนสนามอวดธงไตรรงค์
ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรุงลอนดอน
ประเทศอังกฤษ และกรุงบรัสเซลล์
ประเทศเบลเยี่ยมแล้ว
ยังได้ใช้โอกาสที่เป็นคู่สงครามนี้เจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติสัมพันธมิตรและชาติอื่นๆ
จนสำเร็จสมบูรณ์ในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนั้นเมื่อสงครามสงบลงมีเครื่องบินรบของฝรั่งเศสเหลือใช้อยู่เป็นจำนวนมาก
ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอก พระเฉลิมอากาศ
เลือกซื้อเครื่องบินที่ยังคงมีสภาพดีจำนวนหนึ่งส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ
จนสามารถตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้นได้สำเร็จในปี
พ.ศ. ๒๔๖๔
และได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าของกองบินทหารบกที่ดอนเมือง
เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔
นับได้ว่าการที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยละทิ้งความเป็นกลาง
และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่
๑ นั้น ประเทศสยามมีแต่ได้กำไร
ดังมีพยานปรากฏในกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม
เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
 |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
...เราได้พยายามที่จะตั้งบ้านเมืองของเราให้มั่นคงขึ้นไปเปนเวลาช้านาน
ถ้าจะพูดถึงแต่เพียงเมื่อครั้งตั้งเปนกรุงรัตนโกสินทร์แล้วนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต้นๆ
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ๓พระองค์นั้น
ได้ทรงพยายามที่จะรวบรวมบ้านเมืองไทยให้เปนปึกแผ่นต่อสู้กับสัตรูข้างเคียงของเราตามคติแผนโบราณ
และก็ได้เปนผลสำเร็จตลอดมา
ครั้นต่อมามีภัยอื่นเปนของใหม่ใกล้เข้ามา
คือภัยอันอาจจะเกิดขึ้นได้จากความ
สัมพันธ์กับพวกฝรั่งหากเรากลับตัวไม่ทัน
ภัยอันนั้นประเทศที่ใกล้เคียงของเราไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ต้องพ่ายแพ้ไป
กลับกลายไปเปนเมืองขึ้นของประเทศทางฝ่ายยุโรปต่างๆ
โดย รอบข้าง
มีเฉภาะแต่ประเทศสยามเราแห่งเดียวที่สามารถรักษาตนมาได้
ทั้งนี้ต้องนับว่าเปนไปด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในอดีตกาล
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้นมา
ในสมัยนั้นเปนเวลาที่ฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยมาก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นสิ่งสำคัญว่า
ในการที่เราจะรักษาอิศรภาพของเรานั้น
จำจะต้องเรียนให้รู้วิชาของพวกฝรั่งเหล่านั้น
แล้วและแก้ไขการปกครองของบ้านเมืองให้ทันเขา
นั่นเปนวิธีเดียวที่จะรักษาอิศรภาพไว้ได้
ด้วยเหตุนั้นจึ่งได้ทรงพระราชอุสาหะเล่าเรียนภาษาฝรั่งขึ้น
ต่อมาเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว
ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระราชโอรสของพระองค์ท่านทุกพระองค์ได้ทรงเล่าเรียนภาษาต่างประเทศ
พระบรมราโชบายอันนี้มีผลใหญ่หลวงที่สุดอันหนึ่ง
ซึ่งดูเหมือนเปนสิ่งเล็กน้อย
แต่นั่นเองทำให้เราทรงฐานะอยู่ได้จนบัดนี้
ในรัชสมัยของพระองค์ท่านความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาวยุโรปได้ทวีมากขึ้นตามลำดับ
และได้ทรงเปิดโอกาศให้ชาวยุโรปได้เข้ามาทำมาค้าขายในประเทศสยามโดยสดวก
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายอันนั้นต่อมาด้วยพระปรีชาญาณอันยอดเยี่ยมหาที่เปรียบมิได้
นับว่าเปนเคราะห์ดีที่สุดของประเทศสยาม
ที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระปรีชาญาณ
และน้ำพระราชหฤทัยอันสุจริตต่อบ้านเมืองเปนอย่างเอก
จะหาเทียมมิได้ ข้าพเจ้าไม่จำต้องกล่าวว่า
ในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองได้เจริญขึ้นเพียงใด
เพราะย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้ว
ครั้นภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงดำเนินราโชบายนั้นต่อมาได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดกฎหมายให้เหมาะกับกาลสมัยเปนลำดับมา
ครั้นเมื่อประสบโอกาสเหมาะ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดการเจรจากับต่างประเทศเพื่อแก้ไขสัญญาใหม่ให้ประเทศสยามได้อิศรภาพบริบูรณ์ในทางศุลกากรและให้เลิกศาลกงสุลทุกประเทศ
พระบรมราโชบายนั้นเปนผลสำเร็จอย่างงดงามที่สุด
เพราะเราสามารถทำสัญญากับต่างประเทศเหล่านั้นได้ใหม่หมด
ด้วยความปรองดองอย่างดีและโดยมิต้องมีสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย
น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การเจรจาแก้สัญญานั้นหาได้สำเร็จหมดทุกประเทศในรัชสมัยของพระองค์ไม่
แต่ก็ได้จัดทำไปเปนส่วนมากแล้ว
ถึงสัญญาที่ทำต่อมาภายหลังก็ดำเนินไปตามพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านนั้นเอง
แต่หากเสด็จสวรรคตเสียก่อนมิได้ลงพระบรมนามาภิธัยทุกฉบับ
ผลสำเร็จที่สุดจึ่งมาตกในรัชสมัยของข้าพเจ้า...
[๕] |