ด้านการคมนาคมและขนส่ง
การพัฒนาระบบงานคมนาคมและขนส่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศุฃาภิบาล
กระทรวงนครบาล จัดสร้างสะพานชุด เจริญ
โดยมีตัวเลขจำนวนปีพระชนม์พรรษาต่อท้าย
เพื่อเป็นสาธารณทานเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษามาตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๔๕๔ รวม ๖ สะพาน คือ
 |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สะพานเจริญพาศน์ ๓๓
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ |
สะพานเจริญรัช ๓๑ |
ข้ามคลองคูเมืองเดิม ที่ตำบลปากคลองตลาด
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ |
สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ |
ข้ามคลองมหานาค ที่ตำบลมหานาค เมื่อ พ.ศ.
๒๔๕๕ |
สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ |
ข้ามคลองบางหอกใหญ่ ที่ถนนอิสรภาพ เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๕๖ |
สะพานเจริญศรี ๓๔ |
ข้ามคลองคูเมือง ตรงถนนบุรณศิริมาตยาราม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ |
สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ |
ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม
ตรงถนนบำรุงเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ |
สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ |
ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
บริเวณหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ |
 |
สะพานเจริญศรัทธา |
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๑
ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างสะพานเจริญศรัทธา
ข้ามคลองเจดีย์บูชา
เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสถานีรถไฟนครปฐมกับองค์พระปฐมเจดีย์
ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระปฐมเจดีย์
นับเป็นสะพานเฟโรคอนกรีตแห่งแรกที่สร้างขึ้นในหัวเมือง
อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกงานช่างทั้งประณีตศิลป์และงานช่างโยธาออกจากกระทรวงโยธาธิการ
ให้คงดูแลรับผิดชอบการส่งข่าวสารและการทำทางน้ำทางบก
รวมทั้งได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า กระทรวงคมนาคม
แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้จัดส่งวิศวกรผู้ชำนาญการช่างออกไปประจำอยู่ทุกมณฑล
ให้ ...เป็นผู้ดำริห์แลแนะนำการโยธา
แลการบำรุงฤาทำทางไปมาทั้งบกแลน้ำทั้งปวง
ในจังหวัดมณฑลนั้นๆ...
[๑]
นอกจากนั้นยังได้ทรงเร่งรัดและขยายเส้นทางเดินรถไฟที่ดำเนินมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม
เกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้สามารถเปิดการเดินรถไปถึงเชียงใหม่ในเส้นทางสายเหนือ
ถึงหนองคายและอุบลราชธานีในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนสายตะวันออกนั้นก็สามารถเปิดเดินรถไปถึงอรัญประเทศ
และในเส้นทางสายใต้นั้นก็สามารถเปิดการเดินรถจากกรุงเทพฯ
ไปจนสุดเขตแดนสยามและเชื่อมต่อกับทางรถไฟมลายูที่ปาดังเบซาร์และสุไหงโกลก
และในการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือจากนครลำปางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลโดยวิศวกรเยอรมันนั้น
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้วิศวกรไทยเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลต่อจากนายช่างเยอรมันภายหลังจากที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย
- ฮังการีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ จนแล้วเสร็จ
และสามารถเปิดการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ -
เชียงใหม่ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔
 |
อุโมงค์ขุนตาล |
นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้ซึ่งเดิมแยกกันอยู่เป็นสองกรมนั้นเข้าเป็นกรมเดียวกันแล้วโปรดพระราชทานนามใหม่ว่า
กรมรถไฟหลวง และ กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม
ตามลำดับ ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้มีการตัดถนนเชื่อมต่อจากแนวสายทางรถไฟออกไปยังท้องที่ต่างๆ
เพื่อช่วยให้การลำเลียงสินค้าจากแหล่งผลิตออกสู่ท้องตลาดได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
เช่น จากสถานีรถไฟเมืองนครลำปางไปยังเมืองเชียงราย
จากสถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ ฯลฯ และได้โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างสะพานพระราม ๖
เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายใต้เข้ากับทางรถไฟสายเหนือ
สายตะวันออกและสายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน
โดยมีศูนย์กลางการเดินรถอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ
(หัวลำโพง)
 |
สะพานพระราม ๖ |
 |
ดวงตราไปรษณียากร อากาศไปรษรีย์ ชนิดราคาต่างๆ
สำหรับการจัดส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศไปรษณีย์ |
ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้นในกระทรวงกลาโหมแล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้มีการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในเส้นทางกรุงเทพฯ
- จันทบุรี เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๖๒ ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ
ให้ขยายกิจการอากาศไปรษณีย์ไปในเส้นทางภาคอีสานอีก
๒ เส้นทาง คือ
สายที่
๑ |
นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุบลราชธานี
เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.
๒๔๖๕ |
สายที่
๒ |
นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุดรธานี -
หนองคาย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๓
ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ |
 |
สถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ที่ถนนวิทยุ
(ต่อมาเป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร) |
นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้กระทรวงทหารเรือเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขระหว่างสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง
ที่กรุงเทพฯ กับสถานีวิทยุโทรเลขจังหวัดสงขลา
รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ
ให้กำหนดรหัสสัญญาณรับส่งโทรเลขเป็นภาษาไทยขึ้นใช้แทนรหัสมอร์ส
(Morse) ที่เป็นภาษาอังกฤษ
และได้ใช้งานต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน
พ.ศ. ๒๕๕๑
ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจการโทรเลขในประเทศไทย