เครื่องแต่งกายมหาดเล็กรับใช้
ส่วนเครื่องแต่งกายของมหาดเล็กรับใช้นั้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มหาดเล็กรับใช้มีเครื่องแต่งกายโดยเฉพาะต่างไปจากนักเรียนมหาดเล็กหลวงทั่วไป
ดังมีรายละเอียดปรากฏใน "ข้อบังคับเครื่องแต่งกายมหาดเล็กรับใช้
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ออกประกาศและเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓
ตุลาคมพุทธศักราช ๒๔๕๘ โดยโปรดเกล้าฯ
ให้นับข้อบังคับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการในพระราชสำนัก
พ.ศ. ๒๔๕๓" คือ
 |
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
แต่งเครื่องแบบผดตินักเรียนมหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่ |
แบบที่ ๑ เครื่องแต่งกายปกติ ประกอบด้วย
๑.
หมวกหนีบ [๑]
สีน้ำเงิน กลางสีขาว ติดอุณาโลมแบบกรมมหาดเล็ก
[๒]
ทางข้างขวา
๒.
แผ่นกำมะหยี่ติดคอแบบนักเรียนมหาดเล็กหลวง [๓]
และมีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ใต้พระมหามงกุฎเงิน
ติดอย่างมหาดเล็กประจำการ
[๔]
ถ้าเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่ให้มีดาวติดอีก๑ ดวง
๓.
เสื้อ ผ้าสีขาวแบบราชการ
๔.
ดุม ตราพระมหาพิชัยมงกุฎเงิน
๕.
กางเกง สีน้ำเงินรัดใต้ข้อเข่า
๖.
ถุงเท้า สีดำหรือขาว
๗.
รองเท้าผูกบู๊ตหรือชู หนังดำหรือแดง
หากเป็นรองเท้าดำใช้ถุงเท้าดำหากใช้รองเท้าแดงต้องใช้ถุงเท้าขาว
แบบที่ ๒ เครื่องแต่งกายเต็มยศขาวและครึ่งยศ
๑.
กางเกงสักหลาดสีน้ำเงินมีแถบเงิน
[๕]
กว้าง ๒ เซนติเมตร [๖]
๒.
รองเท้า บู๊ต หนังดำไม่มีผูก
นอกนั้นให้แต่งอย่างปกติทั้งสิ้น
แบบที่ ๓ เครื่องแต่งกายเต็มยศใหญ่
๑.
หมวก สามเหลี่ยมสีดำ
๒.
เสื้อสักหลาดสีน้ำเงินแบบฟร้อกโค้ต
ข้อมือกำมะหยี่มีลูกไม้ปลายข้อมือ มีแถบเงินติดที่คอ
ข้อมือและอก
๓.
เสื้อกั๊กสีขาวมีแถบเงินติดตามรังดุมและชายเสื้อ
๔.
กางเกงสักหลาดสีขาว
รัดใต้เข่ามีเข็มอย่างกางเกงเต็มยศมหาดเล็ก
๕.
ถุงเท้าขาว
๖.
รองเท้าค้อตชู หนังดำ
มีเข็มเงินติดอย่างแบบมหาดเล็ก
แบบที่ ๔ เครื่องแต่งกายสโมสร
มหาดเล็กรับใช้ชั้นใหญ่มีเครื่องแต่งกายสโมสรอนุโลมตามแบบเครื่องแต่งกายสโมสรของข้าราชการกรมมหาดเล็กทุกประการ
[๗]
เว้นแต่หมวกให้คงใช้หมวกหนีบอย่างเครื่องแต่งกายปกติที่กล่าวแล้ว
ส่วนมหาดเล็กรับใช้ชั้นเล็กไม่มีเครื่องแต่งกายสโมสร
หน้าที่ของมหาดเล็กรับใช้
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตนักเรียนมหาดเล็กรับใช้
ได้กล่าวถึงหน้าที่ราชการของมหาดเล็กรับใช้ไว้ว่า
มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับมหาดเล็กผู้ใหญ่เกือบจะทุกกรมกอง
คือ
๑.
ช่วยเหลือมหาดเล็กห้องพระบรรทม
โดยเฉพาะอยู่คอยรับใช้ตั้งแต่เวลาตื่นพระบรรทมจนเสด็จเข้าห้องพระบรรทม
คือ อยู่เฝ้าถวายการรับใช้ประจำพระองค์ตลอดเวลา
เว้นแต่เวลาเสวยพระกระยาหารกลางวันและค่ำ
และเวลาที่ประทับในห้องพระบรรทม
เริ่มแต่เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว
ทอดพระเนตรและทรงสั่งราชการในหนังสือราชการที่กรมราชเลขาธิการนำมาถวายไว้บนโต๊ะทรงพระอักษร
เมื่อทรงพระอักษรเสร็จหากไม่มีเจ้าหน้าที่กรมราชเลขาธิการมาคอยรับก็ต้องนำแฟ้มที่ทรงแล้วไปส่งคืนที่กรมราชเลขาธิการ
รวมถึงการถวายเครื่องดื่มขณะที่ทรงพระอักษร
ถ้าเป็นเวลากลางวันก็ถวายพระสุธารสจีน
ถ้าเป็นเวลากลางคืนถวายวิสกี้โซดา
นอกจากนั้นก็คอยรับใช้ตามแต่จะทรงใช้สอย
ซึ่งเรื่องที่ทรงใช้สอยใช้นั้นมีตั้งแต่ง่ายจนยาก เช่น
ค่ำวันหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปงานที่สวนสุนันทา
พอเสด็จพระราชดำเนินถึงก็มีพระราชดำรัสแก่หม่อมหลวงปิ่น
มาลากุล
มหาดเล็กรับใช้ให้ไปเบิกเหรียญรัตนาภรณ์ประดับเพชรมา
จะพระราชทานพระอรรคชายาเธอ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ
[๘]
แต่เวลาที่รับสั่งหานั้นเป็นเวลากลางคืน
เจ้าหน้าที่ผู้เก็บรักษาย่อมกลับบ้านไปนานแล้ว
ทั้งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ก็ไม่รู้จักบ้านเจ้าหน้าที่ผู้นั้น
แต่ท้ายที่สุดก็สามารถนำเหรียญรัตนาภรณ์ประดับเพชรมาทูลเกล้าฯ
ถวายได้ทันเวลาก่อนงานเลิก
๒.
ติดต่อคลังวรภาชน์ในเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายค็อกเทลและตีฆ้อง
๑ (ก่อนเสวยประมาณ ๑๐ นาที) และตีฆ้อง ๒
เวลาเสด็จลงเพื่อเข้าห้องเสวย
ในการเชิญค๊อกเทลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนี้
มหาดเล็กรับใช้ต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่คลังวรภาชน์
เริ่มจากพนักงานคลังวรภาชน์รินเหล้าค็อกเทล ใส่น้ำแข็งไส
แล้วเขย่าเพื่อให้เหล้านั้นเย็น
พอได้ที่ก็รินให้มหาดเล็กรับใช้เทียบหรือดื่มนิดหนึ่ง
เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งมีพิษเจือปน
แล้วจึงจัดใส่ภาชนะให้มหาดเล็กรับใช้เชิญขึ้นทูลเกล้าฯ
ในเวลา ๑๔.๔๕ น. และอีกครั้งหนึ่งในเวลา ๒๐.๔๕ น.
กล่าวกันว่า
โดยส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
ไม่โปรดให้มหาดเล็กในพระองค์ประพฤติตนเป็นนักเลงสุรา
ผู้ที่ประพฤติตนเสพสุราเป็นอาจิณนั้นมักจะต้องพระราชอาญาปลดออกจากราชการ
แต่ก็ไม่ทรงห้ามที่เด็กๆ จะกินเหล้าเพื่อให้รู้รส
ดังเช่นที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้เล่าไว้ว่า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีบรั่นดีเก่าอายุมาก
ที่ปากขวดมีกุญแจใส่กันขโมย
ยังได้ทรงรินพระราชทานท่านผู้เล่าครั้งหนึ่ง
และได้มีรับสั่งว่า "ลองดูซี
ของดีนะ"
๓.
ตามเสด็จพระราชดำเนินไปนอกพระราชฐานทุกครั้ง
รวมถึงการตั้งเครื่องแทนมหาดเล็กตั้งเครื่อง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านฝ่ายในที่ผู้ชายเข้าไปไม่ได้
โดยถือว่านักเรียนมหาดเล็กรับใช้ยังเป็นเด็ก
ในการติดต่อกับฝ่ายในนี้เมื่อมีพระบรมราชโองการให้ไปบอกทางฝ่ายในอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระราชกระแสไปแจ้งแก่
ท้าววรคณานันท์ (ม.ร.ว.ปั้ม มาลากุล)
ผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สมบัติประเภทเงินทองและเพชรพลอยของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
เมื่อจะเข้าเขตพระราชฐานชั้นในต้องแจ้งให้เจ้าพนักงาน
"กรมโขลน"
ซึ่งเป็นข้าราชการสตรีทำหน้าที่เวรยามประจำอยู่ที่ประตูพระราชฐานชั้นในให้ทราบ
แล้วจึงเข้าไปติดต่อธุระโดยมีโขลนเดินตามมิให้คลาดจากสายตาจนเสร็จธุระและออกพ้นจากพระราชฐานชั้นใน
๔.
เฝ้าในเวลาทรงเล่นกีฬา ทรงไพ่ และทรงซ้อมละคร ทรงแสดงละคร
รวมทั้งละครปริศนา
ทั้งนี้เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวนั้นทรงได้การรับศึกษามาจากประเทศอังกฤษ
จึงโปรดการกีฬาเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ
กีฬาที่เคยทรงตั้งแต่ประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษมีอาทิ
เทนนิส แบดมินตัน กอล์ฟ ฟุตบอล
เฉพาะอย่างยิ่งกีฬาขี่ม้านั้นมีบันทึกว่าทรงทำคะแนนได้สูงเยี่ยม
ส่วนกีฬายิงปืนนั้นก็ทรงได้รับเหรียญทองแม่นปืน
แต่เมื่อทรงพระประชวรพระอันตะ (ไส้ติ่ง)
อักเสบในระหว่างประทับทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
จึงต้องทรงเพลาการทรงกีฬาลง
๕.
ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
นักเรียนมหาดเล็กรับใช้ต้องไปล่วงหน้าเพื่อคอยรับพระมาลาก่อนที่จะทรงรับผ้าไตรเข้าไปในพระอุโบสถ
ถ้าทรงเครื่องเต็มยศทหาร
นักเรียนมหาดเล็กรับใช้ก็ต้องไปล่วงหน้าอีกคนหนึ่งเพื่อรับพระคทา
เมื่อรับพระมาลาและพระคทาแล้วก็ไปยืนอยู่หลังที่ประทับ
ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เชิญเครื่องเหล่านี้คงนั่งกับพื้นข้างที่ประทับ
งานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินนี้
มักจะเสด็จพระราชดำเนินวันละ ๓ พระอาราม
นักเรียนมหาดเล็กรับใช้จึงต้องมี ๒ ชุด
ไปรับเสด็จพระอารามที่ ๑
เสร็จแล้วไปคอยทำหน้าที่ที่พระอารามที่ ๓
อีกชุดหนึ่งรับผิดชอบที่พระอารามที่ ๒
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ยุบเลิกตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ไปหรือไม่
แต่ก็มีภาพถ่ายมหาดเล็กรับใช้เดินตามเสด็จอยู่
จึงทำให้เชื่อว่าตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้นี่น่าจะเลิกไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕