ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า
"House" ซึ่งแปลว่า "บ้าน"
เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น
ในพับลิคสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน
แต่ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น
มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียก "บ้าน"
ของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า "คณะ"
เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎีสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กันเป็น
"คณะ" โดยมีครูกำกับกับคณะ หรือ House Master
หรือที่เรียกกันว่า "ผู้กำกับคณะ"
เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้า "เจ้าคณะ"
ปกครองดูแลสงฆ์ในคณะ
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘
ก็โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่สี่มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน
ตึกครูและนักเรียนทั้งสี่มุมโรงเรียนซึ่งใบแบบแปลนและรายการก่อสร้างเรียกว่า
โรงเรียนหลังที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔
ล้วนมีโครงสร้างเป็นตึกก่ออิฐถือปูนรวมกันสามหลัง
ตรงกลางเป็นอาคารหลังใหญ่จัดเป็นที่พักของนักเรียน
และมีตึกเล็กซึ่งเป็นที่พักของผู้กำกับคณะและอนุสาสกซึ่งเป็นอาจารย์ชาวต่างประเทศต่อออกไปเป็นปีกสองข้างของตึกใหญ่
โดยมีทางเดินเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ทั้งชั้นล่างและชั้นบน
ตึกคณะทั้งสี่มุมโรงเรียนนั้น
มีผังพื้นที่ของอาคารเหมือนกันหมดทุกคณะ
มีที่ต่างกันบ้างก็แต่เฉพาะโครงสร้างหลังคาและลายปูนปั้นที่หน้าบันกับที่ซุ้มประตูหน้าต่างทั้งภายนอกและภายในที่ทั้งไม้แกะสลักและลายปูนปั้นที่ต่างกันไป
ส่วนการจัดแบ่งพื้นที่ภายในโรงเรียนหลังที่ ๑ และ ๒
มีการวางผังพื้นที่และหันหน้าตึกใหญ่หลังกลางไปทางทิศตะวันออกโดยมีตึกเล็ก
๒ หลังวางตำแหน่งเป็นมุมฉากกับตึกใหญ่เหมือนกัน
ส่วนโรงเรียงหลังที่ ๓ และ ๔
นั้นหันหน้าออกมุมโรงเรียนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
และทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ
ส่วนตึกหลังเล็กทั้งสองหลังนั้นวางตำแหน่งเป็นมุมมุม ๔๕
องศาของตึกใหญ่
โดยแนวยาวของตักเล็กทั้งสองฝั่งล้วนขนานกันไปกับแนวคลองเปรมประชากรและถนนด้านข้างโรงเรียนคือ
ถนนซางฮี้ในหรือถนนราชวิถี และถนนดวงเดือนในหรือถนนสุโขทัย
การก่อสร้างตึกคณะทั้งสี่มุมโรงเรียนนั้นพร้อมโรงครัวและเรือนพักคนงานประจำคณะ
คงจะแล้วเสร็จและย้ายนักเรียนจากเรือนไม้ชั่วคราวขึ้นไปพักอาศัยในตึกใหญ่ได้ราวปีพ.ศ.
๒๔๖๒ โดยจัดให้
นักเรียนชั้นประถมทั้งหมดอยู่ประจำที่คณะตะวันตกด้านเหนือหรือคณะบรมบาทบำรุง
ซึ่งจัดให้เป็นคณะเด็กเล็กในเวลานั้น
โดยมีหม่อมพยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยืมตัวมาจากโรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็ก
ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมได้กระจายกันไปอยู่ประจำในสามคณะที่เหลือ
และมีบางส่วนที่ถูกจัดแบ่งมาประจำในคณะเด็กเล็กด้วย
ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ
ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว
วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงจัดให้คณะบรมบาทบำรุงหรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะปรีชานุสาสน์เป็นคณะเด็กเล็กต่อมา
จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พระยาบรมบาทบำรุงมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้ง
พระยาบรมบาทบำรุงโดยอนุมัติสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งโรงเรียนเด็กเล็กแยกเป็นอีกแผนกหนึ่งในที่ดินริมถนนสุโขทัยฝั่งเหนือ
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ให้เป็นสถานที่ปลูกสร้างพักอาจารย์ชาวต่างประเทศ
เมื่อการสร้างโรงเรียนเด็กเล็ก หรือที่ต่อมาเรียกว่า
"คณะเด็กเล็ก ๑" แล้วเสร็จลง
จึงได้แยกนักเรียนชั้นประถมทั้งหมดไปพักอาศัยและจัดการเรียนการสอนเป็นการเฉพาะที่โรงเรียนเด็กเล็ก
เมื่อจบชั้นประถมแล้วจึงส่งข้ามฟากมาพักอาศัยและเล่าเรียนในโรงเรียนใหญ่จนจบหลักสูตร
เนื่องจากในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น
รัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยได้ตัดลดงบประมาณที่รัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทูลเกล้าฯ
ถวายสมทบเป็นค่าใช้จ่ายของวชิราวุธวิทยาลัยปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท
ลงเหลือเพียงปีละ ๓๕,๐๐๐ บาท
ทำให้โรงเรียนต้องลดอาจารย์ชาวต่างประเทศลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
เมื่อปรับลดอาจารย์ชาวต่างประเทศลงแล้ว
ตึกหลังเล็กที่เดิมเคยจัดเป็นที่พักของอาจารย์ชาวต่างประเทศซึ่งเป็นอนุสาสกประตำคณะทั้งสี่ก็ว่างลง
โรงเรียนจึงได้จัดตึกเล็กที่ว่างลงนั้นให้เป็นที่อยู่ของนักเรียนเพิ่มขึ้น
ส่วนผู้กำกับคณะยังคงพักอาศัยอยู่ในตึกเล็กอีกหลังหนึ่ง
เว้นแต่คณะตะวันตกด้านเหนือซึ่งผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ
ที่มีการแยกเรือนพักของผู้บังคับการไปไว้เป็นเอกเทศ
นักเรียนจึงได้ใช้ตึกทั้งสามเป็นที่พักอาศัย
อนึ่ง
การเรียกชื่อคณะทั้งสี่นับแต่แรกพระราชทานกำเนิดฌรงเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สืบมาจนได้มีการรวมโรงเรียนเป็น "วชิราวุธวิทยาลัย"
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
คงเรียกชื่อผู้กำกับคณะตามราชทินนามของผู้กำกับคณะมาโดยตลอด
เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ
[๑]
เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
และนายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยมีพระประสงค์ให้ครูที่จะออกไปประจำรับราชการในตำแหน่งระดับสูงของกระทรวง
ให้มาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติหน้าที่ผู้กำกับคณะในวชิราวุธวิทยาลัยเสียก่อน
ในช่วงนั้นจึงมีการหมุนเวียนข้าราชการจากกระทรวงธรรมการมาดำรงตำแหน่งผู้กำกับคณะตะวันออกด้านเหนือเกือบจะทุกปี
และเมื่อเปลี่ยนตัวผู้กำกับคณะชื่อคณะก็ต้องเปลี่ยนไปตามราชทินนามของผู้กำกับคณะใหม่
"...ยังผลให้นักเรียนเก่าที่เคยอยู่ร่วมคณะเดียวกันแต่ภายใต้ผู้กำกับคณะคนละคนไม่มีความผูกสัมพันธ์กัน..."
[๒]
เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย
จึงได้มีดำริที่จะขอพระราชทานนามคณะให้เป็นการถาวร
จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนนามไปตามราชทินนามของผู้กำกับคณะ
และโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามโรงเรียนไว้ว่า
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย แล้ว
หากนามคณะทั้งสี่จะเป็นพระนามาภิไธยและพระนามในสมเด็จพระอนุชาธิราชและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้ายู่หัวแล้ว
ก็จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏคู่กับนามพระราชทานของโรงเรียนสืบไป
สภากรรมการจัดการฯ
จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอัญเชิญพระปรมาภิไธยและพระนามสมเด็จพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มาเป็นชื่อคณะทั้งสี่ คือ
 |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ณ
พระตำหนักพญาไท
พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
และสมเด็จพระอนุชา
(ประทับยืนจากซ้าย) |
สมเด็จพระอนุชาธิราช
เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
กรมหลวงนครราชสีมา
สมเด็จพระอนุชาธิราช |
|
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ |
(ประทับพื้นจากซ้าย) |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก
กรมขุยเพชรบูรณ์อินทราชัย |
|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เมื่อวันที่ ๒๙
มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ |
คณะตะวันตกด้านเหนือ |
เป็น คณะจักรพงษ์ |
คณะตะวันตกด้านใต้ |
เป็น คณะอัษฎางค์ |
คณะตะวันออกด้านใต้ |
เป็น คณะจุฑาธุช |
คณะตะวันออกด้านเหนือ |
เป็น คณะประชาธิปก |
แต่ยังมิทันที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นประการใด
ก็ประจวบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ.
๒๔๗๕ ขึ้น
การขนานชื่อคณะเป็นการถาวรจึงค้างมาจนสงครามโลกครั้งที่ ๒
สงบลง
คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาและกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทาลัยเป็นผู้คิดชื่อคณะขึ้นใหม่
"...โดยถือเอาความสำคัญของสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัสทรงโปรดประทับเมื่อสมัยพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่คือ
คณะดุสิต จิตรลดา และพญาไท
ส่วนคณะที่ผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะให้ชื่อว่า "คณะผู้บังคับการ"
เพื่อสงวนประเพณีซึ่งนิยมกันปับลิคสกูลไว้
[๓]..."
[๔]
และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว
จึงได้มีการขนานนามคณะทั้งสี่เป็นดังนี้
คณะตะวันตกด้านเหนือ |
เป็น คณะผู้บังคับการ |
คณะตะวันตกด้านใต้ |
เป็น คณะดุสิต |
คณะตะวันออกด้านใต้ |
เป็น คณะจิตรลดา |
คณะตะวันออกด้านเหนือ |
เป็น คณะพญาไท |
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้มาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ
และมีระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่มุมโรงเรียนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
ทำให้ตึกคณะดุสิตหลังกลาง ตึกเล็กด้านทิศเหนือ
และตึกครัวด้านหลังตึกคณะพังทลายลงทั้งหมด
คงเหลือแต่ตึกเล็กด้านทิศใต้เหลืออยู่เพียงหลังเดียว
แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเรียนจึงไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
 |
เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเคยเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรู.ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
๒
ซึ่งต่อมาวชิราวุธวิทยาลัยได้จัดเป็นคณะดุสิตชั่วคราวในระหว่าง
พ.ศ. ๒๔๘๙ ๒๕๐๔ |
เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนอีกครั้งในปีการศึกษา ๒๔๘๙
นักเรียนคณะดุสิตจึงถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนไม้หลังคามุงจาก
ซึ่งทางราชการได้จัดสร้างขึ้นเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูในระหว่างสงคามโลกครั้งที่
๒ เรือนชั่วคราวนี้เป็นเรือนยกพื้นสูง
ยาวจากริมถนนหน้าหอประชุมขนานไปกับแนวหอประชุมฝั่งทิศใต้จนถึงริมสระน้ำหน้าโรงสควอช
มีโรงเลี้ยงและโรงครัว
เป็นส่วนต่อแยกจากเรือนยาวลงไปทางทิศใต้จนถึงริมคูรอบโรงเรียนด้านถนนราชวิถี
ในการที่จะสร้างคณะดุสิตขึ้นใหม่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมนั้น
ได้มีการประมาณราคาค่าก่อสร้างไว้เป็นเงินราว ๒,๕๐๐,๐๐๐
บาท แต่เนื่องด้วยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น
"...ทุนรอนที่พระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนพระราชทานไว้ร่อยหรอลงไป
ไม่สามารถจะสร้างให้สมบูรณ์ได้แม้แต่หลังเดียว..."
[๕]
คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณค่าก่อสร้างและซ่อมแซมสถานศึกษามาจัดสร้างอาคารคณะดุสิตขึ้นแทนอาคารเดิม
แต่กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณปี ๒๔๙๔ ให้เพียง
๔๐๐,๐๐๐ บาท คณะกรรมการอำนวยการฯ
จึงได้มีมติให้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติม
ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้ขอปรับลดขนาดของอาคารและรวมทั้งปรับลดรายละเอียดอื่นๆ
เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้สำเร็จในวงเงินงบประมาณ
๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อคณะกรรมการอำนวยการฯ
ให้ความเห็นชอบกับแบบก่อสร้างของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว
จึงได้เริ่มการก่อสร้างอาคารคณะดุสิตใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.
๒๔๙๖
และคงดำเนินการก่อสร้างมาเป็นลำดับจนแล้วเสร็จลงในตอนต้นปี
พ.ศ. ๒๕๐๕ ในปีการศึกษา ๒๕๐๕
นักเรียนคณะดุสิตจึงได้ย้ายเข้าอยู่ในตึกที่สร้างขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่
๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวิสาขะเป็นต้นมา
ส่วนเรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวนั้นได้รื้อย้ายไปปลูกสร้างเป็นโรงยาวที่ริมสนามกีฬาด้านหลังโรงเรียน
ขนานกันไปกับแนวถนนสุโขทัย
และได้ใช้เป็นที่พักของนักเรียนคณะเด็กเล็ก ๒
ในระหว่างรื้อถอนเรือนไม้และก่อสร้างตึกคณะเด็กเล็ก ๒
ใหม่ในระหว่างปีการศึกษา ๒๕๐๕-๒๕๐๖