ต่อมาในสมัยที่พระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
ได้มีการติดต่อกับเดอะมาเลย์คอลเลจ (The Malay College)
พับลิตสกูลของมาเลย์เซียที่มีอายุใกล้เคียงกับวชิราวุธวิทยาลัย
และได้เริ่มจัดให้มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีในระหว่างวชิราวุธวิทยาลัยกับเดอะมาเลย์คอลเลจ
โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ
เริ่มจากวชิราวุธวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๓
และเดอะมาเลย์คอลเลจเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. ๒๕๐๔
สลับกันเป็นเจ้าภาพเช่นนี้แต่แข่งขันกันมาได้ไม่กี่ปี
ทางมาเลย์คอลเลจเกิดเหตุขัดข้องภายในการแข่งขันจึงต้องหยุดไป
๒ ปี และมาเริ่มการแข่งขันกันใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๕
และแข่งขันต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
 |
ทีมรักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยชุดชนะเดอะมาเลย์คอลเลจ
๓๓ ๐
ในการแข่งขันรักบี้ประเพณีครั้งแรก
เมื่อวันที่ พ.ศ. ๒๕๐๓
(แถวหลังจากซ้าย) |
สมพงศ์ แสงศิริ (ผู้กำกับเส้น),
สมบัติ ณ นครพนม,
ณรงค์ ไหลมา,
สหีส หงส์เหิน,
เสน่ห์ ชัยนิยม
สมเกียรติ ตันติผลาผล,
สมทบ ลีสวรรค์,
ประยุตติ ปริกสุวรรณ,
ม.ร.ว.จีริเดชา กิติยากร |
(แถวหน้าจากซ้าย) |
จิราคม ขจัดสรรพโรค (หัวหน้าชุด),
อุดมเดช ชาญชยศึก,
เชิดศักดิ์ ธีระบุตร,
ภิญโญ จริโมภาส,
จักร จักษุรักษ์,
ประทักษ์ ประทีปะเสน,
ศรศิลป์ จักษุรักษ์ |
|
ในการเดินทางไปแข่งขันกับทีมเดอะมาเลย์คอลเลจที่ประเทศมาเลย์เซียนั้น
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ท่านผู้บังคับการนำคณะนักกีฬาเข้าเฝ้าทูลละอองธุบลีพระบาทกราบถวายบังคมลาก่อนออกเดินทางแล้ว
เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็ยังได้โปรดเกล้าฯ
ให้คณะนักกีฬาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลถวายรายงานการแข่งขัน
และในคราวเดียวกันนี้ก็จะมีพระราชกระแสให้นักกีฬาที่เดินทางไปแข่งขันเขียนเรียงความเล่าประสบการณ์ที่พบเห็นในการเดินทางไปแข่งขันขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวาย เมื่อโรงเรียนคัดเลือกผลงานที่เหมาะสม ๓
ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว
ทรงคัดเลือกผลงานนั้นให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑
- ๓
และได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้เขียนเรียงความนั้นแก่นักเรียนผู้ชนะการประกวดในวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีตลอดมา
 |
สืบแสง วงศ์เธียรทอง
หัวหน้าทีมรักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัย
แนะนำนักกีฬาวชิราวุธวิทยาลัยต่อผู้แทนสุลต่านแห่งรัฐเปรัค
ก่อนการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจ
ที่สนามกีฬาเดอะมาเลย์คอลเลจ
กรุงกัวลากังสา รัฐเปรัค
สหพันธรัฐมาเลย์เซีย
วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ |
การที่วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจนี้
ผลที่เกิดขึ้นนอกจากผลแพ้ชนะในเกมกีฬาแล้ว
ประโยชน์ใหญ่ยิ่งที่ติดตามมาคือมิตรภาพของนักเรียนทั้งสองโรงเรียน
ซึ่งแม้จะจบการศึกษาไปเติบโตในหน้าที่การงานกันแล้วมิตรภาพแต่วัยเยาว์นั้นก็ยังคงยั่งยืนตลอดมา
ดังปรากฏว่าเมื่อนักเรียนเก่าของทั้งสองโรงเรียนได้ร่วมการงานกันทั้งในภาครัฐและเอกชน
หากได้รู้ว่าต่างก็จบมาจากโรงเรียนทั้งสอง
การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมือนพี่น้องก็เกิดขึ้นเฉกเช่นเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกันมา
 |
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงคล้องพวงมาลัยพระราชทานนักกีฬาวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อจบการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีระหว่างวชิราวุธวิทยาลัยกับเดอะมาเลย์คอลเลจ
ที่สนามศุภชลาศัย |
อนึ่ง
เมื่อกีฬารักบี้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาหลักของวชิราวุธวิทยาลัย
กีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลที่เคยเป็นกีฬาหลักของโรงเรียนมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงกลายเป็นกีฬารองที่แข่งขันกันภายในระหว่างคณะเท่านั้น
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกีฬาฟุตบอลที่ได้ชื่อว่า กีฬาของสุภาพบุรุษ
นั้นมักจะมีการกระทบกระทั่งกันรุนแรงในระหว่างผู้เล่นและในระหว่างผู้ชม
จนถึงกับมีการทำร้ายกันให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอๆ
ผิดกับกีฬารักบี้ฟุคบอลที่กล่าวกันว่า
เป็นกีฬาที่ป่าเถื่อน
เพราะมีการกระทบกระทั่งกันในเกมอยู่ตลอดเวลา
แต่นักกีฬาและผู้ชมล้วนเป็นผู้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
กีฬาชนิดนี้จึงกลายเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษ
คงจะเป็นด้วยเหตุฉะนี้เองเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว
วชิราวุธวิทยาลัยจึงมิได้ส่งทีมฟุตบอลลงแข่งขันกับทีมภายนอกอีกเลย
เว้นแต่ได้รับเชิญให้จัดทีมเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมโรงเรียนจิตรลดา
ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์
สยามมกุฎราชกุมาร ทรงลงแข่งขันในฐานะหัวหน้าทีมอยู่ราว ๒
- ๓ ปี
และเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
เสด็จไปทรงศึกษาที่ต่างประเทศแล้ว
ทีมฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยก็ไม่เคยไปแข่งขันภายนอกโรงเรียนอีกเลย
 |
ทีมบาสเกตบอลวชิราวุธวิทยาลัย
ที่สนามบาสเกตบอลข้างคณะผู้บังคับการ |
นอกจากกีฬาฟุตบอลทั้งแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอลแล้ว
ในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)
เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น
วชิราวุธวิทยาลัยยังได้ส่งทีมบาสเกตบอลเข้าร่วมการแข่งขันบาสเกตบอลนักเรียนซึ่งกรมพลศึกษาและเทศบาลนครกรุงเทพฯ
เป็นผู้จัดแข่งขันอีกหลายปี
และแม้ว่าจะต้องเสียเปรียบในเรื่องตัวนักกีฬา
แต่ทีมบาสเกตบอลวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังสามารถคว้าถ้วยรางวัลทั้งของกรมพลศึกษาและเทศาลาลนครกรุงเทพฯ
มาไว้ในครอบครองหลายสมัย
 |
ฝึกซ้อมบนบกก่อนลงฝึกซ้อมในสระว่ายน้ำ |
ต่อมาในยุคที่วชิราวุธวิทยาลัยสร้างสระว่ายน้ำขนาด
๒๕ เมตรขึ้นที่ข้างตึกพยาบาลใน พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้ว
วชิราวุธวิทยาลัยก็เริ่มส่งนักกีฬาว่ายน้ำเข้าร่วมการแข่งขันว่ายน้ำของกรมพลศึกษา
และสามารถผูกขาดคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศมาไว้ในครอบครองเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี