 |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงการกีฬาในพับลิคสกูลไว้ในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ความตอนหนึ่งว่า
"การกีฬาเป็นของสำคัญที่สุด
การเล่นเกมเขาออกจะกวดขันยิ่งเสียกว่าการเล่าเรียน
เขาเห็นประโยชน์ของการเล่นกีฬามาก
เพราะว่าการกีฬานั้นมีประโยชน์ทางหัดนิสสัย
โรงเรียนอังกฤษมุ่งฝึกหัดนิสสัยยิ่งกว่าสิ่งใดหมด
การเล่นเกมนั้นทำให้กำลังบริบูรณ์
และกล้าหาญเราก็ย่อมทราบกันอยู่แล้ว
แต่นอกจากนั้นยังมีผลยิ่งขึ้น
ด้วยเกมที่เลือกนั้นมักต้องเลือกเกมที่ต้องเล่นหลายคน
เช่น ฟุตบอลล์ คริกเก็ต เป็นต้น
เพื่อจะฝึกให้เด็กรู้จักการรักเหล่ารักคณะให้รู้จักช่วยเพื่อน
การเล่นเกมไม่ใช่เล่นแต่ตัวคนเดียว
ให้นึกถึงส่วนใหญ่ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวคนเดียว
เช่น
เล่นฟุตบอลล์ไม่ควรแย่งชูตโกล์แต่ตัวคนเดียว
ตรงกันข้ามถ้าเห็นคนอื่นอยู่ในที่ดีกว่าเราต้องส่งลูกไปให้
นี่ฝึกหัดให้รู้จักประโยชน์ของส่วนใหญ่ยิ่งกว่าพยายามแสดงความเก่งของตัวคนเดียว
เรื่องเล่นเกมนี้เขากวดขันที่สุดต้องเล่นเกมให้ถูกข้อบังคับจริงๆ
และจะโกงไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นจึงมีศัพท์ที่เมืองอังกฤษว่า
คนไหนที่มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตทำอะไรตรงไปตรงมาเขาเรียกว่า
เป็นผู้รู้จักเล่นเกม He plays the game.
นี่เป็นศัพท์ที่อังกฤษใช้เสมอ
แปลว่าเล่นเกมถูกต้อง
รู้จักรักและนึกถึงการช่วยเหลือเพื่อนของตน
ไม่ใช่เอาเปรียบ
เป็นของสำคัญมากเป็นการอบรมนิสสัยอย่างดี
ในโรงเรียนนี้หวังว่าครูจะตั้งใจอบรมให้นักเรียนที่นี่เป็นผู้มีนิสสัยรู้จักเล่นเกม
การอบรมอย่างนี้อังกฤษถือว่าทำให้ชาติอังกฤษเป็นชาติที่รุ่งเรืองมีอำนาจใหญ่โตในโลกได้จนมีประเทศราชทั่วไปทั้งโลก
เพราะเหตุว่ามีนิสสัย "รู้จักเล่นเกม"
นี้เอง แม่ทัพสำคัญของอังกฤษ คือ ดุ๊ค ออฟ
เวลลิงตัน
ที่เป็นผู้ชนะพระเจ้านะโปเลียนที่ ๑
ในการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูนั้น ได้กล่าวว่า
"ข้าพเจ้าชนะการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูบนสนามกีฬาของโรงเรียนอีตัน"
หมายความว่าที่เขามีคุณวุฒิจนชนะการยุทธ์สำคัญคราวนั้นได้เพราะความอบรมที่รับมาจากโรงเรียนเป็นต้น
เพราะการอบรมเหล่านี้เป็นทางฝึกหัดอบรมนิสสัยอย่างสำคัญทางหนึ่ง
ฉะนี้เองสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจึ่งได้มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้ฝึกหัดอบรมให้คล้ายคลึงกับปับลิคสกูลของอังกฤษมากที่สุดที่จะเป็นได้" |
 |
ทีมฟุตบอลโรงเรียนมหาดเล็กหลวง |
เพราะการเล่นกีฬาถือเป็นหลักสำคัญในการอบรมนักเรียนในพับลิตสกูล
ให้นักเรียนเป็นผู้รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนแบบพับลิคสกูลขึ้นแล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเล่นกีฬาเป็นทีมอย่างที่นิยมกันในพับลิคสกูลในประเทศอังกฤษ
เช่น แอสโซซิเอชั่นฟุตบอล ราวน์เดอร์ และคริกเก็ต
โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
 |
ทีมฟุตบอลสโมสรกรมนักเรียนเสือป่าหลวง
พ.ศ. ๒๔๕๙ |
กีฬาฟุตบอลหรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า
แอสโซซิเอชั่นฟุตบอลนั้นทรงส่งเสริมเป็นพิเศษ
และโปรดให้โรงเรียนจัดนักกีฬาในนามของ
สโมสรโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานที่สนามเสือป่ามาตั้งแต่
พ.ศ. ๒๔๕๙
และในระหว่างตามเสด็จพระราชดำเนินไปซ้อมรบเสือป่าประจำปี ณ
พระราชวังสนามจันทร์และท้องทุ่งจังหวัดราชบุรีนั้น
ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวง
นักเรียนราชวิทยาลัย
และนักเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่รวมทีมเป็นสโมสร
"กรมนักเรียนเสือป่าหลวง"
เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยน้อยนักรบ
ในระหว่างทีมกรมกองทหารและเสือป่าที่ตามเสด็จไปซ้อมรบในแต่ละปีด้วย
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีการแข่งขันกรีฑาหน้าพระที่นั่งระหว่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัย
ในงานพระราชทานรางวัลประจำปีของโรงเรียนซึ่งโปรดให้จัดขึ้นทุกปีในช่วงปลายเดือนธันวาคม
โดยนับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมพระชนม์พรรษา
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (พระวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)
เสนาบดีกระทรวงธรรมการและสภานายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย
ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นเคยมีพระราชกระแสรับสั่งด้วยพระองค์ท่านซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้ช่วยราชเลขาธิการในพระองค์ว่า
"หากข้าจากไปแล้ว
ขอให้มีกรีฑาให้ข้าดูในวันเกิดของข้าเช่นที่เคยจัดกันมาทุกปีด้วย"
แต่เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
โรงเรียนราชวิทยาลัยได้ถูกยุบรวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย แล้ว
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้มีการแข่งขันกรีฑาหน้าพระที่นั่งในวันเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของโรงเรียน
ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในช่วงวันที่ ๑๐ และ ๑๒
พฤศจิกายนของปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ๒๔๗๕
เนื่องในวันฉัตรมงคลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และนับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของวันเฉลิมพระชนม์พรรษาในรัชกาลซึ่งตรงกับวันที่
๘ พฤศจิกายน
จึงเป็นการแข่งขันกรีฑาระหว่างคณะของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
และมีที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ คือ
ในงานประจำปีของโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.
๒๔๗๕
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินงานในงานโรงเรียนเป็นครั้งสุดท้ายนั้น
ได้ทอดพระเนตรการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมนักเรียนเก่ากับนักเรียน
ซึ่งเป็นการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลครั้งแรกระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
เพราะก่อนหน้านั้นการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ที่สนามราชกรีฑาสโมสร
ล้วนเป็นการแข่งขันในระหว่างทีมชาวต่างชาติด้วยกันเอง
โดยมีคนไทยเข้าร่วมผสมทีมบ้างก็ไม่กี่คน
ภายหลังจากที่ได้ทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมนักเรียนเก่ากับนักเรียนปัจจุบันแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงการแข่งขันคราวนั้นว่า
"วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นนักเรียนไทยเล่นฟุตบอลล์รักบี้
ฟุตบอลอย่างนี้เคยมีคนพูดว่า ไทยเราเล่นไม่ได้
เพราะถ้าเล่นเข้าก็ได้ต่อยกันตาย
แต่วันนี้ก็เห็นเล่นได้โดยเรียบร้อย
ซึ่งแปลงว่าโรงเรียนนี้
สามารถฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ได้จริงๆ
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มมาก"
จากวันนั้นมาวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้เริ่มเล่นกีฬารักบี้ฟุตบอลคู่ขนานกันไปกับกีฬาฟุตบอลที่เล่นกันมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และเมื่อมีการจัดตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น และสมาคมฯ
ได้จัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างโรงเรียนขึ้นใน
พ.ศ. ๒๔๘๙
วชิราวุธวิทยาลัยก็ได้ส่งทีมรักบี้ฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขัน
คว้าโล่รางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี
จนมีคำกล่าวกันว่า "วชิราวุธแชมป์ตลอดกาล"
และเพิ่งจะมาเสียตำแหน่งแชมป์ตลอดกาลให้แก่โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง