เมื่อพระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ
อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)
รับพระบรมราชโองการมารับสมัครนักเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นลูกเสือชุดแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน
พ.ศ. ๒๔๕๓ จากนั้นได้มอบหมายให้คุณครูนายดาบ จ้อย
พลทา (หลวงหัดดรุณพล)
ครูวิชาทหารของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจัดการฝึกหัดระเบียบแถวให้นักเรียนที่สมัครเป็นลูกเสือแล้ว
ต่อมาวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือกรุงเทพฯ ที่
๑ (มหาดเล็กหลวง) ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ
สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต
ผู้กำกับได้ฝึกหัดลูกเสือถวายตัว
แลได้มีการสอบซ้อมวิชาลูกเสือตามแบบซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้สำหรับสั่งสอนเสือป่าแลลูกเสือ
[๑]
เฉพาะหน้าพระที่นั่ง เสร็จแล้ว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานนามกองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ซึ่งเปนกองเริ่มแรกที่ได้ตั้งขึ้นว่า
กองลูกเสือหลวง แลเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ร,ศ,
๑๓๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานธงลายรูปพระมนูแถลงสารเปนธงประจำกองลูกเสือหลวง
ซึ่งได้ตามเสด็จพระราชดำเนิรประพาศพระราชวังสนามจันทร์
(พระปฐมเจดีย์) เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ศก ๑๓๐
[๒]
 |
ธงพระมนูแถลงสาร (จำลอง) ซึ่งประดิษฐาน ณ
หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย |
ธงพระมนูแถลวารประจำกองลูกเสือหลวงนี้
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุสาสน์จิตรกร
(จันทร์ จิตรกร)
จางวางกรมช่างมหาดเล็กจัดสร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริ
มีลักษณะเป็นธงพื้นแพรสีดำ ขนาดกว้าง ๕๒ เซนติเมตร
สูง ๕๐ เซนติเมตร
ลายกลางปักไหมสีเป็นรูปพระมนูแถลงสาร
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเป็นตราโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
คันธงเป็นไม้ชัยพฤกษ์กลึงกลมโต ๓ เซนติเมตร
หัวคันธงเป็นพระขรรค์โลหะสีเงิน คันธงยาวตลอดยอด
๒.๖๕ เมตร
ที่ยอดคันธงประดับตราวชิรมาลาพร้อมแพรแถบสีเหลืองกับดำ
 |
ตราวชิรมาลา |
ตราวชิรมาลาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานประดับที่ยอดคันธงพระมนูแถลงสารนี้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์บำเหน็จความชอบในพระองค์
ซึ่งทรงพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น
สำหรับพระราชทานผู้ที่ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระองค์
แลรัชทายาทแลราชตระกูลโดยความจงรักภักดี
ที่จะให้เปนคุณเปนประโยชน์
เปนพระเกียรติยศในพระองค์ แลราชตระกูล
เปนการปรากฏก็ดี มิปรากฏก็ดี
จะทรงพระราชดำริห์วินิจฉัยด้วยพระองค์เอง
ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาเกี่ยวข้องแนะนำว่า
ผู้นั้นผู้นี้ควรจะได้รับพระราชทานไม่ได้เลยเปนอันขาด
[๓]
ธงพระมนูแถลงสารประจำกองลูกเสือหลวงนี้
เปรียบได้กับธงไชยเฉลิมพลของกองทหารและศารทูลธวัชประจำกรมกองเสือป่า
เมื่อมีการตั้งกองเกียรติยศรับเสด็จหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กองลูกเสือหลวงตามเสด็จไปในการซ้อมรบเสือป่าประจำปีหรือในเวลาเสด็จหัวเมืองใดๆ
ก็ตาม
กองลูกเสือหลวงจึงต้องเชิญธงพระมนูแถลงสารเข้าประจำแถวหรือไปในการตามเสด็จด้วยทุกครั้ง
ธงพระมนูแถลงสารนี้จึงมิได้เป็นแต่เพียงธงประจำกองลูกเสือหลวง
หากแต่ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ใช้เป็นธงประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงด้วย
 |
ภาพตัวอย่างธงประจำกองลูกเสือมณฑลต่างๆ
ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ ๑
ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.
๒๔๗๐ |
อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานธงพระมนูแถลงสารเป็นธงประจำกองลูกเสือหลวงแล้ว
ก็มิได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานธงประจำกองลูกเสือโรงเรียนใดๆ อีกเลย
คงพระราชทานแต่เฉพาะธงประจำกองลูกเสือมณฑล
เฉพาะมณฑลที่ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสด้วยพระองค์เองเท่านั้น
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีเฉพาะมณฑลปัตตานี
มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็ต มณฑลกรุงเทพฯ
มณฑลนครไชยศรี และมณฑลราชบุรี
ที่ได้รับพระราชทานธงประจำกองลูกเสือมณฑล
ส่วนมณฑลที่เหลือนั้นมาได้รับพระราชทานในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทางราชการได้ยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
สภากรรมการกลางลูกเสือแห่งสยามจึงได้กำหนดให้ธงประจำกองลูกเสือมณฑลเดิมนั้นเป็นธงประจำกองลูกเสือจังหวัดที่เป็นที่ตั้งศาลารัฐบาลมณฑลเดิม
แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างธงประจำกองลูกเสือจังหวัดขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา
ส่วนธงพระมนูแถลงสารนั้น
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวงเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว ก็คงจะโปรดเกล้าฯ
ให้กรมนักเรียนเสือป่าหลวงใช้ธงประจำกรมสืบต่อมา
จนได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานธงประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงให้ใหม่พร้อมพระราช-ทานเหรียญรัตนาภถภรณ์
ว.ป.ร. ชั้นที่ ๒ ผูกประดับที่ยอดธง เมื่อวันที่ ๑
มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙
แล้วจึงคงจะส่งคืนธงพระมนูแถลงสารให้แก่กรมบัญชาการคณะเสือป่า
ธงประจำกรมนักเรียนเสือป่าที่พระราชทานเมื่อ พ.ศ.
๒๔๕๙ นั้น
มีลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมพื้นแพรสีดำกว้าง ๕๒
เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร
เช่นเดียวกับธงพระมนูแถลงสาร
แต่ลายกลางปักไหมสีเป็นรูปหน้าเสือสวมเทริด
อันเป็นสัญลักษณ์ของกรมกองเสือป่าในสังกัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้บัญชากาด้วยพระองค์เอง
กับมีชื่อนามกรมกับคติพจน์เสือป่า
เสียชีพอย่าเสียสัตย์
ปักไหมสีเป็นวงกลมล้อมรอบหน้าเสือ
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์แล้ว
ก็ได้โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างศารทูลธวัชประจำกรมกองเสือป่าเปลี่ยนแทนธงเดิม
ในคราวนี้กรมนักเรียนเสือป่าหลวงก็ได้รับพระราชทานศารทูลธวัชที่เปลี่ยนใหม่เมื่อวันที่
๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ด้วย
 |
ศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวง
และแถบผ้าหมายนามกรมที่มุมยอดธง
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ |
ศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงที่พระราชทานเปลี่ยนให้ใหม่นี้
มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ขนาดกว้าง (สูง) ๗๔
เซนติเมตร ยาว (กว้าง) ๙๐ เซนติเมตร
กลางผืนธงปักดิ้นทองเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ
ร.ร.๖ มีพระมหามงกุฎรัศมีปักดิ้นทองอยู่เหนือ
ที่มุมธงตอนบนด้านที่ติดกับคันธงมีแถบผ้าพ้นสีแดง
มีริ้วสีดำ ๒ แถบที่ริมขอบทั้งสี่ด้าน
กลางแถบผ้าปักไหมสีเป็นภาพหน้าสวมเทริดพร้อมอักษรบอกนามกรมและคติพจน์ของเสือป่า
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กรมนักเรียนเสือป่าหลวงเปลี่ยนจากเหล่าราบไปเป็นเหล่าพรานซึ่งเป็นเหล่าเคลื่อนที่เร็วในทำนองเดียวกับ
ทหารราบเบาเดอรัม
ซึ่งพระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปประจำการเมื่อครั้งประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
จึงได้โปรดเกล้าฯ
พระราชทานศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงให้ใหม่โดยเปลี่ยนสีแถบผ้าที่มุมธงจากสีแดงซึ่งเป็นสีของเหล่าราบมาเป็นสีเขียวซึ่งเป็นสีประจำเหล่าพราน
ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ให้กรมกองเสือป่าต่างๆ
ที่ตามเสด็จไปในการซ้อมรบเสือป่าจำลองศารทูลธวัชประจำกรมกองไปในการซ้อมรบ
เพราะในการซ้อมรบโดยเชิญธงจริงไปนั้นทำให้ธงจริงได้รับความเสียหายและชำรุดเร็วกว่าเวลาอันควร
กรมนักเรียนเสือป่าหลวงจึงได้จำลองศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงและได้นำไปพร้อมกองในการซ้อมรบเสือป่ามาจนยุบเลิกกองเสือป่า
เมื่อกรมนักเรียนเสือป่าหลวงได้ถูกยุบเลิกไปพร้อมกับการยุบเลิกกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ครั้งสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
ศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงก็คงจะถูกส่งคืนไปตามระเบียบ
ที่โรงเรียนจึงคงเหลือแต่ธงพระมนูแถลงสารและศารทูลธวัชประจำกรมนักเรียนเสือป่าหลวงจำลองที่ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจกบนหอประชุมสืบมาถึงทุกวันนี้