 |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย
ได้ทอดพระเนตรรายงานการประชุมกรรมการวชิราวุธวิทยาลัยครั้งนั้นแล้ว
ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๔๖๙ ว่า
"...ที่จะให้ครอบครัวพระยาปรีชาฯ
เข้าไปอยู่ในพระตำหนักสมเด็จพระพันปีนั้น
ฉันขัดข้อง
การที่รื้อเอาพระตำหนักไปปลูกไว้ที่โรงเรียนก็ไม่เห็นด้วยขั้นหนึ่งแล้ว
ยังจะให้คนเข้าไปอยู่เป็นบ้านทีเดียวจึงยอมไม่ได้เลย
ที่ใช้เป็นที่พยาบาลนั้นก็พอไปได้เพราะเป็นการกุศล
แต่ก็ไม่สู้ชอบอยู่แล้ว
ถ้าจัดเป็นห้องสมุดจะดีกว่า
ที่จะให้พระยาปรีชาฯ ไปอยู่นั้นของด..."
[๑] |
ต่อมาวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
ได้มีพระราชกระแสพระราชทานมายังสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่งว่า
"...เรื่องพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวงนั้น
ทรงรู้สึกรังเกียจในเรื่องที่มีคนไปอยู่บนนั้น
จึงมีพระราชประสงค์จะรื้อมาเสีย
แต่ที่ยังต้องหาที่ปลูกใหม่ไม่ได้
จึงยังให้รออยู่
ถ้ารื้อไปเมื่อใดจะปลูกเรือนพระราชทานให้ใหม่อีกหลังหนึ่งแทนที่รื้อไปนั้น
ในประกาศกรมบัญาชาการกลางมหาดเล็ก
ก็ปรากฏว่า
พระราชทานเพื่อเป็นสถานที่สอนการวิทยาศาสตร์
ไม่ใช่สำหรับให้คนอยู่บนนั้น..."
[๒] |
 |
แบบด้านหน้าและด้านข้างตึกพยาบาล
ผลงานออกแบบของพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สโรช
ร.สุขยางค์) และหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ
ปัทมจินดา) |
ครั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ให้รื้อย้ายพระตำหนักพญาไทไปปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่วัดราชาธิวาสในตอนปลายปี
พ.ศ.๒๔๗๓ แล้ว
ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน
๑๒,๒๗๗.๖๙ บาท
เป็นค่ารื้อย้ายพระตำหนักพญาไทไปปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่วัดราชาธิวาส
กับอีก๒๒,๙๐๐ บาท เป็นค่าจ้างเหมานายกิ๊ดกี่
ยี่ห้อเชียงโหมว
จัดสร้างตึกพยาบาลหลังใหม่ตามแบบรูปที่สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้มอบหมายให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์
(สโรช ร.สุขยางค์) และหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ
ปัทมจินดา) ออกแบบไว้
ในพื้นที่ว่างระหว่างคณะบรมบาทบำรุงกับกุฏิสมมตอมรพันธุ์ซึ่งเวลานั้นเป็นกองบังคับการของโรงเรียน
 |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น นายพันตรี
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ
กรมขุนชัยนาทนเรนทร
[๓]
เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกพยาบาลนี้เนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕
 |
ตึกพยาบาล
ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพระราชทานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ |
ต่อมาในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)
เป็นผู้บังคับการ
ได้ริเริ่มจัดให้มีสถานรักษาโรคฟันขึ้นในตึกพยาบาล
เพื่อบำบัดและป้องกันโรคฟันแก่นักเรียนรุ่นเยาว์
และด้วยความร่วมมือของนายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์
โรงเรียนได้รับเครื่องทำฟันหนึ่งเครื่อง
ส่วนเครื่องมือและเครื่องใช้ในการทำฟันนั้นโรงเรียนได้จัดหาพร้อมกับจัดตกแต่งสถานที่ด้วยเงินรายได้จากการจัดการแข่งขันรักบี้ประเพณี
ครั้งที่ ๓ กับเดอะมาเลย์คอลเลจ (The Malay
College) จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ
ทั้งยังได้จ้างทันตานามัยมาประจำทำการรักษาคนหนึ่ง
กับในระยะแรกทันตแพทย์สี สิริสิงห
คณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยังได้เอื้อเฟื้อส่ง ทันตแพทย์ หม่อมราชวงศ์นิภัสร
ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย
มาประจำที่โรงเรียนเพื่อควบคุมและรับปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับฟันจากทันตานามัยอีกโสดหนึ่งด้วย
 |
ตึกรามจิตติ (หลังใต้)
ซึ่งจัดเป็นตึกพยาบาลในปัจจุบัน |
ตึกพยาบาลนี้ได้ใช้เป็นตึกพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วยและเป็นสถานพยาบาลโรคฟัน
กับได้จัดเป็นที่พักของคณะครูและนักเรียน The
Malay College
ที่เดินทางมาแข่งขันรักบี้ประเพณีกับวชิราวุธวิทยาลัยต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยที่
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
จึงได้ปรับเปลี่ยนจากตึกพยาบาลไปเป็นหอประวัติวชิราวุธวิทยาลัย
ส่วนตึกพยาบาลได้ย้ายไปเปิดทำการที่ตึกโสตทัศนูปกรณ์เดิมซึ่งได้ปรับปรุงเป็นตึกพยาบาลพร้อมกับการก่อสร้างตึกธุรการใหม่
ริมสนามบาสเกตบอลใกล้หอนาฬิกา
ตั้งแต่เปิดภาคเรียนวิสาขะ ปีการศึกษา ๒๕๔๓
เป็นต้นมา