มูลเหตุที่ทำให้เกิดสะพานลอยที่มีทางขึ้นลงเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนนั้น
ก็เนื่องมาจากสมัยก่อน
เวลาเช้าหลังจากรับประทานอาหารเช้าในวันจันทร์ - วันเสาร์แล้ว นักเรียนชั้นประถม ๖
- ๗ จะต้องเดินแถวจากคณะเด็กเล็กข้ามถนนไปสวดมนต์ที่หอประชุม
ส่วนนักเรียนชั้นประถม ๓ - ๕ ทั้งสามคณะคงรวมกันสวดมนต์ที่ศาลาหลังคณะเด็กเล็ก
๑
สำหรับวันอาทิตย์นักเรียนคณะเด็กเล็กทุกชั้นจึงไปร่วมประชุมสวดมนต์ทำวัตรเช้าฟังธรรมหรือโอวาทบนหอประชุมพร้อมกับนักเรียนคณะโตทั้งโรงเรียน
ในการเดินแถวไปสวดมนต์บนหอประชุมในช่วงเวลานั้น
นักเรียนคณะเด็กเล็ก ๑ - ๒ (คณะสนามจันทร์ - นันทอุทยาน) เดินออกทางประตูคณะเด็กเล็กเล็ก ๑
ข้ามถนนสุโขทัยไปเข้าประตูคณะผู้บังคับการ
ส่วนคณะเด็กเล็ก ๓ (คณะสราญรมย์)
เดินออกทางประตูคณะเด็กเล็ก ๓ เข้าประตูคณะพญาไท
และขากลับก็เดินกลับทางเดิม
 |
มุมหนึ่งของสะพานลอยข้ามถนนสุโขทัย |
เมื่อซ่อมหอประชุมครั้งใหญ่แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๙
โรงเรียนได้กำหนดให้นักเรียนคณะเด็กเล็กทั้งสามคณะข้ามมาสวดมนต์บนหอประชุมทุกวันที่อยู่โรงเรียน
ในการเดินข้ามถนนในเวลานั้นรถยนต์ยังวิ่งกันไม่เร็ว
เพราะเวลานั้นถนนสุโขทัยใยังคงเป็นถนนสองเลนที่รถยนต์วิ่งสวนกันไปมาได้เพียงฝั่งละ
๑ ช่องทาง
สองข้างถนนเป็นต้นมะขามปลูกเรียงรายตลอดแนวคลองสองฝั่งถนน
ต่อมาราว พ.ศ. ๒๕๑๓
มีการขยายถนนสุโขทัยเป็นถนนขนาด ๖
ช่องทางจราจรไม่มีเกาะกลางถนน
รถยนต์จึงวิ่งกันด้วยความเร็ว
จนวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนนักเรียนที่กำลังเดินข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ
โรงเรียนและสมาคมนักเรียนเก่าฯ
จึงได้หารือกันจัดสร้างสะพานลอยนี้ขึ้น
และเนื่องจากความเป็นมาของสะพานลอยข้ามถนนสุโขทัยนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับพี่ปิ๋ง
จึงมีนักเรียนเก่าที่เป็นศิษย์รักของพี่ปิ๋งคนหนึ่งเสนอความเห็นมาว่า
ควรจะขนานนามสะพานนี้ว่า สะพานชัยอนันต์
เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พี่ปิ๋งผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการทำให้เกิดสะพานนี้
ภายหลังงานฉลองการรวมโรงเรียนในเดือนเมษายน พ.ศ.
๒๕๑๙ แล้ว
ผู้เขียนกับพี่ปิ๋งก็ห่างเหินกันไปด้วยหน้าที่การงานที่ต่างกัน
ตราบจน พ.ศ. ๒๕๒๖
ได้มีการประชุมหารือกันระหว่างผู้แทนสมาคมนักเรียนเก่าฯ
กับที่ชุมนุมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง
ราชวิทยาลัย มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวง
จนได้ข้อยุติว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ
ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข่ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันที่
๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙
คราวนั้นโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมิได้ถูกยุบเลิกไป
หากแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เปลี่ยนนามเป็นวชิราวุธวิทยาลัย
ฉะนั้นจึงต้องถือเอาวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเปิดการเรียนการสอนที่ตึกยาวริมประตูพิมานชัยศรี
ในพระบรมมหาราชวัง
เป็นวันพระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัยที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์
ตอนที่ตกลงกันเรื่องวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนคราวนั้น
โรงเรียนเพิ่งจะมีอายุครบ ๖ รอบปีนักษัตร หรือ ๗๒
ปี เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ไปไม่นาน
เรือเอกโรจน์ ไกรฤกษ์
ซึ่งท่านเป็นทั้งนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัย
และพี่หน่อ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
ซึ่งเวลานั้นเป็นกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าฯ
จึงได้นำเสนอให้สมาคมนักเรียนเก่าฯ
เป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองอายุวชิราวุธวิทยาลัย ผ่าน ๖
รอบ ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ แทนการฉลอง ๖
รอบปีนักษัตรที่ผ่านพ้นไปแล้ว คณะกรรมการสมาคมฯ
จึงมีมติมอบหมายให้พี่หน่อ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน
เป็นผู้อำนวยการจัดงานฉลอง
 |
อนุมานวสาร วาราสารรายเดือน
ของชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
 |
คำประพันธ์ของนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
แสดงความหมายของชื่อวารสาร มานวสาร |
เนื่องจากกำหนดเวลาจัดงานกระชั้นชิดเข้ามา
แต่พี่น้องนักเรียนเก่าฯ
เกือบทั้งหมดยังไม่ทราบข่าวและความสำคัญของวันพระราชทานกำเนิด
พี่หน่อจึงได้ไปเรียนปรึกษาพี่ปิ๋งถึงการประชาสัมพันธ์และการเตรียมการจัดงาน
เมื่อพี่ปิ๋งทราบวัตถุประสงค์โดยตลอดแล้วในชั้นต้นพี่ปิ๋งได้นัดหมายพี่หน่อและผู้เขียนมาหารือกันเมื่อตอนเย็นวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๒๖
เพื่อเตรียมการออกจดหมายข่าวของสมาคมนักเรียนเก่าฯ
เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์การจัดงานในเวลาที่เหลืออีกเพียงเดือนเศษ
ในการหารือกันในวันนั้น
พี่ปิ๋งเป็นผู้เสนอว่าจดหมายข่าวนี้ควรจะมีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นข่าวสารจากสมาคมนักเรียนเก่าฯ
พี่หน่อจึงนำเสนอว่า
ในเมื่อชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเปรียบเสมือนบรรพชนของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีการออกวารสารชื่อ
มานวสาร เป็นจดหมายข่าวของชมรมฯ อยู่แล้ว
แต่หากสมาคมฯ จะฝากข่าวไปกับมานวสารอาจจะไม่ทันการ
เพราะมานวสารมีกำหนดออกเป็นรายเดือน
แต่จดหมายข่าวของสมาคมฯ
จะต้องรีบเผยแพร่ให้ทันกำหนดจัดงานในช่วงปลายเดือนธันวาคม
พี่หน่อจึงเสนอให้ใช้ชื่อจดหมายข่าวของสมาคมฯ ว่าอนุมานวสาร
เป็นการล้อนาม มานวสาร ของชมรมนักเรียนเก่าฯ
ภายหลังจากพี่ปิ๋งและพี่หน่อถกกันเรื่องชื่อต่อมาอีกพักใหญ่
ในที่สุดจึงตกลงกันให้ใช้ชื่อ อนุมานวสาร
เป็นจดหมายข่าวของสมาคมนักเรียนเก่าฯ
แล้วอนุมานวสารฉบับแรกก็ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๒๖ ในรูปสำเนาเอกสาร (โรเนียว)
โดยพี่หน่อรับหน้าที่เป็นทั้งบรรณาธิการและผู้เขียนบทความ
แล้วจึงต่อภาระนั้นให้ผู้เขียนรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการต่อมา
 |
(จากซ้าย) ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิโรจน์ นวลแข
ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน |
อนุมานวสารฉบับใบปลิวอัดสำเนา (โรเนียว)
ส่งตรงถึงสมาชิกสมาคมนักเรียนเก่าฯ
ทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสมาคมฯ
ตามรายสะดวกของผู้จัดทำต่อมาได้อีกชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็หยุดไป
จนมีนักเรียนเก่าฯ
ที่เป็นศิษย์ของพี่ปิ๋งจบการศึกษาจากโรงเรียนมาแล้ว
ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์
ซึ่งเวลานั้นเป็นกรรมการและสาราณียกรในคณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าฯ
จึงได้ชวนน้องๆ
ที่เป็นศิษย์พี่ปิ๋งซึ่งเวลานั้นกำลังศึกษากันอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
มาช่วยกันฟื้นฟูอนุมานวสารอีกครั้ง
อนุมานวสารในยุคทีมงานศิษย์พี่ปิ๋งนี้เป็นยุคที่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้อ่านมากที่สุด
มีอาทิตย์ ปราสาทกุล เป็นบรรณาธิการ แล้วส่งมอบให้
กิตติเดช ฉันทังกูล รับช่วงเป็นบรรณาธิการต่อมา
ทั้งนี้สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า พี่ปิ๋ง ดร.ชัยอนันต์
สมุทวณิช
นอกจากจะเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างอนุมานวสารมาตั้งแต่แรกถือกำเนิดใน
พ.ศ. ๒๕๒๖ แล้ว
ยังเป็นผู้มีร่วมสนับสนุนอย่างสำคัญที่ทำให้อนุมานวสารคงสถานะเป็นจดหมายข่าวของสมาคมนักเรียนเก่าฯ
ที่ประสานสัมพันธ์ของนักเรียนเก่าฯ
ต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน